สถาบันเกษตรกรทั่วไทยแห่ขอตั้งโรงงานน้ำยางข้นทำแก้มลิงสต๊อก

น้ำยางข้น - ชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดพัทลุงเตรียมของบประมาณ140 ล้านบาท ขอตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้น บนพื้นที่ 54 ไร่ ในเขตพื้นที่อุตสาหกรรม อ.ป่าบอน จ.พัทลุง

สถาบันเกษตรกรทั่วไทย แห่ขอตั้งโรงงานน้ำยางข้น รองรับสต๊อกเวลายางราคาต่ำ “จีน” ยังออร์เดอร์ยางตามปกติ ระบุ “ยางใบร่วง” ระบาดหนัก พันธุ์ “251”

นายไพรัช เจ้ยชุม ประธานเครือข่ายสถาบันชาวสวนยางจังหวัดพัทลุง เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทางเครือข่ายสถาบันได้ยื่นหนังสือถึง นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563 เพื่อให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณ ในการลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้น และซื้อเครื่องจักรผลิตน้ำยางข้น 5 หัวปั่น ประมาณ 140 ล้านบาท เพื่อสต๊อกน้ำยางสดแปรรูปเป็นน้ำยางข้น เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำยางสดราคาตกต่ำ โดยจะทำเป็นแก้มลิงเก็บสต๊อกแปรรูปเป็นน้ำยางข้น ซึ่งสามารถกักเก็บไว้ได้นาน โดยใช้เนื้อที่ของชุมนุมสหกรณ์กองทุนสวนยางจังหวัดพัทลุง จำกัด เนื้อที่ประมาณ 54 ไร่ ในเขตพื้นที่อุตสาหกรรม อ.ป่าบอน จ.พัทลุง

“กลุ่มสถาบันเกษตรกรชาวสวนยางภาคใต้ตอนกลาง ประกอบด้วย จ.พัทลุง นครศรีธรรมราช ตรัง กระบี่ พังงา และ จ.ภูเก็ต จะดำเนินการลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้น โดยให้ จ.พัทลุงนำร่องก่อน เพราะมีความพร้อมทั้งหมด ทั้งที่ดินที่ตั้งโรงงานจำนวน 54 ไร่ ใบอนุญาตตั้งโรงงาน และอื่น ๆ อีกจำนวน 13 รายการ พร้อมแล้ว”

นายไพรัชกล่าวต่อไปว่า ปัจจุบัน จ.พัทลุงได้ส่งออกน้ำยางสดไปยังโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้น จ.สงขลา ประมาณไม่ต่ำกว่า 100,000 กก./วัน หรือประมาณ 100 ตัน และสำหรับทางภาคใต้ สถาบันเกษตรกรชาวสวนยางยังไม่มีโรงงานแปรรูปน้ำยางข้น เพราะเงินลงทุนค่อนข้างสูงมาก ยกเว้นที่ อ.ควนขนุน จ.พัทลุง เพียง 1 แห่ง โดยแปรรูปเป็นน้ำยางข้นเพื่อแปรรูปยางเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น หมอนยางพารา ฯลฯ

“ก่อนหน้านั้น กลุ่มเกษตรกรดำเนินการยื่นของบประมาณมาหลายครั้งแล้ว เพื่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้นของสถาบันเกษตรกร แต่เรื่องไม่ผ่านความเห็นชอบ และบางครั้งได้รับความเห็นชอบ แต่ให้สถาบันเกษตรกรออกเงินทุนสมทบ 40 เปอร์เซ็นต์ แต่ไม่มีเงินทุน จึงไม่ผ่านเช่นกัน”

นายไพรัชกล่าวอีกว่า โรงงานอุตสาหกรรมน้ำยางข้นจะเป็นแก้มลิงเก็บสต๊อกยางไว้เมื่อยางราคาตกต่ำ และเมื่อราคาดีก็จะขายเป็นน้ำยางสด สำหรับน้ำยางข้นก็สามารถออกขายให้กับกลุ่มผู้ประกอบการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์จากยางพาราได้อีกด้วย จะเห็นได้ว่าธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้นมีแต่เติบโตขยายตัว และจะเป็นทางออกที่ดีสำหรับเกษตรกรชาวสวนยางพารา

แหล่งข่าวจากสถาบันเกษตรกรยางพาราเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้รัฐบาลมีนโยบายชัดเจนในการลงทุนสร้างโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางสดเป็นน้ำยางข้นที่เชียงราย ซึ่งเป็นตลาดกลางยางพารา ซึ่งเป็นจังหวัดชายแดนเชื่อมสู่ประเทศจีน และ สปป.ลาว รวมถึงกำลังดำเนินการออกแบบฟอร์มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สามารถนำยางพารามาทำถนนพาราซอยล์ซีเมนต์ทั่วประเทศ โดยมีองค์การบริหารส่วนจังหวัด อบจ.เชียงใหม่ เป็นต้นแบบ ซึ่งปัจจุบันสามารถทำถนนพาราซอยส์ซีเมนต์ไปประมาณ 30 สายแล้ว

“สำหรับตลาดซื้อขายยางพารา ประเทศจีน ยังมีออร์เดอร์มา เพราะตลาดจีนยังต้องการปริมาณมาก วันก่อนทำสัญญา 500 ตัน ยางเอสทีอาร์ที่คงค้างสต๊อกภายในของกลุ่ม ประมาณ 1,500 ตัน ทาง จ.ภาคเหนือ”

นายสนั่น ภิวัฒนกุล ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9 บ้านหนองปด ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุง กล่าวถึงกรณีที่ได้เกิดโรคใบยางพาราร่วงระบาดในหลายจังหวัดภาคใต้ และขณะนี้มาถึงที่หมู่ 9 บ้านหนองปด ต.แม่ขรี อ.ตะโหมด จ.พัทลุงแล้ว จากการตรวจพบเมื่อวันที่ 20 ก.พ. 63 สงสัยว่าเป็นโรคใบร่วง จำนวน 87 ราย เนื้อที่สวนยางพาราประมาณกว่า 3,000 ไร่ และอยู่ระหว่างการตรวจสอบ ทั้งนี้ ทางเกษตร จ.พัทลุง รายงานทิศทางยางพาราโรคใบร่วง จะทำให้ปริมาณน้ำยางสดหดหายไปประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ และยังมีแนวโน้มว่าทำให้ยอดยางพาราขดคู้แกร็น และไม่ทราบว่าจะถึงขนาดยืนต้นตายได้หรือไม่

นายสนั่นกล่าวอีกว่า โรคใบร่วงจะเกิดขึ้นกับยางพาราที่มีอายุตั้งแต่ 1 ปี และ 10 ปี และเกิดกับยางพาราพันธุ์ 251 เป็นส่วนใหญ่ ส่วนพันธุ์ BRM จะเกิดเป็นส่วนน้อยมาก โดยขณะนี้ชาวสวนยางพาราต่างวิตกกังวลกันมาก เพราะชาวสวนยางพารามีรายได้ปริมาณน้อยอยู่แล้ว และเมื่อเกิดโรคใบร่วง น้ำยางจะหดหายไปก็จะส่งผลกระทบต่อรายได้