หวั่นฤดูกรีด พ.ค.น้ำยางล้น โรงงานจีนไม่เปิด

ขาดสภาพคล่อง - ขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศจีนดีขึ้น แต่โรงงานแปรรูปยางหลายแห่งยังไม่เปิดดำเนินการ ส่งผลให้หลายบริษัท และลานรับซื้อน้ำยางต้องหยุดกิจการขั่วคราว เพราะสต๊อกล้น ขาดสภาพคล่อง

“ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา” ยักษ์ใหญ่น้ำยางสดเบอร์ 1 ของไทย หยุดรับซื้อน้ำยางสดชั่วคราว 5-26 เมษายน หลังโรงงานแปรรูปยางในจีนยังไม่เปิด ทำสต๊อกล้น ส่งผลกระทบสภาพคล่องทางการเงิน สวนทางตลาดมาเลเซียความต้องการพุ่ง นำไปแปรรูปเป็น “ถุงมือยาง”

นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ กลุ่มแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางส่งออกรายใหญ่ในพื้นที่ภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ยางพาราขณะนี้หลังจากที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย์ ประเทศจีน ได้ทำการเปิดเมืองเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2563 ทำให้ตลาดโลกซื้อขายยางพาราล่วงหน้าได้ขยับขึ้นเป็น 3.330-3,340 เหรียญต่อตัน โดยราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 38 -39-40 บาท/กก. และราคาที่ประเทศจีนขยับขึ้นไปประมาณ 200-300 หยวน/ตัน แต่ตลาดซื้อขายจริงส่งออกจริงยังไม่ปรากฏ เพราะยังไม่มีการเปิดประเทศ ส่งผลให้มีโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้นรายใหญ่ภายในประเทศไทย และลานรับซื้อน้ำยางสดในหลายพื้นที่ชะลอการรับซื้อน้ำยางสดชั่วคราว

เพราะโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้นบางแห่งส่งออกไปประเทศจีน 80-90% ในขณะที่โรงงานแปรรูปยางในประเทศจีนยังปิดอยู่ จึงเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก ส่งผลทำให้น้ำยางข้นคงค้างในสต๊อกปริมาณมาก บางแห่งไม่ต่ำกว่า 10,000 ตัน อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในตลาดยางที่เกิดขึ้นจึงน่าวิตกว่าช่วงต้นเดือนพฤษภาคม 2563 จะมีการเปิดหน้ากรีดยางพาราทั่วประเทศ หากจีนยังมีการปิดประเทศกันอยู่จะซื้อขายยางพารากันอย่างไร

“ตอนนี้หลายโรงงานมีออร์เดอร์เข้ามา แต่ส่งออกไม่ได้ ที่ส่งออกไปแล้วก็ได้รับเงินล่าช้าและไม่ได้รับเงิน ส่งผลต่อเงินทุนหมุนเวียนล่าช้า อีกทั้งโรงงานอุตสาหกรรมต้องใช้แรงงานมาก จึงเป็นอุปสรรคต่อการป้องกันโรคไวรัสโควิด-19”

นายกัมปนาทกล่าวอีกว่า ขณะที่ประเทศมาเลเซีย ในฐานะผู้ผลิตถุงมือยางอันดับ 1 ของตลาดโลก มีความต้องการน้ำยางสดสูง เพื่อนำไปแปรรูปเป็นถุงมือยาง ตอนนี้มีหลายบริษัทจากภาคใต้ตอนล่างส่งน้ำยางสดผ่านทางด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส , ด่านศุลกากรเบตง อ.เบตง จ.ยะลา, ด่านสะเดา และด่านปาดังเบซาร์ อ.สะเดา จ.สงขลา เข้าไปในประเทศมาเลเซีย

แหล่งข่าวจากวงการยาง เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางบริษัท ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา (1982) จำกัด ได้ประกาศเป็นทางการหยุดรับซื้อน้ำยางสดชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน จนถึง 26 เมษายน 2563 สาเหตุจากปัจจัยทางด้านการตลาด ทางสต๊อกล้นเพราะไม่สามารถส่งออกไปประเทศจีนได้ ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องทางการเงินที่จะจ่ายให้เกษตรกรชาวสวนยางพารา และกลุ่มการค้ารับซื้อน้ำยางสดในเครือข่าย

“ตอนนี้นอกจากบริษัท ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา ปิดรับซื้อยางชั่วคราวแล้ว จะต้องดูสถานการณ์วันต่อวัน และในขณะเดียวกัน ทางการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) กำลังดำเนินการแก้ไขปัญหาเรื่องยางอยู่ โดยเฉพาะการส่งออกน้ำยางสดไปยังประเทศมาเลเซีย ซึ่งต้องดูว่า ทางประเทศมาเลเซีย มีการตอบรับประการใด” แหล่งข่าวกล่าว

นายสมพงศ์ ราชสุวรรณ ประธานกลุ่มน้ำยางสดบ้านพรุเตียว อ.นาทวี จ.สงขลา เปิดเผยว่า สำหรับสถานการณ์ยางพารา ที่บริษัท ถาวรอุตสาหกรรมยางพารา (1982) จำกัด ปิดรับซื้อน้ำยางสดลงชั่วคราว โดยภาพรวมจะไม่ส่งผลกระทบมากนัก ต่อชาวสวนยางพารา เพราะยังมีอีกหลายบริษัท เช่น เซ้าท์แลนด์รับเบอร์ จำกัด เป็นต้น ยังรับซื้ออยู่ และประจวบกับทางภาคใต้ฝั่งตะวันออกเข้าสู่ฤดูยางพาราผลัดใบ และบางส่วนกำลังแตกใบอ่อน ได้หยุดกรีดยางพารากันเป็นจำนวนมาก

ขณะเดียวกัน ภาคใต้ฝั่งอันดามันเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลเปิดหน้ากรีดยางพารากันแล้ว เช่น จ.สตูล ตรัง ฯลฯ ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออก ตั้งแต่ จ.สงขลา จ.พัทลุง ฯลฯ จะเปิดหน้ากรีดยางพารา ประมาณเดือนพฤษภาคม 2563 แต่ทั้งนี้ต้องพึ่งพาฝนตกอีกด้วย เพราะต้องการให้ยางพารามีความชุ่มชื้นได้ปริมาณน้ำ ซึ่งปัจจุบันแห้งแกร็ง

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ขณะนี้ทั่วโลกมีความต้องการใช้ถุงมือยาง โดยเฉพาะถุงมือยางทางการแพทย์ ถือเป็นโอกาสดีชาวสวนยาง ขณะเดียวกันประเทศไทยจะต้องพลิกวิกฤตเป็นโอกาส โดยรัฐบาลควรส่งเสริมผู้ประกอบการรายเล็กที่ยังขาดเทคโนโยโลยีในการก่อตั้งโรงงานอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยางเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาล เพราะโรคโควิด-19 ยังไม่จบในเวลานี้

“ตอนนี้ยางแท่ง ยางรมควันไม่มีความหวัง เพราะโรงงานอุตสาหกรรมผลิตล้อยางหยุดหมด แถมยังกระชากราคายางด้วย แต่จะเป็นโอกาสต่อชาวสวนยางพารา เพราะตลาดมีความต้องการน้ำยางสดขึ้นมา ขณะเดียวกันในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า จะเกิดวิกฤตอาหารไปทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐ และยุโรป ไทยจะต้องแปรวิกฤตให้เป็นโอกาส รัฐบาลควรส่งเสริมชาวสวนให้ปลูกพืชที่เป็นอาหาร ทำประมง ปศุสัตว์ในพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น แซมในสวนยางพารา สวนผลไม้ ที่ว่าง ฯลฯ โดยกรมวิชาการเกษตรจะเป็นผู้ออกแบบร่วมกับประชาชนตามความเหมาะสมของพื้นที่แต่ละแห่ง จะทำให้คนว่างงานที่กลับไปบ้านจากวิกฤตไวรัสโควิด-19 มีงานทำ โดยใช้ศาสตร์พระราชา ร.9 นำหน้า”