จันทบุรีแสดงพลังยื่น 160,000 รายชื่อคัดค้านขออาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำ

ชาวจันท์แสดงพลัง ยื่นรายชื่อคัดค้านอาชญาบัตรพิศษแร่ทองคำ 160,000 คน

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า เช้าวันนี้ (9ก.ย.63) ที่บริเวณลานหน้าศาลากลางจังหวัดจันทบุรี ได้มีผู้มาร่วมชุมนุมจาก 22 องค์กร ประมาณ 2,000 คนคัดค้านกระบวนการทำเหมืองสืบเนื่องจาก การดำเนินการขออนุญาตสำรวจ หรือ ”อาชญาบัตรพิศษแร่ทองคำ”ของบริษัท ริชภูมิ ไมนิ่ง จำกัด พื้นที่ 2 แปลง จำนวน14,650 ไร่ ในต.พวาและต.สามพี่น้อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี

นำโดยนายธนภณ กิจกาญจน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรี องค์กรท้องถิ่น ท้องที่ สมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้าน สันนิบาตเทศบาล องค์กรภาคเอกชน สมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชาจันทบุรี สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หอการค้าจังหวัด สมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับ สมาคมท่องเที่ยว สมาคมชาวสวนลำไย สมาคมผู้ส่งออกผลไม้ และองค์กรภาคประชาชน เครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านจังหวัดจันทบุรี สมาคมพัฒนาการเมืองไทย สภาองค์กรชุมชนตำบล สมาคมพหุพาคีพัฒนาประชาสังคมสมาคมชาวสวนลำไย สหกรณ์โคนมสอยดาว จำกัด และสมาคมสื่อมวลชน จำนวน 157,777 รายชื่อตัวแทนองค์กรได้นำรายชื่อผู้คัดค้าน ยื่นต่อนายอลงกรณ์ แอคะรัจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เพื่อส่งสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรีเพื่อส่งต่อกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และส่งปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมและปลัดกระทรวงมหาดไทย

บรรยากาศของเวทีชุมนุมมีตัวแทนองค์กรปราศรัย เช่น ดร.รัฐวิทย์ ตั้งเกียรติพชร นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชาจันทบุรี รศ.เจริญ ปิยารมณ์ ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำลุ่มน้ำวังโตนด นายวันชัย แสงสุวรรณ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลพวา อ.แก่งหางแมง นายทิวา แตงอ่อน ตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่อ.แก่งหางแมง ชี้ถึงผลกระทบหลักๆคือ การทำลายสิ่งแวดล้อม มลภาวะอันตรายต่อสุขภาพ การทำลายแหล่งน้ำทางเกษตร อุปโภคบริโภคที่สำคัญของจันทบุรีและพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจEEC และทำลายอาชีพเกษตรกรรมที่สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรและจังหวัด โดยเฉพาะทุเรียนหมอนทองที่เป็นผลไม้หลักของชาวบ้านเป็นที่มาของสโลแกนว่า “เอาหมอนทองไม่เอาเหมืองทอง”ซึ่งเห็นว่าการคัดค้านครั้งนี้เป็นการตัดไฟแต่ต้นลม

นายธนภณ กิจกาญจน์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดจันทบุรีกล่าวว่าการยื่นหนังสือครั้งนี้นอกจากคัดค้านการออกอาชญาบัตรพิเศษแร่ทองคำแล้ว ได้เรียกร้องให้ถอนรายชื่อจังหวัดจันทบุรีออกจาก การเป็น”เขตแหล่งแร่ทองคำเพื่อการทำเหมือง”ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการแร่ 20 ปี(พ.ศ. 2560-2569) และแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ พ.ศ. 2560-2564 โดยให้ดำเนินการอย่างเร่งด่วน รายชื่อที่รวบรวมมอบรองผู้ว่าราชการจังหวัดวันนี้จะนำรายชื่อที่ที่ผู้มาร่วมชุมนุมในวันนี้คาดว่าประมาณ 160,000 คน ส่งไปในคราวเดียวกัน ส่วนที่ยังไม่ได้ลงชื่อจะเปิดให้ลงชื่อถึงวันที่ 27 กันยายนเมื่อครบกำหนดประกาศคัดค้านได้ภายใน 30 วัน ครั้งนี้เป็นการแสดงพลังความร่วมมือของชาวจันทบุรีทั้งจังหวัดที่เห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นไม่ใช่เฉพาะพื้นที่อ.แก่งหางแมว