โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี ปิดกิจการ พนักงานกว่าพันชีวิตตกงาน

โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี

โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี ประกาศปิดกิจการ หลังเปิดมา 58 ปี รับขาดทุนมายาวนาน เลิกจ้างพนักงานรายวัน-รายเดือน-ตามฤดูกาล รวมพันกว่าชีวิต 

วันที่ 9 มิถุนายน 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า โรงงานน้ำตาลกุมภวาปี หรือ บริษัท น้ำตาลกุมภวาปี จำกัด ประกาศปิดกิจการ หลังเปิดดำเนินกิจการผลิตน้ำตาลในอำเภอกุมภวาปีมาเกินกว่า 58 ปี ด้วยในช่วงที่ผ่านมา บริษัทตกอยู่ในสภาพแวดล้อมการดำเนินธุรกิจที่ยากลำบาก ดังนั้นการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน จึงมีมติตัดสินใจหยุดกิจการหลังจากนี้อย่างเป็นทางการ

ขณะที่ มติชนรายงานว่า วานนี้ (8 มิ.ย.) นายชัยวัฒน์ ศรมณี สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จ.อุดรธานี เปิดเผยหลังการประชุมว่า บริษัทชี้แจงว่า ประสบปัญหาขาดทุน ติดต่อกันมารวม 6-7 ปีแล้ว ก็จะปิดกิจการทั้งหมด หรือเลิกกิจการ ไม่เหลือกิจกรรมอะไร ซึ่งมีพนักงาน-ลูกจ้างอยู่รวม 280 คน ทั้งรายวัน รายเดือนก็จะต้องเลิกจ้าง

รวมทั้งลูกจ้างตามฤดูกาลอีกกว่า 1,000 คนก็จะไม่มีการจ้าง โดยวันนี้ได้ประกาศหยุดกิจการ และได้ประกาศหยุดงานตั้งแต่ 8 มิ.ย.-2 ก.ค. 64 แบบยังมีค่าจ้าง แต่ยังมีแรงงานที่สมัครใจ เข้ามาช่วยเก็บงาน ซึ่งก็จะได้รับค่าจ้างเพิ่มให้ ถือว่ามาทำงานในวันหยุด

“การเลิกจ้างจะเริ่ม 3 ก.ค. 64 แบ่งเป็นการสมัครใจลาออก จะได้รัยการชดเชย 3 ส่วน คือ เงินชดเชยตามกฎหมาย, เงินช่วยเหลือพิเศษ และเงินช่วยเหลือจากการลาออก คนที่สมัครใจลาออกให้ยื่นเรื่อง 8 มิ.ย.-12 มิ.ย.นี้ เมื่อเลย 3 ก.ค. 64 ถือว่าสิ้นสุดการเป็นพนักงาน หากไม่สมัครใจลาออก ก็จะดำเนินการเลิกจ้างตามกฎหมาย ซึ่งจะจ่ายชดเชยเฉพาะตามกฎหมาย ซึ่งมีจำนวนแตกต่างกันมาก เช่น ผู้มีอายุงานมากกว่า 20 ปี ตามกฎหมายจะได้ชดเชย 400 วัน เขาจะบวกเพิ่มเงินช่วยพิเศษอีก 120 วัน และเงินช่วยเหลือการลาออก 90 วัน รวมแล้ว 610 วัน เขาเรียกโครงการนี้ว่า มาราอิ จากกันด้วยดีสู่อนาคตใหม่”

ขณะที่ นายไพรวัลย์ ฤทธิมหา ประธานสหภาพแรงงานน้ำตาลกุมภวาปี และนายถิรวัฒน์ สุทธายาคม อดีตประธาน ร่วมกันเปิดเผยว่า โรงงานชี้แจ้งการปิดกิจการว่า ผู้ถือหุ้นบอกทำต่อไปไม่ไหว การประชุมเมื่อ 7 มิ.ย.ที่ผ่านมา มีนโยบายและพิจารณาแล้วว่า ให้ปิดกิจการโรงงาน ปีนี้จะไม่มีการหีบอ้อย และสาเหตุเพราะจากการขาดทุนสะสม

อีกทั้งทางโรงงานไม่ได้ชี้แจ้งว่าจะให้ไปอยู่ยังไงต่อ แต่แจ้งว่าทางโรงงานพร้อมที่จะจ่ายค่าชดเชย ให้กับพนักงานทุกคนมากกว่ากฎหมายกำหนด โดยในโครงการนี้ชื่อว่า “จากกันด้วยดี” โรงงานได้ให้เราตัดสินใจก่อน 12 มิ.ย.นี้ ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ก็จะเห็นด้วยกับข้อเสนอ

นายถิรวัฒน์ กล่าวว่า มันก็ยังเป็นเรื่องงงอยู่ และก็ตกใจอยู่เหมือนกัน ในเมื่อสภาวะมันเกิดขึ้นแบบนี้ ทางโรงงานนั้นไปต่อไม่ได้ ตนก็ต้องยอมรับกับสิ่งที่มันเกิดขึ้น ถ้าถามว่าตนเสียใจไหม ตอบเลยว่าเสียใจจริง ๆ เพราะว่าตนนั้นอยู่ที่นี่มานานมาก มาอยู่ตั้งแต่ พ.ศ. 2525 โรงงานนี้ให้ตนมาตลอด ส่งลูกเรียนหนังสือจนจบ แล้วมีครอบครัวไปหมดแล้ว ก็ได้จากโรงงานที่นี่

ตนสงสารพนักงานในโรงงานบางคน ลูกก็ยังเรียนหนังสืออยู่ ก็ต้องได้มาตั้งเริ่มต้นชีวิตกันใหม่ ตนนั้นมาจาก จ.กระบี่ และก็มาอยู่ที่นี่ 39 ปี และอีก 5 เดือนตนก็จะเกษียณแล้ว ตนนั้นมีความผูกพักกับโรงงานมากที่สุด