ประวิตร ขึ้นเหนือ อัด 2 พันล้าน เยียวยาชาวสวนลำไย 8 จังหวัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 6 สิงหาคม 2563 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมหารือระหว่างภาครัฐและเกษตรกร เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาเกษตรกรผู้ปลูกลำไยภาคเหนือ พร้อมด้วย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด 8 จังหวัดภาคเหนือ และเกษตรกรผู้ปลูกลำไยภาคเหนือ 8 จังหวัด เข้าร่วมประชุม ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา อ.เมือง จ.เชียงใหม่

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกลำไยในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือ ที่กำลังประสบปัญหาราคาลำไยตกต่ำ เกษตรกรจำนวนมากต้องปล่อยลำไยทิ้ง เพราะทุนไม่มี โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้ตนลงพื้นที่เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรเป็นการเร่งด่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการจากประเทศจีน ไม่สามารถเดินทางเข้ามาซื้อลำไยในฤดูกาลผลิตปีนี้ได้ เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งในประเด็นนี้สภาอาชีพเกษตรกร ได้ทำหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เพื่อให้ช่วยแก้ปัญหานี้ โดยต้องการให้ผ่อนผันกลุ่มผู้ประกอบการจีนสามารถเดินทางเข้ามาซื้อลำไยได้ในช่วงเดือนสิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ผลผลิตลำไยออกสู่ตลาด โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณา อาจจะกำหนดให้เข้ามา 3-5 วันแล้วเดินทางกลับ โดยต้องทำตามระบบที่ ศบค.กำหนด

ขณะเดียวกัน รัฐบาลยังได้เตรียมงบประมาณเยียวยาเกษตรกรผู้ปลูกลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือ ครอบครัวละ 2,000 บาทต่อไร่ (ไม่เกิน 25 ไร่) เป็นงบประมาณทั้งสิ้นราว 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในสัปดาห์หน้า เพื่อพิจารณาอนุมัติ นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้มอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ขับเคลื่อนช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกลำไย อาทิ จัดโครงการสนับสนุนจุดรวบรวมและคัดคุณภาพลำไย โครงการสนับสนุนจุดรวบรวมผลผลิตลำไยสด โครงการแก้ปัญหาผลผลิตผลไม้ออกสู่ตลาด โดยเชื่อมโยงเข้าถึงตลาด ทั้งห้างสรรพสินค้าและตลาดออนไลน์ เป็นต้น

ด้านตัวแทนสภาอาชีพเกษตรกร ให้ข้อมูลว่า ในปีนี้เกษตรกรผู้ปลูกลำไย 8 จังหวัดภาคเหนือ ประสบปัญหาด้านการตลาด ราคา แรงงานขาดแคลน และภาคการขนส่งที่ต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งราคาที่ตกต่ำมากไม่คุ้มกับต้นทุน โดยลำไยเกรด AA กิโลกรัมละ 17 บาท เกรด A กิโลกรัมละ 9 บาท เกรด B กิโลกรัมละ 4 บาท และเกรด C กิโลกรัมละ 1 บาท