น้ำยางสดออร์เดอร์ทะลัก โรงงานเร่งผลิตถุงมือแพทย์

ยางสด - การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้โรงงานผลิตถุงมือแพทย์มีความต้องการน้ำยางสด เพื่อไปผลิตถุงมือปริมาณมาก แต่ปัจจุบันผลผลิตไม่เพียงพอ

ชาวสวนยางพาราเฮ ความต้องการน้ำยางสดพุ่ง เหตุโรงงานทำถุงมือแพทย์กว้านซื้อวัตถุดิบไปเร่งผลิต หลังสถานการณ์โควิด-19 ทั่วโลกยอดติดเชื้อ ยอดตายพุ่ง แต่ปริมาณวัตถุดิบน้อยไม่เพียงพอต่อกำลังการผลิต เหตุปิดหน้ากรีด ภัยแล้ง แถมเจอโรคใบร่วง ทำปริมาณน้ำยางสดหายไปกว่า 50% ด้านกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์มีออร์เดอร์เข้ามาเป็นจำนวนมาก มีคิวยาวตลอดไปจนถึงเดือนกันยายน 2563

นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ สถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราส่งออกรายใหญ่ภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาวะตลาดยางพาราขณะนี้โดยเฉพาะน้ำยางสด ตลาดโลกมีความต้องการสูงมาก เพราะจะนำไปแปรรูปเป็นถุงมือยาง ถุงมือทางการแพทย์ ไม่ต่างกับความต้องการหน้ากากอนามัย ในสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 โดยมีการสั่งจองยางจากตลาดปริมาณมาก ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์มีออร์เดอร์เข้ามาไปจนถึงเดือนกันยายน 2563 และมีการวางมัดจำล่วงหน้ากับสวนยางพารา ก่อนจะเข้าสู่ฤดูกาลเปิดหน้ากรีดอีกครั้งประมาณเดือนพฤษภาคม แต่จะต้องดูว่าฝนจะตกมาบ้างหรือไม่

“ตอนนี้ความต้องการน้ำยางสดเพื่อนำไปแปรรูปเป็นน้ำยางข้นมีมาก ขนาดโรงงานอุตสาหกรรมที่แปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง เคยหยุดกิจการก็กลับมาสามารถฟื้นฟูได้อีก ในขณะนี้ แต่ตอนนี้ยางพาราอยู่ในฤดูกาลผลัดใบ ปิดหน้ากรีดไปทั่วประเทศแล้ว แต่ก็ยังพอมีชาวสวนยางพาราที่กรีดอยู่บ้าง แม้หลายพื้นที่ประสบภัยแล้ง ทำให้ปริมาณน้ำยางสดที่ได้น้อยมาก เช่น จากปกติกรีดน้ำยางสดประมาณ 100 กิโลกรัม ตอนนี้กลับเหลือประมาณ 30 กิโลกรัมต่อวัน ทั้งนี้ ในส่วนของโรงงานอุตสาหกรรมเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ ที่เคยรับซื้อน้ำยางสดวันละประมาณ 20,000-30,000 กิโลกรัม ตอนนี้มีปริมาณน้ำยางสดที่ได้ประมาณ 2,000-3,000 กิโลกรัม” นายกัมปนาทกล่าว

นายกัมปนาทกล่าวต่อไปว่า ขณะนี้โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้นมีความต้องการยางสูงมาก ส่งผลให้ราคาน้ำยางข้นขยับขึ้นถึงกว่า 1,200 เหรียญสหรัฐ/ตัน ซึ่งเป็นราคาที่ดีอยู่

นายไพรัช เจ้ยชุม ประธานเครือข่ายสถาบันชาวสวนยางจังหวัดพัทลุง และประชาสัมพันธ์ กรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ปริมาณยางพาราในประเทศไทยหดตัวลงมากไม่ต่ำกว่า 40% เนื่องจากทางภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ ส่วนใหญ่ปิดหน้ากรีดแล้ว ยังเหลือ จ.พัทลุงที่ยังเปิดหน้ากรีดอยู่ นอกจากนี้เกิดโรคใบร่วงได้รับความเสียหาย ตัวเลขเสียหายไปประมาณ 800,000-900,000 ไร่ ตรงนี้น้ำยางต้องหดหายไปประมาณ 50%

นายประยูรสิทธิ์ คณานุรักษ์ ประชาสัมพันธ์ กรรมการเครือข่ายสถาบันเกษตรกรการยางแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สถานการณ์ยางพาราได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ไม่มากนัก และทิศทางอนาคตตลาดน้ำยางสดค่อนข้างมีแนวโน้มที่ดีขึ้น หากมองภาพแล้วน้ำยางสดกับยางแท่ง จะมีอนาคตมากกว่ายางรมควัน เพราะสามารถนำไปแปรรูปผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายได้ และอีกประการสำคัญทางบริษัท มิชลิน ผู้แปรรูปผลิตภัณฑ์ล้อยาง มีนวัตกรรมใหม่ สามารถนำน้ำยางสดไปผลิตเป็นล้อยางได้อีกด้วย ทั้งนี้สำหรับราคายางพาราจะมีทิศทางที่ดีในไตรมาส 3 และ 4 ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้น เพราะยางมีการปิดหน้ากรีด และเกิดปัญหาโรคใบร่วงระบาด ประกอบกับภาวะความแห้งแล้งส่งผลให้ปริมาณน้ำยางสดปริมาณหายไปจากตลาด

“สถานการณ์ยางพาราได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โรคโควิด-19 ไม่มากนัก เพราะตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะที่ประเทศจีนประกาศหยุดโรงงานอุตสาหกรรมเพียงชั่วคราวจึงต้องชะลอการส่งออกไปก่อน”

รายงานข่าวจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้เปิดเผยว่า โครงการสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน 4 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา นราธิวาส และสงขลา โดย ศอ.บต.ได้รับคำสั่งให้เป็นเจ้าภาพดำเนินการอีก 1 โครงการ คือ โครงการเมืองยางพารา หรือรับเบอร์ซิตี้ โดยบริษัท มิชลิน จำกัด ผู้ลงทุนรายใหญ่ในการรับซื้อยางพารา โดยต้องการซื้อน้ำยางสด 1 แสนตัน ในปี 2563 แต่ขอให้นิคมอุตสาหกรรมภาคใต้ (กนอ.) ต.ฉลุง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา สนับสนุนการก่อสร้างระบบบำบัดน้ำเสีย