ดัชนีความเชื่อมั่นภาคใต้ดิ่ง-จี้รัฐแก้ค่าครองชีพ

ผลพ่วงจากพิษโควิด-19 ส่งผลผ่านตัวเลขดัชนีความเชื่อมั่นซึ่ง ผศ.ดร.วิวัฒน์ จันทร์กิ่งทอง ผู้จัดการศูนย์วิจัยนวัตกรรมทางธุรกิจ คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เปิดเผยว่า จากรายงานผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นของประชาชนในภาคใต้ ด้านเศรษฐกิจและสังคมเดือนเมษายน 2563 โดยรวมปรับตัวลดลง 39.40% เมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม ได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโดยรวม รายได้จากการทำงาน รายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค รายจ่ายด้านการท่องเที่ยว ความสุขในการดำเนินชีวิต ฐานะการเงิน การออมเงิน และการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ซึ่งได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาดเกือบทุกจังหวัดในภาคใต้ อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนหนึ่งพึงพอใจในการแก้ไขปัญหาของภาครัฐ แต่บางส่วนมองว่าภาครัฐไม่สามารถแก้ไขปัญหาปากท้องได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ได้รับผลกระทบ เนื่องจากอยู่ในช่วงประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีการสั่งปิดสถานประกอบต่าง ๆ ทำให้คนตกงานมาก ภาครัฐควรบริหารประเทศให้เกิดความสมดุล ระหว่างปากท้องกับการป้องกันโรค

สำหรับมาตรการของภาครัฐที่เข้ามาช่วยเหลือ มีคนบางกลุ่มเข้าไม่ถึง เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ และคนด้อยโอกาส คนที่ไม่มีสมาร์ทโฟน นอกจากนี้ อยากเสนอให้ภาครัฐแจกถุงยังชีพจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย รวมถึงการจัดสรรงบประมาณในการจัดตั้งโรงทานในแต่ละชุมชนทั่วประเทศ 2-3 มื้อต่อวัน นอกจากนี้ จากการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้ชาวสวนยางพารา ชาวประมงเสี่ยงต่อการกระทำผิด ซึ่งเจ้าหน้าที่ควรผ่อนปรนให้ได้ประกอบอาชีพอย่างเหมาะสม อีกทั้งควรผ่อนปรนให้รถโดยสารสาธารณะกลับมาให้บริการ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องเดินทาง

หลังวิกฤตโควิด-19 การดำเนินชีวิตของคนจะเปลี่ยนไป จะมีการสั่งซื้อสินค้าหรืออาหารผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งหน่วยงานควรมีการปรับตัวไปในทิศทางเดียวกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มแม่บ้านเกษตรกร กลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มผลิตภัณฑ์ OTOP ร้านค้าปลีกขนาดเล็ก เป็นต้น ซึ่งกลุ่มนี้ส่วนใหญ่เป็นชาวบ้าน ไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนวัตกรรม เทคโนโลยีสมัยใหม่ ฉะนั้น ภาครัฐควรหาแนวทางช่วยเหลือให้กลุ่มเหล่านี้สามารถดำเนินงานได้อย่างราบรื่น และสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

ขณะที่ผลคาดการณ์ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ประชาชนส่วนใหญ่เชื่อว่าภาวะเศรษฐกิจโดยรวมและรายได้จากการทำงานจะเพิ่มขึ้น 39.60% และ 32.80% ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นต่อรายจ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค และรายจ่ายด้านท่องเที่ยว จะเพิ่มขึ้น 27.30% และ 36.80% ตามลำดับ ส่วนความเชื่อมั่นด้านความสุขในการดำเนินชีวิต การแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และการแก้ปัญหาความไม่สงบใน 3 ชายแดนภาคใต้ จะเพิ่มขึ้น 23.50% 34.50% และ 31.70% ตามลำดับ แต่ปัจจัยที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่ามีผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและสังคมในปัจจุบันมากที่สุด คือ ค่าครองชีพ 28.30% รองลงมาคือ ราคาสินค้าสูง และราคาพืชผลทางการเกษตรตกต่ำ 24.80% และ 12.30% ตามลำดับ ขณะที่ปัญหาเร่งด่วนที่ประชาชนส่วนใหญ่มองว่า รัฐบาลควรให้ความช่วยเหลือเป็นอันดับแรก คือ ค่าครองชีพ รองลงมาคือ สินค้าราคาสูง