ERP ฮึดสู้ ! ปรับไลน์ผลิต Mask Strap หลัง “ชิ้นส่วนยานยนต์-เครื่องใช้ไฟฟ้า” วูบ

ERP ฮึดสู้ ! ปรับไลน์ผลิต Mask Strap ซื้อ 1 แถม 1 ช่วยหมอ-พยาบาล หลัง “ชิ้นส่วนยานยนต์-เครื่องใช้ไฟฟ้า” วูบ

กว่า 3 เดือนในการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบไปยังภาคธุรกิจอุตสาหกรรมทุกแขนง โดยเฉพาะการหยุดประกอบกิจการชั่วคราวของโรงงานประกอบรถยนต์ยักษ์ใหญ่หลายยี่ห้อ ได้ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนต่าง ๆ รับผลกระทบเป็นลูกโซ่

หนึ่งในนั้น คือ “บริษัท เอ็กซ์เท็นซีฟว์ รีเสิร์ช โพลีเมอร์ส จำกัด” จังหวัดชลบุรี หรือ ERP โรงงานผลิตภัณฑ์แปรรูปชิ้นส่วนยางสำหรับเครื่องใช้ไฟฟ้าและเครื่องใช้ภายในบ้าน ชิ้นส่วนยานยนต์ และมอเตอร์ไซค์ รวมถึงผลิตภัณฑ์คอมพาวนด์ป้อนให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ยี่ห้อดัง ๆ เช่น มิตซูบิชิ, LG, พานาโซนิค, ฮิตาชิ, ฮาตาริ ฯลฯ ส่วนในกลุ่มยานยนต์ เช่น ฮิตาชิ เคมีคัลฯ, คาวาซากิ มอเตอร์ฯ, ไทยซัมมิท, ไทยซูซูกิ มอเตอร์, คูโบต้า ฯลฯ ไม่พ้นวิกฤตในครั้งนี้ด้วย หลังก่อตั้งมานานกว่า 28 ปี

โดย “วีระชัย ตรีพรเจริญ” กรรมการผู้อํานวยการฝ่ายปฏิบัติการ ERP ทายาทรุ่นที่ 2 บอกว่า ตอนนี้ทุกธุรกิจออร์เดอร์ลดลง บริษัท ERP ต้องปิดไลน์การผลิตชิ้นส่วนป้อนบริษัทรถยนต์ เพราะงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ลูกค้าไม่มีออร์เดอร์ รวมถึงการผลิตชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าหายไป 50% เพราะว่าเศรษฐกิจโลกไม่เดิน ลูกค้าในฝั่งยุโรป และอเมริกามีปัญหาเรื่องโควิด-19 ส่งผลให้ไม่มีออร์เดอร์เข้ามากระทบกันเป็นโดมิโนตอนนี้ ทำให้บริษัทต้องพยายามปรับตัวมองหาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ โดยเริ่มจากการผลิตสายรัดหน้ากาก (mask strap) เพื่อช่วยบุคลากรทางการแพทย์เวลาใส่หน้ากากอนามัยเป็นเวลานานจะได้ไม่เจ็บหู

โดยวัตถุดิบที่ใช้เป็นยางซิลิโคนชนิด medical grade ซึ่งเป็นซิลิโคนที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร มีความปลอดภัย เมื่อใช้เสร็จสามารถนำไปล้างสบู่หรือเช็ดแอลกอฮอล์ได้ ในเฟสแรกตั้งเป้าผลิตประมาณ 3,000 ชิ้น มี 3 สี ได้แก่ สีขาวออกทรานส์แพเรนซ์, สีน้ำเงิน และสีชมพูม่วง หลังจากนั้น เฟสแรกได้รับกระแสตอบรับดี ขั้นต่อไปจะต่อยอดมีรุ่นลิมิเต็ด เปลี่ยนสี เปลี่ยนแบบ มีลวดลายจากปัจจุบันที่เรียบ ๆ

“โปรดักต์ใหม่อันนี้เป็นไอเดียของครอบครัวว่า เผอิญไปเห็นนายแพทย์และพยาบาลพับกระดาษเพื่อคล้องสายรัด เราทำผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งเป็นงานถนัดอยู่แล้ว เลยลองนำยางมาทำ จึงออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ mask strap เราได้สอบถามไปยังโรงพยาบาลหลายแห่งก็สนใจ เขาก็บอกอยากได้ บอกหูจะขาดแล้ว โดยเฉพาะหมอห้องผ่าตัด ถือว่ามีเสียงตอบรับค่อนข้างดี ช่วงนี้ต้องช่วย ๆ กัน เพราะหมอพยาบาลทำงานหนักกว่าเราเยอะ เราใส่หน้ากากนาน ๆ ยังรู้สึกเจ็บ หมอและพยาบาลต้องใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาน่าจะเจ็บกว่าเราเยอะ จึงเป็นที่มาของโปรเจ็กต์นี้”

สำหรับราคาจำหน่ายผลิตภัณฑ์ขายปลีกชิ้นละ 20 บาท แต่หากซื้อ 100 ชิ้นขึ้นไป ราคาขายส่งอยู่ที่ 15 บาท ทั้งนี้ ในโอกาสเปิดผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ทางบริษัทมีแคมเปญลักษณะ CSR charity หากใครซื้อไปบริจาคให้กับโรงพยาบาลต่าง ๆ ซื้อ 1 ชิ้นทางบริษัทจะสมทบฟรีให้อีก 1 ชิ้นให้กับโรงพยาบาล

“บางคนซื้อ 100 ชิ้น เราสมทบอีก 100 ชิ้นเราเพิ่งเริ่มทำมาได้ประมาณ 3 สัปดาห์นี้เอง เพิ่งไปมอบผ่าน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และกำลังจะเริ่มส่งไปยังโรงพยาบาลมหิดล โรงพยาบาลศิริราช และอีกหลายโรงพยาบาล และมีลูกค้าบางรายต้องการนำไปบริจาคที่โรงพยาบาลในต่างจังหวัด”

วีระชัยบอกต่อไปว่า การปรับตัวของบริษัททำอย่างค่อยเป็นค่อยไป คงยังไม่ถึงขั้นเปลี่ยนไลน์การผลิตไปทำชิ้นส่วนอุปกรณ์ทางการแพทย์ เพราะต้องมีห้องผลิตเป็นคลีนรูม ซึ่งมีหลายระดับ ERP ขอเริ่มจากการทำอุปกรณ์สนับสนุนมากกว่า ส่วนพนักงานภายในกลุ่มบริษัทมีทั้งหมดประมาณ 250 คน ยังทำงานปกติ เพราะยังพอมีออร์เดอร์เครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ ตอนนี้พยายามเอาฟอร์แคทล่วงหน้าลูกค้ามาผลิตเพื่อให้พนักงานมีงานทำ คือ พยายามยื้อให้นานที่สุด เพื่อจะเลี้ยงพนักงาน ให้กระทบเรื่องของค่าจ้างให้น้อยที่สุด ตอนนี้คงนโยบายแค่เรื่องไม่มีค่าล่วงเวลา (OT) ถ้ามีคนออกก็ไม่รับคนเพิ่ม

“เราไม่อยากให้พนักงานเดือดร้อน เพราะเราก็รู้ว่ารายได้เขาไม่ได้เยอะมาก เราต้องพยายามถึงที่สุดทุกทางแล้ว ไม่มีหนทางผลิตแล้วจริง ๆถึงจะค่อย ๆ ทำสเต็ปบายสเต็ปไป ตอนนี้เราพยายามมองหาลู่ทางและโอกาสในการผลิตสินค้าตัวใหม่ เป็นช่องทางหารายได้ให้พนักงานมีงานทำ แม้ผลประกอบการปลายปีคงจะไม่พ้นขาดทุน แต่เพื่อประคับประคองธุรกิจกันต่อไป” วีระชัยกล่าวทิ้งท้าย