ปิดโรงเชือดไก่ “ซีพีเอฟ” แก่งคอย พบติดโควิด 245 ราย จ่อตั้งรพ.สนาม

ผู้ว่าฯสระบุรี-สสจ.สระบุรี สั่งปิด ปิดโรงงานเชือดไก่ CPF แก่งคอย จ.สระบุรี พบผู้ติดเชื้อโควิด 245 ราย เร่งตรวจเชิงรุกคนงานทั้งหมด 5,800 คน พร้อมจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม บริษัทฯยันดูแลมาตรฐานด้านสุขอนามัยขั้นสูงสุด

วันที่ 30 พฤษภาคม  2564 นายแมนรัตน์ รันตนสุคนธ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสระบุรี แจ้งผลการดำเนินการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ดังนี้

1. สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ร่วมกับโรงพยาบาลแก่งคอย สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ
แก่งคอยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกพนักงานโรงงานแปรรูปเนื้อไก่สระบุรีของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย)จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีพนักงานรวมทั้งสิ้นประมาณ 5,800 คน ปัจจุบันดำเนินการตรวจเชิงรุกแล้วประมาณ 3,400 ราย ทราบผลการตรวจแล้ว จำนวน 765 ราย พบผู้ติดเชื้อจำนวน 245 ราย

2.ผู้ที่ตรวจพบเชื้อดังกล่าว ได้นำตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในพื้นที่ และ จังหวัดสระบุรี
ได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามขึ้น ณ ค่ายลูกเสือเจ็ดคต – โป่งก้อนเส้า อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี สามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ประมาณ 160 ราย ปัจจุบันมีผู้เข้าพักแล้ว จำนวน 49 ราย

3.โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ของบริษัท ซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) จ.สระบุรี ได้เตรียมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่ของบริษัทฯ โดยคาดว่าจะสามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ประมาณ 400 ราย

4.บริษัทฯ จะปิดสายการผลิตชั่วคราว เพื่อทำความสะอาด ตั้งแต่วันที่ 30 พฤษภาคม ถึง 3 มิถุนายน 2564 รวม 5 วัน

5. ปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตรวจค้นหาเชิงรุก พนักงานบริษัทดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
โดยคาดว่าจะทราบผลตรวจภายในวันที่ 30 พฤษภาคม 2564 หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ทราบ ต่อไป

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ดังกล่าวได้ออกแถลงชี้แจงถึงกรณีพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในโรงแปรรูปเนื้อไก่สระบุรี ความว่า

โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ จ.สระบุรี ให้ความสำคัญต่อสุขภาพและความปลอดภัยของพนักงานในระดับสูงสุด และให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการตรวจเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งได้รับการยืนยันว่ามีพนักงานติดเชื้อจํานวนหนึ่ง โรงงานจึงได้ดำเนินการ ดังนี้

ด้านพนักงาน : ตรวจคัดกรองพนักงานทั้งหมดทุกคนและส่งตัวผู้ติดเชื้อเข้ารับการรักษา แยกผู้เสี่ยงสูงเข้ากักตัวในสถานที่ที่สาธารณสุขจัดให้เป็นเวลา 14 วัน พร้อมตรวจยืนยันโรค 2 ครั้ง ส่วนผู้เสี่ยงต่ำให้กักตัวที่บ้านสังเกตอาการตลอดช่วง 14 วันเช่นกัน โดยปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพของพนักงาน

ทั้งนี้ พนักงานผู้ติดเชื้อเป็นผู้ปฏิบัติงานในส่วนที่ไม่ได้สัมผัสผลิตภัณฑ์อาหารโดยตรง และในขณะปฏิบัติหน้าที่ทุกคนจะสวมชุดฟอร์ม หน้ากากอนามัยและผ้าปิดปากปิดจมูกอย่างมิดชิด ซึ่งช่วยลดโอกาสการแพร่เชื้อลงได้มาก

ด้านสถานที่ : ได้หยุดการดำเนินงานในพื้นที่ที่ผู้ติดเชื้อปฏิบัติงานทันที เป็นเวลา 5 วันและทําความสะอาด Big Cleaning พร้อมพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อทันที ตามมาตรการของ ก.สาธารณสุข ทั้งนี้ เพื่อกำจัดเชื้อโรคที่อาจปนเปี้อนในสิ่งแวดล้อมของโรงงาน และต้องตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการว่าปราศจากเชื้อโรค ตลอดจนเพื่อคัดกรองพนักงานที่มีผลการตรวจโควิดเป็นลบเข้ามาปฏิบัติงาน ด้วยสถานที่ที่ปลอดเชื้อและพนักงานที่ปลอดโรค ทำให้กระบวนการผลิตจะดำเนินต่อได้อย่างปลอดภัย

บริษัทฯ ได้ดําเนินการยกระดับมาตรฐานด้านสุขอนามัยขั้นสูงสุด เพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับพนักงานและผลิตภัณฑ์ของโรงงานอย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม โรงงานชำแหละเนื้อไก่แห่งนี้เป็นเพียง 1 ใน 19 แห่งของบริษัทฯ ซึ่งทุกแห่งยังคงดำเนินการผลิตอาหารอย่างต่อเนื่อง ภายใต้มาตรการป้องกันโรคของ ก.สาธารณสุข อย่างเคร่งครัด ด้วยตระหนักถึงความปลอดภัยของพนักงานและผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นเป็นสำคัญ ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ในความปลอดภัยของผลิตภัณฑ์อาหารของบริษัทฯ