ประมงเกาะสุกรรุกทำ “ปุ๋ยเปลือกปูม้าตราแตงโม”

ปุ๋ยเปลือกปูม้า - ชาวประมงบนเกาะสุกรได้เข้ารับการฝึกอบรมผลิตปุ๋ยจากเปลือกปูม้าแทนที่จะทิ้งไปเป็นขยะมูลฝอย พร้อมกับทำแบรนด์ตราแตงโม

มทร.ศรีวิชัยหนุนชาวประมงเกาะสุกรทำปุ๋ยจากเปลือกปูม้า ภายใต้แบรนด์ “ตราแตงโมเกาะสุกร” ตั้งเป้าเปิดตลาดทั้งในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง สร้างรายได้สู่ชุมชน

ดร.วิกิจ ผินรับ หัวหน้าโครงการธนาคารปูม้า หน่วยส่งเสริมและวิจัยธนาคารปูม้า มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (มทร.) ศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง เปิดเผยว่า ปัจจุบันประชากรบนเกาะสุกรในพื้นที่ชุมชนประมงชายฝั่งร้อยละ 70 ประกอบอาชีพชาวประมง มีการผลิตเนื้อปูม้าเพื่อจำหน่ายมากขึ้น ในกระบวนการผลิตมีการปล่อยของเสีย ขยะมูลฝอยที่เป็นเปลือกปูม้า เศษปูม้า ซึ่งเป็นขยะอินทรีย์และส่งผลทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ เช่น ส่งกลิ่นเหม็นที่ไม่พึงประสงค์ ดังนั้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ มทร.ศรีวิชัยร่วมกับองค์การบริหาร

ส่วนตำบลเกาะสุกร อ.ปะเหลียน จ.ตรัง จัดกิจกรรมถ่ายทอดองค์ความรู้ การทำปุ๋ยจากเปลือกปูม้า ภายใต้การจัดการและส่งเสริมธนาคารปูม้าแบบมีส่วนร่วม เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของชุมชน โดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สนับสนุนทุนตามโครงการคืนปูม้าสู่ทะเลไทย (ตามมติคณะรัฐมนตรี) การดำเนินงานระยะที่ 2 พื้นที่จังหวัดตรังและกระบี่

“การถ่ายทอดการทำปุ๋ยจากเปลือกปูม้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมสู่ชุมชนเกาะสุกร ตามแนวทาง BCG Model กลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตแบบก้าวกระโดด กระจายโอกาส กระจายรายได้ และนำความมั่งคั่งไปสู่ชุมชนในท้องถิ่นอย่างทั่วถึง ทั้งนี้ ปุ๋ยที่จะวางขายได้มีการทำตราเฉพาะภายใต้แบรนด์ตราแตงโมเกาะสุกร”

ดร.วิกิจกล่าวต่อไปว่า ประโยชน์ของปุ๋ยชุมชนจากเปลือกปูม้า ช่วยปรับสภาพดินให้มีปริมาณอินทรียวัตถุปริมาณเพิ่มสูงขึ้นช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตของพืช และมีส่วนผสมของเปลือกปูม้าที่ช่วยเสริมการเจริญเติบโตของรากพืช การผลิตปุ๋ยชุมชนจากเปลือกปูม้า ใช้วัตถุดิบสำหรับการผลิต คือ มูลสัตว์ เช่น มูลไก่ มูลนกกระทา หรืออาจใช้มูลวัวเป็นวัตถุดิบหลักไม่น้อยกว่าร้อยละ 75 เปลือกปูม้า ร้อยละ 20 ส่วนผสมอื่น ๆ เช่น ปูนขาวจากเปลือกหอย ไม่เกินร้อยละ 5 และใช้น้ำ หรือน้ำผสมน้ำหมักชีวภาพ เพื่อผสมสำหรับทำการอัดเม็ด

“โดยมีขั้นตอนกรรมวิธีการผลิต คือ1.การนำวัตถุดิบตากแดดให้แห้ง 2.การบดวัตถุดิบให้ละเอียด 3.การผสมวัตถุดิบและการอัดเม็ด และ 4.การตากปุ๋ยชุมชนจากเปลือกปูม้าและนำใส่บรรจุภัณฑ์ โดยปุ๋ยที่ผลิตเบื้องต้นจะให้เกษตรกรนำไปใช้เพื่อการเกษตรบนเกาะสุกร จากนั้นจะมีการต่อยอดผลิตออกจำหน่ายให้เกษตรกรทั่วไป ทั้งในจังหวัดตรังและจังหวัดใกล้เคียง รวมถึงทั่วประเทศต่อไป

เชื่อจะสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้ หากชุมชนใดหรือท่านที่สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สถาบันวิจัยและพัฒนา สาขาเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์ประมง คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการประมง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตตรัง โทรศัพท์ 08-1893-4374 ตลอด 24 ชั่วโมง” ดร.วิกิจกล่าว