ทุ่ม 2 หมื่นล้านขุดคลองชัยนาท-ป่าสัก กรมชลฯ หวังแก้น้ำท่วมลุ่มเจ้าพระยา

ปัญหาน้ำเหนือหลากยังคงเป็นปัญหาหลักที่สำคัญส่งผลให้เกิดอุทกภัยในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่าง ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีปริมาณน้ำหลากมากกว่าศักยภาพของการระบายน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา และส่วนใหญ่ไหลผ่านเขื่อนไปยังด้านท้ายน้ำ จากปี 2554 มีปริมาณน้ำหลากจากภาคเหนือค่อนข้างสูง

ทำให้ปริมาณน้ำที่ต้องระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยามากเกินความสามารถในการระบายน้ำ ทำให้เกิดน้ำไหลล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่สองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา สร้างความเสียหายกว่า 20 ล้านไร่ มีมูลค่าความเสียหายกว่า 1.42 ล้านล้านบาท

ดังนั้นเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ทางกรมชลประทานจึงได้ดำเนินโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก จังหวัดชัยนาท มูลค่า 20,000 ล้านบาท คาดสำรวจและออกแบบโครงการผ่าน 3 จังหวัด นครสวรรค์ ลพบุรี และสระบุรี แล้วเสร็จปี 2564 เริ่มก่อสร้างปี 2566

“นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์” รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปี 2555 ที่ผ่านมา ได้มีการทำโครงการศึกษาเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วม เพื่อระบายน้ำให้ไหลลงทะเลอย่างมีประสิทธิภาพ ต่อมาปี 2560 ทางกรมชลประทานจึงได้จัดทำแผนบรรเทาอุทกภัยทั้งหมด 9 แผนงาน โดยมีมติเห็นชอบจากคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)

ซึ่งโครงการคลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออกเป็นแผนงานลำดับที่ 2 จาก 1 ใน 9 แผนงาน เพื่อช่วยระบายน้ำหลากหน้าเขื่อนเจ้าพระยาลงสู่อ่าวไทยเพิ่มขึ้นอีก 800 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที สามารถช่วยบรรเทาปริมาณน้ำหลากพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้

“โครงการระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก เป็นส่วนหนึ่งตามแผนการแก้ปัญหาน้ำหลากพื้นที่ท้ายเขื่อนเจ้าพระยาดังกล่าว มีทั้งหมด 9 แผน ซึ่งท้ายเขื่อนเจ้าพระยาได้มีการดำเนินการขุดลอก ส่วนฝั่งตะวันตกที่เป็นแม่น้ำท่าจีน จ.สมุทรสงคราม มีแผนที่จะเข้าไปขยายประตูระบายน้ำและขยายคลองระบายน้ำ

โดยจะทำเป็นอุโมงค์ดันน้ำออกไปฝั่งแม่น้ำท่าจีน ส่วนฝั่งตะวันออกเป็นโครงการชัยนาท-ป่าสัก และป่าสัก-อ่าวไทย ซึ่งได้มีการดำเนินการแล้ว 4 แผนงาน เหลืออีก 5 แผนงาน ซึ่งไม่ต้องกังวลหากมีน้ำน้อยหรือน้ำมาก ทางกรมชลฯสามารถจัดการได้ จะเห็นได้ว่าจากปี 2554 จนถึงปัจจุบัน ผลกระทบเรื่องน้ำท่วมรุนแรงไม่มี”

สำหรับแผนงานคลองระบายน้ำหลากเจ้าพระยาฝั่งตะวันออก ประกอบไปด้วย โครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก จังหวัดชัยนาท และ โครงการคลองระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย ซึ่งได้ดำเนินสำรวจออกแบบรายละเอียดโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก ในระยะที่ 1 เสร็จสิ้นแล้ว

จากประตูระบายน้ำมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท ถึงประตูระบายน้ำช่องแค จังหวัดนครสวรรค์ รวมระยะทาง 46.500 กิโลเมตร โดยจะเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำหลากหน้าเขื่อนเจ้าพระยา จากเดิม 130 ลบ.ม/วินาที ให้เป็นคลองระบายน้ำ 930 ลบ.ม./วินาที

การออกแบบประกอบไปด้วย 1.คลองส่งน้ำอนุศาสนนันท์ พร้อมอาคารประกอบ เป็นอาคารระบายน้ำกลางคลอง 3 แห่ง และอาคารระบายน้ำปลายคลอง 1 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท 2.คลองระบายชัยนาท-ป่าสัก พร้อมอาคารประกอบ เป็นอาคารระบายน้ำกลางคลอง 3 แห่ง และอาคารระบายน้ำปลายคลอง 1 แห่ง ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอมโนรมย์ จังหวัดชัยนาท

ปัจจุบันโครงการอยู่ระหว่างดำเนินงานต่อในระยะที่ 2 อยู่ในขั้นตอนการสำรวจออกแบบโครงการคลองระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก จังหวัดชัยนาท เพิ่มเติม ผ่านพื้นที่ 3 จังหวัด เริ่มตั้งแต่ประตูระบายน้ำช่องแค อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์ ผ่านจังหวัดลพบุรี จนถึงแม่น้ำป่าสักที่ตำบลเริงราง อำเภอเสาไห้ จังหวัดสระบุรี

รวมความยาวประมาณ 88 กิโลเมตร สำหรับโครงการดังกล่าวสามารถช่วยเหลือประชาชนที่เคยได้รับผลกระทบทั้งหมด 300,000 ไร่ และสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการส่งน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่ประมาณ 868,679 ไร่

“ทั้งนี้ คาดว่าแผนการสำรวจและออกแบบทั้งหมดของโครงการจะแล้วเสร็จภายในปี 2564 และจะเริ่มก่อสร้างปี 2566 ซึ่งทั้ง 2 โครงการมีงบประมาณทั้งหมด 80,000 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น โครงการระบายน้ำหลากชัยนาท-ป่าสัก ทั้งหมด 20,000 ล้านบาท และโครงการระบายน้ำหลากป่าสัก-อ่าวไทย ทั้งหมด 60,000 ล้านบาท”

สำหรับพื้นในการก่อสร้างในครั้งนี้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ของกรมชลฯจึงจะไม่ได้มีการเวนคืน อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนที่จะได้รับผลกระทบเพราะว่ามีการสร้างบ้านเรือน และทำมาหากินในเขตดังกล่าว เมื่อมีการก่อสร้าง ประชาชนต้องออกจากพื้นที่ ซึ่งทางกรมชลฯจะมีการเยียวยาให้กับประชาชนที่ได้รับ
ผลกระทบต่อไป