“หอการค้าเชียงใหม่” ชี้เศรษฐกิจหดตัวทุกสาขา ท่องเที่ยววิกฤตสุด

ม.หอการค้าไทย

หอการค้าจังหวัดเชียงใหม่แถลงเศรษฐกิจ 3 ไตรมาสปี 2563 และแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2564 เผย Q3 หดตัวมาก ท่องเที่ยวเป็นสาขาที่ฟื้นตัวช้าที่สุด ทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจหายไปจากระบบไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท หวังปัจจัยรอดมาตรการกระตุ้นจากภาครัฐที่มีประสิทธิภาพและลงลึกถึงเศรษฐกิจชุมชน และการจ้างงานในพื้นที่ ชี้การเตรียมรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist VISA: STV) แบบจำกัดในพื้นที่เชียงใหม่ต้องรอบคอบและมีมาตรการที่รัดกุม หากทำได้จะเป็นพื้นที่ต้นแบบกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้

วันที่ 9 ตุลาคม 2563 นายวโรดม ปิฎกานนท์ ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ภาวะเศรษฐกิจของจังหวัดเชียงใหม่ในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2563 และแนวโน้มปี 2564 หากประเมินภาพรวมปี 2563 ถือว่าเศรษฐกิจในพื้นที่หดตัวมาก เพราะได้รับผลกระทบรุนแรงจากมาตรการควบคุมโรคระบาดที่เข้มงวดทั้งในและต่างประเทศเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจเชียงใหม่พึ่งพิงนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศในเกณฑ์สูงและสาขาท่องเที่ยวจึงเป็นสาขาที่ฟื้นตัวช้าที่สุดทำให้เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจในฟื้นที่ตลอดทั้งปีหายไปจากระบบไม่น้อยกว่า 1 แสนล้านบาท

ส่วนปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อเศรษฐกิจจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2564 จะสอดคล้องกับเศรษฐกิจมหภาคคือขึ้นอยู่การระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ที่รุนแรงในไทย หากไม่มีการระบาด โอกาสการฟื้นตัวจะเร็วขึ้น รวมถึงปัจจัยเรื่องวัคซีน การใช้มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพ และการเตรียมพร้อมเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้เป็นต้น

ล่าสุด เชียงใหม่ได้เตรียมความพร้อมด้านมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในการจัดเตรียมที่พักแบบ Alternative Local Quarantine สำหรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ (Special Tourist VISA: STV) แบบจำกัดจำนวนตามที่กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาฯ การท่าอากาศยานเตรียมความพร้อมที่จะรับเที่ยวบินระหว่างประเทศวันละ 2 เที่ยวบิน หรือไม่เกินวันละ 400 คน

ในส่วนหอการค้าฯ มองว่าจะต้องรอบคอบและมีมาตรการที่เข้มงวด ซึ่งหากดำเนินการได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อมาตรการด้านสาธารณสุข รวมถึงความร่วมมือของภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หอการค้าฯ ก็จะได้มีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรการปฏิบัติของจังหวัดเชียงใหม่ต่อไป ซึ่งหากดำเนินการได้จะเป็นต้นแบบการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ได้ ซึ่งคิดว่าภายในปีนี้ยังคงไม่สามารถดำเนินการได้ทัน

ประธานหอการค้าจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต่อว่า ในช่วง 3 ไตรมาสแรกจากการติดตามข้อมูลเศรษฐกินในพื้นที่ พบว่าการบริโภคการบริโภคภาคเอกชนหดตัวมาก ตามกำลังซื้อโดยรวมที่ลดลง จากมาตรการควบคุมโรคระบาดและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่อยู่ในระดับต่ำ การลงทุนภาคเอกชนหดตัวต่อเนื่องทั้งการลงทุนด้านก่อสร้างและลงทุนในเครื่องจักและอุปกรณ์

การก่อสร้างทั้งอาคารสูงและแนวราบหายไปจากผลของ COVID-19 การซื้อของลูกค้าในประเทศมีประปรายเนื่องจากขาดสภาพคล่อง ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้ชะลอการลงทุนโครงการใหม่ออกไปก่อน ขณะที่มาตรการเยียวยาภาครัฐช่วยพยุงการบริโภคเพียงบางส่วน การใช้จ่ายสินค้าลดลงทุกหมวดสินค้าโดยเฉพาะหมวดบริการ สินค้าในชีวิตประจำวัน และหมวดยานยนต์หาดตัวมากทุกประเภท

ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2564 อยู่กับมาตรการและนโยบายกระตุ้นของภาครัฐเป็นเรื่องหลัก ได้แก่ กระตุ้นกำลังซื้อภาคชาวบ้านผ่านราคาสินค้าเกษตร และกำลังซื้อของกลุ่มผู้มีรายได้น้อย การกระตุ้นด้านการคลัง เพิ่มการใช้จ่าย ทดแทนการลงทุนภาคเอกชน การดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวนและสามารถแข่งขันได้ โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือกลุ่มที่มีความเปราะบางและ SME ซึ่งล่าสุดออกมาตรการด้านการสร้างแรงงานตามโครงการ 1 มหาวิทยาลัย 1 ตำบลก็จะช่วยให้แรงงาน และนักศึกษาจบใหม่มีงานทำเพิ่มมากขึ้น