8 ปี Wreck Dive “เรือช้าง” แหล่งดำน้ำลึก ตราด-ปรับตัวรับโควิด

“เกาะช้าง” จังหวัดตราด ที่มาของรายได้ท่องเที่ยวจังหวัดตราด เฉียด ๆ 50% ปีละเกือบ 10,000 ล้านบาท รายได้หลักมาจากกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศถึง 80% แต่สภาวะโควิด-19 รายได้เหลือประมาณ 20% การท่องเที่ยวทางทะเลกิจกรรมดำน้ำตื้นแบบสน็อกเกิลลิ่ง (snorkelling) ส่วนใหญ่จะเป็นที่ชื่นชอบนักท่องเที่ยวไทย มีเกาะต่าง ๆ ที่มีปะการังสวยงาม 4-5 แห่ง

ส่วนการดำน้ำลึกแบบสกูบา (scuba) ที่ลูกค้าหลักเป็นชาวต่างประเทศ เมื่อ 8 ปีที่ผ่านมาโครงการวาง “เรือช้าง” : Wreck Dive สร้างเป็นแหล่งดำน้ำลึกขนาดใหญ่ บริเวณเกาะช้าง จ.ตราด แต่ละปีจะมีนักดำน้ำจากต่างประเทศมาดำน้ำเพิ่มขึ้นจำนวนมาก ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการประมาณว่าจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละประมาณ 50 ล้านบาท แต่หลังจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผล กระทบต่อรายได้อย่างหนัก

8 ปีผลสำเร็จแหล่งดำน้ำลึก

น.ท.สมบัติ บุญเกิดพานิช หรือ เสธ.บัติ อดีตนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.ตราด ผู้ปั้นโปรเจ็กต์นี้ได้สะท้อนปัญหาธุรกิจดำน้ำลึกท่ามกลางโควิด-19 พร้อมเล่าประวัติย้อนรอยเรือหลวงช้าง (His Thai Majesty’s Ship : HTMS Chang) ที่นำมาวางใต้ท้องทะเลบริเวณเกาะช้าง จ.ตราด เพื่อสร้างเป็นบ้านปลาขนาดใหญ่ว่า ขณะที่เป็นนายกสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดตราด จากวิกฤตปะการังฟอกขาว ปี 2553 บริเวณเกาะต่าง ๆ และเกาะช้างที่เป็นแหล่งดำน้ำปะการังได้ถูกทำลาย ทำให้แหล่งท่องเที่ยวในทะเลไม่มีจุดสนใจ

ด้วยเป็นคนท้องถิ่นมีประสบการณ์ดำน้ำ เห็นว่าบริเวณเกาะช้าง จ.ตราด น่าจะมีแหล่งดำน้ำลึกแบบสกูบาเพิ่มขึ้น และอาชีพของชาวประมงพื้นบ้านจะมีแหล่งหาปลาเพื่อเพิ่มรายได้ ด้วยเหตุผล 2-3 ข้อ จึงคิดทำโปเจ็กต์บ้านปลาขนาดใหญ่ โดยขอกองทัพเรือ นำเรือช้างซึ่งเป็นเรือรบหลวงขนาดใหญ่ที่ปลดระวาง นำมาวางในท้องทะเลตราด องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. สนับสนุนงบประมาณให้ 5.5 ล้านบาท ภายใต้วงเงินที่จำกัดมาก ๆ

นายกิตติ โกสินสกุล นายกสมาคมประมงจังหวัดตราดขณะนั้น ช่วยดำเนินการร่วมกับสมาคมธุรกิจท่องเที่ยว จ.ตราด วางเรือช้าง เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 ครบ 8 ปีเห็นความสำเร็จ เร็คไดฟ์ (Wreck Dive) HTMS Chang เป็นบ้านปลาขนาดใหญ่ และเป็นแหล่งดำน้ำลึกที่ได้รับความนิยมจากนักดำน้ำลึกทั้งต่างประเทศและไทย สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับจังหวัดตราด

“น.ท.สมบัติกล่าวว่า ปีแรกนักดำน้ำได้เริ่มเข้ามา พร้อม ๆ กับปลาเล็ก ปลาใหญ่ รวมทั้งฉลามวาฬปลาที่นักดำน้ำใฝ่ฝัน กิจกรรมน้ำดำลึกได้เติบโตเพิ่มขึ้นทุกปี ๆ มาหยุดชะงักในช่วงโควิด-19 เพราะลูกค้าดำน้ำลึกเป็นชาวต่างประเทศ 60-70%”

Wreck Dive เรือช้างสร้างเศรษฐกิจ

Wreck Dive เรือช้างสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจท่องเที่ยวอย่างเชื่อมโยงและอาชีพประมงพื้นบ้าน นอกจากบริษัททำธุรกิจดำน้ำลึก 3-4 บริษัท รวมทั้งฟรีแลนซ์

จุดที่วางเรือเป็นแหล่งขยายพันธุ์ปลาสร้างอาชีพให้ชาวประมงและมีปลาใหญ่อย่างฉลามวาฬมาให้เห็น
โครงสร้างของเรือมีขนาดใหญ่ความยาว 100 เมตร สามารถดำน้ำภายในห้องต่าง ๆ ของเรือได้อย่างปลอดภัย ด้วยระดับความลึกไล่ระดับ 5-40 เมตร เหมาะทั้งนักดำน้ำทั่วไป และเรียนหลักสูตรการดำน้ำ ระดับพื้นฐาน open water diver ถึงระดับขั้นสูง advance diver เพื่อรับใบอนุญาตและขึ้นสู่มืออาชีพ dive master ครูฝึก และ instructor training เป็นครูสอนดำน้ำ ต้องใช้ระยะเวลาเรียนตั้งแต่ 3-4 วัน ถึง 2-3 เดือน

จึงเป็นการช่วยสร้างงานให้ชุมชนในท้องถิ่น สร้างรายได้ให้ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรมที่พัก เรือ-รถโดยสาร ร้านอาหาร กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่ 70-80% เป็นโซนยุโรป หลัง ๆ จะมีชาวจีนเข้ามาบ้าง ส่วนคนไทยยังให้ความสนใจน้อย น่าจะมีการทำประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น เพราะแนวโน้มที่ขยายตัวในกลุ่มนักท่องเที่ยวต้องการประสบการณ์สร้างสรรค์

“ธุรกิจดำน้ำ” ปรับตัวหลังโควิด

นายอัยการ เชยชื่น ครูสอนดำน้ำ (instructor) ของบริษัท บีบีไดรเวอร์ส เกาะช้าง (BB Divers Koh Chang) 1 ใน 4 บริษัทดำน้ำในเกาะช้าง กล่าวว่า ช่วง 8 ปี Wreck Dive เรือช้าง จำนวนนักดำน้ำลึกมีอัตราการเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ 80% เป็นชาวต่างประเทศ คนไทย 20% และเริ่มมีนักท่องเที่ยวไทยสนใจดำน้ำ ช่วงปี 2560-2562 ก่อนโควิด-19 อัตราการเติบโตสูง มีไดฟ์ดำน้ำทุกวัน

แต่เมื่อเกิดโควิด-19 นักดำน้ำต่างประเทศเข้ามาไม่ได้ จำนวนนักดำน้ำลดลง 50% เดือนแรกบริษัทมีปรับลดเงินเดือนพนักงาน 30% ไป 1เดือน ต่อมาเริ่มฟื้นตัวเพราะปรับเปลี่ยนกลุ่มเป้าหมายจับตลาดคนไทย กลุ่มครูดำน้ำ และกลุ่มชาวต่างประเทศในไทย ตอนนี้Wreck Dive เรือช้าง ยังไม่เป็นที่รู้จักกว้างขวางเท่าแหล่งดำน้ำลึกทางภาคใต้ จากงาน Thailand Diving Expo ต้นเดือนตุลาคม เปิดบูทคนรู้จักแค่ 20% เทียบกับทางใต้ มีบริษัททำธุรกิจดำน้ำประมาณ 70 บริษัท เกาะช้างมี 3-4 บริษัท สื่อสารได้กว้างกว่า

แต่ได้รับความสนใจเมื่อนำเสนอข้อมูลเปิดขายแพ็กเกจราคาพิเศษหมดอย่างรวดเร็ว ถ้าธุรกิจท่องเที่ยว จ.ตราด รวมตัวกันทำ พี.อาร์.อย่างจริงจัง น่าจะทำตลาดสู้กับทางใต้ หรือที่อื่น ๆ ได้ “เพราะไฮไลต์คือ ขนาดใหญ่ มีความสมบูรณ์ สวยงาม น้ำใส ดำภายในตัวเรือได้อย่างปลอดภัย มีโอกาสเห็นฉลามวาฬ ใช้เวลาเดินทางจากท่าเรือบางเบ้า เกาะช้าง ด้วยเรือไม้ ประมาณ 40 นาที” นายอัยการ ครูสอนดำน้ำ BB Divers กล่าว

“ตุลาคม-เมษายน ช่วงระยะเวลา 6-7 เดือนเป็นช่วงพีกของการดำน้ำลึก ก่อนโควิด-19 มีนักดำน้ำลึกทั่วไป และผู้ที่ต้องการเรียนหลักสูตรดำน้ำเริ่มขั้นพื้นฐาน ถึงเป็นครูสอนดำน้ำใช้เวลาตั้งแต่ 3-4 วัน ถึง 2-3 เดือน จะส่งผลให้มีการกระจายรายได้จากธุรกิจดำน้ำ คนในท้องถิ่นมีรายได้จากลูกเรือ คนขับเรือ เรือทัวร์ โรงแรม ร้านอาหาร รถเช่า แต่เมื่อมีสถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 กลุ่มลูกค้าลดเหลือ 50% ยังมีกลุ่มคนไทยที่มีกำลังซื้อสูง และชาวต่างประเทศที่อยู่ในไทย

ถ้านักท่องเที่ยวไทย 500,000 คน มาเที่ยวทะเล สนใจดำน้ำลึก 80,000 คน ธุรกิจดำน้ำจะอยู่ได้ ตอนนี้ประคับประคองไป หากสถานการณ์ไม่ดีขึ้น ไม่เกิน 2 ปีธุรกิจดำน้ำน่าจะปิดตัวลงหลายแห่ง เพราะช่วงทำรายได้มีเพียง 6-7 เดือน ที่เหลือคือมีแต่รายจ่าย และพบว่าที่ผ่านมามีเรือทัวร์ดำน้ำที่มาจากทางใต้และ จ.ระยอง จัดเป็นเรือทัวร์นำนักดำน้ำไปแหล่งดำน้ำลึกโดยตรง พักค้างทานอาหารบนเรือ ไม่ได้ขึ้นเกาะหรือฝั่ง เป็นผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจดำน้ำที่เกาะช้าง” นายอัยการกล่าว

เร่งทำ P.R. กระตุ้นท่องเที่ยว

ระยะเวลา 8 ปี เรือช้างเริ่มมีสภาพชำรุดปรักหักพัง จากเรือทัวร์ดำน้ำที่เข้าใกล้และผูกเชือกเรือไว้กับโครงสร้างเรือช้าง แทนการทิ้งสมอ ตามไปด้วยแรงคลื่นลมทำให้เรือขยับตัว ประกอบกับไม่มีหน่วยงานใดได้รับมอบหมายรับผิดชอบดูแล ภาคเอกชนบริษัททัวร์ดำน้ำ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคประชาชน จึงร้องขอ นายภิญโญ ประกอบผล ผู้ว่าราชการจังหวัดตราด ให้แก้ไขปัญหา

และได้ข้อสรุปว่า วันที่ 16-17 ธันวาคม 2563 จะมีโครงการติดตั้งทุ่นผูกเรือช้าง ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดตราด (ศรชล.จ.ตราด) ร่วมกับภาคเอกชนและท้องถิ่น และจะมอบหมายให้ท้องถิ่นหรือหน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ดูแลบริหารจัดการต่อไป และทางกองทัพเรือจะมีการจัดทำแผนที่การเดินเรือ มีการเว้นระยะห่างเรือช้างที่ผูกทุ่น 5 เมตร เพื่อป้องกันปัญหาการเดินเรือ เพื่อรักษาเรือช้างเป็นแหล่งดำน้ำลึกที่สมบูรณ์ให้นานที่สุด

“วันติดตั้งทุ่นบริเวณเรือช้าง มีเวทีเสวนา 8 ปีเรือช้าง กับผู้มีส่วนผลักดันทำโปรเจ็กต์นี้จากหน่วยงานภาครัฐ เอกชน มีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์โควิด-19 เชิญบริษัทดำน้ำทั่วประเทศไทยมาร่วมงาน

เพื่อประชาสัมพันธ์ Wreck Dive เรือช้าง กลุ่มเป้าหมายคือครูดำน้ำชาวต่างประเทศที่อยู่ในไทย หรือกลุ่มนักท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่ชื่นชอบกิจกรรมดำน้ำ เพื่อช่วยกระตุ้นธุรกิจการท่องเที่ยวและไม่ให้สูญเสียตลาดนักดำน้ำลึก เรามั่นใจในแม็กเนตของเรือช้าง ที่เป็นแหล่งดำน้ำขนาดใหญ่ อุดมสมบูรณ์ด้วยปะการัง สัตว์น้ำสวยงาม”