“สุธี ทองแย้ม” ผู้ว่าฯจันท์ รุกแก้ปมขับเคลื่อนเศรษฐกิจท่ามกลางโควิด

จันทบุรีหนึ่งในจังหวัดภาคตะวันออกที่มีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัดกว่าแสนล้านบาท โดยเฉพาะรายได้จากทุเรียน มังคุด และธุรกิจค้าพลอยแต่ เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาดในช่วงฤดูกาลผลไม้ปี 2564

และพบคลัสเตอร์ชาวแอฟริกันที่มาค้าพลอยติดโควิด ทำให้ถูกจัดเป็นพื้นที่สีแดงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ “สุธี ทองแย้ม” ซึ่งก้าวเข้ามารับตำแหน่ง “ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี” หมาด ๆ แทบไม่มีเวลาตั้งตัว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ผู้ว่าฯสุธี ถึงแนวทางการแก้ปัญหาต่าง ๆ และทิศทางการบริหารเศรษฐกิจ ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19

ชูเกษตรนำ-3 เสาหลักเศรษฐกิจวูบ

ผู้ว่าฯสุธีเล่าว่า แรกเริ่มมารับตำแหน่งผู้ว่าฯ คิดว่ามีต้นทุนดี เพราะเคยเป็นนายอำเภอนายายอามและอำเภอท่าใหม่มาก่อน และคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ รับฟังข้อมูลต่าง ๆ เพื่อประมวลผล วิเคราะห์วางแผนแก้ไขปัญหาและวางแนวทางการพัฒนา

แต่เมื่อลงพื้นที่จริงได้รับฟังปัญหาต่าง ๆ แล้วเวลา 1 เดือนยังไม่พอ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาคุณภาพทุเรียน ที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของจังหวัดจันทบุรี ต้องเร่งดำเนินการด่วนก่อนผลผลิตออกสู่ตลาด

ขณะที่ทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจจังหวัดจันทบุรีต้องก้าวต่อไปท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงและขยายตัวของเศรษฐกิจและยังไม่ทราบว่าสถานการณ์โควิด-19 จะสิ้นสุดเมื่อไหร่

โครงสร้างเศรษฐกิจสำคัญของจันทบุรี ประกอบด้วย 4 เสาหลัก คือ ภาคเกษตรกรรม อัญมณี ภาคท่องเที่ยวและการค้าชายแดน เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด-19 ธุรกิจอัญมณีลดลงต่ำกว่า 50% ต้องประกาศปิดตลาดพลอยจันท์ ตลาดจีน อินเดีย ยุโรป มีข้อจำกัดการเดินทางเข้าประเทศ

สินค้าอัญมณีต้องสัมผัสและดูด้วยตา การซื้อขายทำได้เพียงตลาดภายในประเทศและชาวต่างประเทศอยู่ในไทย ด้านการค้าชายแดนเปิดด่านได้เพียง 2 แห่ง บ้านแหลม บ้านผักกาด คนกัมพูชาข้ามมาไม่ได้ การค้าขายลดลงเหลือประมาณ 50% ด้านธุรกิจท่องเที่ยวลดลงแทบเหลือ 0%

ด้วยข้อจำกัดการเดินทางเหลือเพียงภาคเกษตรกรรม ผลไม้หนึ่งเดียวโดยเฉพาะทุเรียน ที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจทำรายได้จำนวนมากให้ชาวจันทบุรีในช่วงผลกระทบจากโควิด-19ประมาณ 50,000-60,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน และมังคุดเริ่มทยอยส่งออกต่างประเทศ แต่ปริมาณผลผลิตปีนี้ลดลงเกือบ 50%

รุกทำ “ทุเรียน” คุณภาพส่งออก

สุธีกล่าวว่า จันทบุรีมีศักยภาพเป็นมหานครผลไม้ สิ่งเดียวที่ต้องกลับมามองคือ มีเป้าหมายต้องผลิตผลไม้ที่มีคุณภาพ เพื่อจะทำให้ราคาดี ตลาดกว้างที่่ผ่านมาผลไม้ประมาณ 90% ส่งออกไปตลาดจีน

สำหรับปัญหาของเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนมีหลายเรื่อง เช่น ปัญหาฝนแล้ง ต้องไปดูภาพรวมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ว่าเป็นอย่างไร และใช้วิธีการบริหารจัดการเวลาปิด-เปิด จำกัดปริมาณปล่อยน้ำในอ่างเก็บน้ำ เขื่อน โชคดีที่ปริมาณน้ำฝนในเขื่อน อ่างเก็บน้ำมากพอ

จึงรอดพ้นวิกฤตภัยแล้งมาได้ นอกจากนี้ ต้องแก้ปัญหาภาพรวมผลไม้ภาคตะวันออก จันทบุรี ระยอง ตราด ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องทุเรียนอ่อนสะสมมานาน และเกิดขึ้นประจำทุกปี

รวมถึงปัญหาใหม่ที่ต่างชาติกังวลว่าทุเรียนอาจจะมีการ
ปนเปื้อนเชื้อไวรัสโควิด-19 ถือเป็นปัญหาภาพรวมที่ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้ตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดจีน

จึงร่วมกับสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 (สวพ.6) ส่งเสริมให้เกษตรกรทำ GAP และโรงบรรจุ (ล้ง) ทำ GMP และร่วมกับสมาคมทุเรียนไทย สมาคมผู้ประกอบการส่งออกทุเรียน มังคุด สมาคมการค้าผลไม้ยุคใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาลตำบลท่าช้าง

สร้างมาตรการป้องกันการปลอดเชื้อโควิด-19 ใน 3 ส่วน คือ การขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ โรงคัดบรรจุ (ล้ง) และสวน พร้อมทำคลิปวิดีโอ แผ่นพับ ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ในตลาดต่างประเทศ

ส่วนภายในประเทศจัดอบรมมือตัดทุเรียน 200 คน ใช้มาตรการทางกฎหมาย ประกาศวันตัดทุเรียนหมอนทอง ตรวจสอบการส่งออก กำหนดโทษความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 271 จับกุมผู้กระทำความผิด 6-7 ราย ส่งศาลดำเนินคดีอาญา

“มาตรการป้องกันปัญหาทุเรียนอ่อนในปีนี้ ทำให้ทุเรียนที่ส่งออกไปได้รับความเชื่อถือเรื่องคุณภาพ ส่งผลต่อออร์เดอร์ตลาดจีนมากขึ้น ราคาทุเรียนสูงเป็นประวัติการณ์ช่วงเปิดฤดูราคา 200-220 บาท/กก.

และปลายฤดูราคายังอยู่ที่ 150-170 บาท ทำให้ทุเรียนไทยเป็นที่ยอมรับ อนาคตระยะ 3-5 ปี ตลาดทุเรียนยังมีแนวโน้มที่ดี เกษตรกรหันมาปลูกทุเรียนกันมากขึ้น จากข้อมูลเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจริง ๆ มีจำนวนมากกว่าพื้นที่ขึ้นทะเบียน สิ่งสำคัญ เกษตรกรต้องตระหนักคือ

ปัญหาการแย่งชิงน้ำ จากปริมาณน้ำที่มีจำกัด เกษตรกรต้องเตรียมแหล่งน้ำของตัวเอง บริหารจัดการน้ำใต้ดินให้เพียงพอ และการสร้างคุณภาพทุเรียนให้เหนือกว่าคู่แข่งขัน มีระบบตรวจสอบย้อนกลับด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ด”

ปรับผังเมืองรองรับการลงทุน

ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรีกล่าวถึงทิศทางการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อรองรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาจังหวัดจันทบุรีว่า เห็นด้วยที่จะมีการปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองจันทบุรี ตามที่ท้องถิ่น ภาคเอกชนหลายหน่วยงานเสนอมา

โดยสภาอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี มีแผนพัฒนาด้านอุตสาหกรรมจังหวัดจันทบุรี ปี 2564-2568 ให้เป็นระเบียงอาหารและผลไม้ภาคตะวันออก (Eastern Food and Fruit Corridor : EFFC) เชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตและการจำหน่ายอาหารและผลไม้สู่ตลาดต่างประเทศ

ซึ่งต้องปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองจันทบุรี โดยกำหนดโซนนิ่งการใช้ประโยชน์ที่ดินให้ชัดเจน เพื่อส่งเสริมการลงทุนด้านต่าง ๆ การสร้างโรงงานแปรรูปผลไม้นอกจากทุเรียนที่มีปริมาณมาก ยังมีผลไม้อื่น ๆ แปรรูปให้มีมูลค่าสูงได้ เช่น มังคุด ลำไย ลองกอง สละ รวมทั้งอาหาร

ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับท้องถิ่นว่าเป็นอุตสาหกรรมเกษตรสีเขียว ปราศจากมลพิษสอดคล้องกับวิถีคนจันท์

“การปรับปรุงผังเมืองรวมเมืองจันทบุรี คณะกรรมการผังเมืองจังหวัดเป็นผู้พิจารณา เป็นเรื่องสำคัญควรเร่งดำเนินการ เพื่อให้เศรษฐกิจจังหวัดเติบโต กระจายรายได้ จ้างงาน สร้างมูลค่าเพิ่มอนาคตปริมาณทุเรียนที่เพิ่มมากขึ้น ราคา ตลาด

น่าจะผันผวน ต้องเตรียมห้องเย็น การแปรรูป กำหนดโซนนิ่ง เลือกพื้นที่มีศักยภาพแปลงใหญ่ของภาคเอกชน เพื่อให้มีผู้สนใจลงทุนจริง ๆ จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ กระจายรายได้ เพราะถ้าปรับเปลี่ยนแล้วไม่มีผู้ลงทุน

ปรับแก้ไขผังเมืองไปไม่เกิดประโยชน์ ยกตัวอย่างโครงการที่กล้าเข้ามาลงทุนในจังหวัดจันทบุรีก่อน ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลพลาซา จันทบุรี ซึ่งอาจจะเกิดผลกระทบกับร้านเล็ก ๆ

ระยะแรกต้องปรับตัวแต่ถ้ามองในข้อดีจะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจ ต่อไปจะมีนักท่องเที่ยวทั้งคนไทย ต่างประเทศ ชาวกัมพูชามาใช้บริการด้านการแพทย์สุขอนามัย เข้ามาจับจ่ายใช้สอย และทำให้การลงทุนต่าง ๆ ตามมาตามแนวทางการพัฒนาเป็น smart city และ MICE city การพัฒนาภาคเศรษฐกิจเอกชนต้องนำ รัฐเป็นผู้สนับสนุนอำนวยความสะดวก”