สวนใต้ชง ศอ.บต.ของบ 300 ล้านตั้งโรงงานถุงมือยาง-รื้อฟื้น ‘อินโร’

ยางพารา
น้ำยางน้อย - ปัจจุบันความต้องการน้ำยางสดในตลาดโลกพุ่งขึ้นสูงมาก เพื่อนำไปใช้ผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ แต่ฝนตกลงมาทำให้กรีดยางได้น้อยลง

กลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ ชง ศอ.บต.ของบประมาณ 300 ล้านบาท จัดตั้ง “โรงงานอุตสาหกรรมผลิตถุงมือยาง-โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้นครบวงจร” ดันพื้นที่ 100 ไร่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ตั้งโรงงานหลังความต้องการน้ำยางสดในตลาดโลกไปผลิตถุงมือยางใช้ทางการแพทย์พุ่ง แต่ราคาไม่ขยับ พร้อมเสนอรัฐบาลรื้อฟื้น “องค์กรยางระหว่างประเทศ หรือ INRO 3 ประเทศ คือ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย” ขึ้นมาใหม่ ทำหน้าที่กำกับราคาขั้นต่ำยางโลก สร้างอำนาจต่อรองราคา ชี้ปัจจัยราคายางวูบวาบไม่เสถียร เหตุจากตลาดซื้อขายล่วงหน้าเก็งกำไรระยะสั้น

นายกัมปนาท วงศ์ชูวรรณ ผู้จัดการกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ สถาบันเกษตรกรแปรรูปยางพาราส่งออกรายใหญ่ภาคใต้ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้กลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์ ได้หารือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ถึงแนวทางการจัดตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้น ใช้งบประมาณ 60-70 ล้านบาท ไปจนถึงการลงทุนตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปถุงมือยาง ใช้งบประมาณ 300 ล้านบาทครบวงจร เริ่มตั้งแต่รับซื้อน้ำยางสดจากกลุ่มสถาบันเกษตรกรสวนยางพารา กลุ่มวิสาหกิจยาง กลุ่มสหกรณ์ยาง กลุ่มยาง มาเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปน้ำยางข้น และโรงงานผลิตถุงมือยาง พร้อมเสนอพื้นที่ตั้งโรงงาน 100 ไร่ บริเวณ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือเรื่องงบประมาณในการลงทุน

“ภาคใต้เป็นแหล่งผลิตยางธรรมชาติรายใหญ่ สามารถตั้งโรงงานผลิตถุงมือยางได้หลายพื้นที่ ตั้งแต่ จ.สตูล สงขลา ยะลา นครศรีธรรมราช ฯลฯ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีโรงงานแปรรูปถุงมือยางไม่กี่แห่ง มีมากสุดทางภาคใต้ จ.สงขลา ไม่ถึง 10 บริษัท

นายกัมปนาทกล่าวต่อไปว่า สถานการณ์การใช้ถุงมือยางได้ขยายการเติบโตไปทั่วโลก ส่งผลให้มีปริมาณออร์เดอร์เข้ามายังกลุ่มเกษตรกรทำสวนธารน้ำทิพย์เป็นหลักล้านคู่ พร้อมเงื่อนไขวางเงินมัดจำก่อนถึง 30% จากหลายประเทศ แต่ทางกลุ่มไม่สามารถดำเนินการให้ได้เพราะขณะนี้วัตถุดิบยางพารามีปริมาณการกรีดน้อยมากเพราะมีฝนตกมาเป็นระยะ ในขณะความต้องการปริมาณยางพาราในตลาดโลกมีมากขึ้น เพื่อนำไปเข้าสู่โรงงานแปรรูปถุงมือยาง แต่ราคาน้ำยางสดกลับไม่ขยับขึ้นเพราะขณะนี้ผู้กำหนดกลไกตลาดโลก คือ ฟิวเจอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีกลยุทธ์ในการซื้อขายเก็งราคา ทำกำไรระยะสั้น เมื่อได้กำไรแล้วจะขาย ส่งผลให้ราคาต่ำลง ราคาไม่เสถียร ขณะที่ผู้ส่งออกอ้างว่าน้ำยางจะเต็มถังไซโล ไม่มีถังไซโลพอเก็บ จึงมีการส่งออกกันหมด

ดังนั้น กลุ่มสถาบันเกษตรกรยางพารา นักวิชาการจากไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ได้มีการนำเสนอให้ 3 ประเทศผู้ผลิตยางรายใหญ่ของโลกรวมตัวกันรื้อฟื้นองค์กรยางระหว่างประเทศ หรือ INRO ขึ้นมาใหม่ เพื่อทำหน้าที่กำหนดราคายาง เช่น ราคาน้ำยางสด 1,200 เหรียญ/ตัน ยางแท่ง 1,400 เหรียญ/ตัน และยางรมควัน 1,600 เหรียญ/ตัน หากราคาต่ำกว่าราคาที่กำหนดจะไม่ขาย โดยเก็บสต๊อกเอาไว้ ต่อไปกลไกของอินโรจะดันยางพาราในตลาดโลกให้ขยับขึ้น โดยรัฐบาลไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายประกันรายได้เพื่อสนับสนุนช่วยเหลือชาวสวนยาง

“เมื่อมีการกำหนดราคาขั้นต่ำ ในขณะที่ตลาดโลกกำลังต้องการยางพาราเป็นอย่างมาก ซึ่งอดีตเคยมีการดำเนินการมาประสบความสำเร็จมาแล้ว และประการสำคัญจะส่งผลให้รัฐบาลไม่ต้องเสียเงินงบประมาณไปกับเงินประกันรายได้ยางพาราปีละหลายหมื่นล้านบาท เอาเงินงบประมาณนี้ไปลงทุนด้านอื่น ๆ เช่น โรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตถุงมือยาง โดยเฉพาะที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นต้น ซึ่งภาคใต้เป็นแหล่งผลิตยางพาราและน้ำยางสดที่มีปริมาณมากเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก” นายกัมปนาทกล่าว

ทางด้านนายอุทัย สอนหลักทรัพย์ กรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) และนายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย (สยท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า อินโรเป็นการรวมตัวกันของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางพาราหรือผู้ใช้ยางพารา พ่อค้ายางพารา และเกษตรกรชาวสวนยางพาราทั้ง 3 ประเทศ คือไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย มีการจัดตั้งกองทุน กำหนดนโยบาย และบทบาทในการบริหารจัดการยางพารา สามารถดูแลเกษตรกรยางพาราได้ดี ประสบความสำเร็จ แต่ไทยมายกเลิกปี 2540 ตั้งแต่นั้นราคายางพาราไม่มีเสถียรภาพ

มาถึงปี 2547 ได้มีการจัดตั้งบริษัท ร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ จำกัด (IRCo) แต่ขณะนี้กลับเป็นเสือกระดาษ ไม่มีบทบาท เห็นควรยกเลิกไปแล้วมารื้อฟื้นโครงการอินโรกันใหม่