สวนกาแฟใต้ช้ำผลผลิตวูบกว่า 60% จุกอกยักษ์ใหญ่ขอนำเข้ากาแฟนอกเร็วขึ้น 1 เดือน

ดอกบานร่วง - ชาวสวนกาแฟภาคใต้ได้รับความเสียหายอย่างหนักจากพายุ ทำให้ดอกกาแฟที่บานเน่าและร่วงเสียหายจำนวนมาก

ชาวสวนกาแฟใต้ร้องผลผลิตปี 2563 เสียหายกว่า 60% เหตุเจอพายุฝนทำดอกบานร่วงหนัก โดยเฉพาะ “ชุมพร” แหล่งผลิตใหญ่พันธุ์โรบัสต้าเจอหนักสุด แต่ราคากลับไม่ดีดขึ้น เหตุบริษัทยักษ์แปรรูปรายใหญ่เร่งขอนำเข้าเมล็ดกาแฟล่วงหน้า 1 เดือน จากปี 2562 นำเข้าเดือนพฤษภาคม มาปี 2563 คณะกรรมการพืชกาแฟอนุญาตลอตแรกนำเข้าเมษายน 2562 แล้วจำนวน 30,000 ตัน ทั้งที่เกษตรกรทั่วประเทศจะเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟเสร็จปลายเมษายน และสต๊อกของเกษตรกรยังขายไม่หมด หวั่นอาจส่งผลกระทบต่อราคาร่วงลงอีก เผยตัวเลขความต้องการภาพรวมปีนี้พุ่งถึง 9 หมื่นตัน เหตุยักษ์ใหญ่ตลาดกาแฟ 38,000 ล้านบาทแข่งเดือด ขยายสาขากันมโหฬาร

นายนัด ดวงใส เจ้าของไร่กาแฟ รองประธานชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย (ชสท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปี 2563 คาดว่าความต้องการเมล็ดกาแฟจะเติบโตขึ้นถึง 90,000 ตัน ขณะที่ผลผลิตภายในประเทศไทยเหลือไม่ถึง 30,000 ตัน โดยเฉพาะผลผลิตกาแฟโรบัสต้าในพื้นที่ภาคใต้ มีรายงานข้อมูลจากสมาชิกสหกรณ์กาแฟทางภาคใต้ระบุว่า หดหายไปประมาณกว่า 50-60% จากผลผลิตแต่ละปีได้ประมาณ 13,000-14,000 ตัน ปีนี้คาดว่าจะเหลือกาแฟสาร ประมาณ 5,000-7,000 ตัน โดยเฉพาะแหล่งผลิตใหญ่สุดใน จ.ชุมพร เนื่องจากในช่วงที่กาแฟออกดอกบานได้ถูกฝนตกลงมา ทำให้ดอกบานเน่าเสียร่วง หากเทียบปี 2562 ผลผลิตภายในประเทศยังคงที่ประมาณ 30,000 ตัน และนำเข้าประมาณ 60,000 ตัน ภาพรวมการบริโภคประมาณ 90,000 ตัน แต่ปีนี้ผลผลิตภายในประเทศภาพรวมลดลง

ขณะที่ทิศทางราคากาแฟระหว่างเก็บเกี่ยวเคลื่อนไหวอยู่ที่ 66-67 บาท/กก. ต่ำกว่าราคาช่วงเดียวกันของปีก่อนประมาณ 1 บาท/กก. โดยปี 2562 ช่วงเก็บเกี่ยวราคาอยู่ที่ 67-68 บาท/กก. โดยกาแฟโรบัสต้าในภาคใต้จะเก็บเกี่ยวหมดเดือนมีนาคม 2563 และส่วนกาแฟพันธุ์อราบิก้าในพื้นที่ภาคเหนือ คาดว่าปลายเดือนเมษายน 2563 น่าจะเก็บเกี่ยวหมด

“ปีนี้เจ้าของสวนกาแฟบางรายสามารถผลิตกาแฟสารได้ประมาณ5 ตัน/ปี แต่มาปีนี้ผลิตได้ประมาณ 1.5 ตัน เป็นปีที่คาดไม่ถึงว่าผลผลิตกาแฟจะหายไปมาก ส่วนภาพรวมการขยายตัวเติบโตของธุรกิจกาแฟใกล้เคียงกับปี 2562 โดยปัจจัยที่ส่งผลให้กาแฟขยายตัวเติบโต เนื่องจากร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นมีโครงการขายกาแฟมวลชน และบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) มีโครงการขยายสาขาไปตามปั๊มน้ำมันทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง” นายนัดกล่าว

นายนัดกล่าวต่อไปว่า ส่วนการขยายตัวปลูกกาแฟปีนี้มีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยมีพื้นที่กระจัดกระจัดกระจายไปหลายจังหวัด เช่น จ.สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และ จ.ระนอง เป็นการเปลี่ยนจากการปลูกยางพารา และปาล์มน้ำมันเพียงอย่างเดียว มาปลูกกาแฟเสริมรายได้เข้ามา เช่น เนื้อที่ 10 ไร่ แบ่งเป็น ปลูกยางพารา 8 ไร่ ปลูกกาแฟ 2 ไร่ เป็นต้น แต่หลายจังหวัดเพิ่งเริ่มปลูก ต้นกาแฟยังไม่ให้ผลผลิต

รายงานข่าวจากคณะกรรมการพืชกาแฟ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้คณะกรรมการพืชกาแฟได้มีการอนุญาตให้บริษัทแปรรูปกาแฟรายใหญ่นำเข้าเมล็ดกาแฟจากต่างประเทศลอตแรกในเดือนเมษายน 2563 แล้ว ประมาณ 30,000 ตัน จากที่ปี 2562 ได้กำหนดนโยบายให้มีการนำเข้ากาแฟในเดือนพฤษภาคม-พฤศจิกายน แทนจากการนำเข้าในเดือนเมษายน เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบกับผู้ปลูกกาแฟ และให้ผลผลิตภายในประเทศเก็บเกี่ยวและจำหน่ายแล้วเสร็จก่อน โดยมีการสอบถามไปยังจังหวัดที่ปลูก หากยังบริหารจัดการไม่หมดจะระงับการนำเข้า และที่ประชุมใหญ่ปี 2562 มีมติรับหลักการดังกล่าวแล้ว แต่ปี 2563 ปรากฏว่ายังมีการขออนุญาตนำเข้ามาในเดือนเมษายน ทั้งนี้ บริษัทกาแฟรายใหญ่ที่ขอนำเข้าเป็นประจำทุก ๆ ปีมีประมาณ 8-10 บริษัท เช่น บริษัทเนสท์เล่, บริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ ผู้ผลิตกาแฟเบอร์ดี้, บริษัท ยาคอบส์ ผู้ผลิตกาแฟมอคโคน่า, บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด ฯลฯ

ขณะที่ผลผลิตกาแฟของเกษตรกรไทยจะเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นปลายเดือนเมษายน 2563 และอีกทั้งกาแฟยังไม่หมดในสต๊อกของเกษตรกร อาจจะส่งผลกระทบต่อราคาทันที เพราะผู้ซื้อจะสามารถกำหนดราคาซื้อจำนวนเท่าใดก็ได้ โดยรัฐบาลมีนโยบายประกันราคาอยู่ที่ 60 บาท/กก.

แหล่งข่าวจากวงการผู้ปลูกกาแฟเปิดเผยว่า นอกจากการนำเข้ากาแฟอย่างถูกกฎหมายผ่านการอนุญาตของคณะกรรมการพืชกาแฟ กรมวิชาการเกษตรแล้ว ที่ผ่านมาหลายปีถึงปัจจุบันยังมีการลักลอบนำเข้าเมล็ดกาแฟสารต้นทุนต่ำขนส่งทางรถจากประเทศเพื่อนบ้าน สปป.ลาว เข้ามาในประเทศไทยปีละประมาณ 20,000 ตัน/ปี ในราคาประมาณ 50 บาท/กก. ซึ่งถือเป็นราคาที่ต่ำกว่ากาแฟไทยประมาณ 10 บาท/กก. เนื่องจากต้นทุนการปลูกใน สปป.ลาวต่ำกว่าไทย

อนึ่ง สำหรับภาพรวมตลาดกาแฟไทยมูลค่าประมาณ 38,000 ล้านบาท ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีการแข่งขันกันดุเดือดมาก บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด แบรนด์กาแฟรายใหญ่ของตลาด ทั้งร้านเนสกาแฟฮับ, คาเฟ่ในไฮเปอร์มาร์เก็ต จำหน่ายกาแฟในราคาเริ่มต้นแก้วละ 10 บาท พร้อมชูเนสกาแฟ “ดอลเช่ กุสโต้” เครื่องชงกาแฟอัตโนมัติและแคปซูลกาแฟ ถือว่าเป็นการพลิกโฉมเกมการทำตลาดกาแฟให้ตอบโจทย์ผู้บริโภคตลาดแมสเพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

ขณะนี้ “ซีพี ออลล์” ค้าปลีกรายใหญ่ในเครือ C.P. ที่มีแบรนด์กาแฟในเครือครอบคลุมทุกตลาด ตั้งแต่ราคาระดับแมสไปจนถึงตลาดระดับกลางบน ทั้งที่ไปกับร้านสะดวกซื้อ 7-11 และการเข้าไปเปิดสแตนด์อะโลนในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ อาทิ ออลล์ คาเฟ่, ออลล์ คาเฟ่ โกลด์, มวลชน, เบลลินี่, อาราบิเทีย และจังเกิ้ลคาเฟ่ รวมถึงการเปิดแฟรนไชส์ พร้อมเตรียมจะเปิดตลาดกาแฟรถเข็นทั่วประเทศ

ขณะที่บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) เจ้าของร้านกาแฟภายใต้แบรนด์ “คาเฟ่ อเมซอน” ปี 2563 เดินหน้าขยายสาขาเพิ่มอีก 400-450 สาขา ทั้งภายในประะเทศและต่างประเทศ รวมถึงเน้นขายแฟรนไชส์ทำเลนอกปั๊มน้ำมัน ปตท.ให้มากขึ้น ส่วนต่างประเทศประกาศจุดขายความเป็นกาแฟพันธุ์ไทย คาดว่าจะมีสาขารวมทั้งหมดประมาณ 3,200 สาขา