สมุทรสาคร ติดโควิด 725 ราย เร่งปรับ รพ.สนามรับผู้ป่วยสีเหลืองล้น

สมุทรสาครโควิดทะลุ 725 ราย ผู้ว่าฯรับวิกฤตกว่าที่คิด เร่งปรับรพ.สนามรับผู้ป่วยสีเหลืองล้น

วันที่ 18 กรกฎาคม 2564 รายงานข่าวจากสมุทรสาครเปิดเผยสถานการณ์โควิด-19 วันที่ 17 กรกฎาคม 2564 เวลา 24.00 น. พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 725 ราย แบ่งเป็น 1.ผู้ติดเชื้อจากการค้นหาเชิงรุก 224 ราย 2.ในโรงงานที่ทำ Bubble&Seal และในเรือนจำ รวม 48 ราย3.ภายในโรงพยาบาล 453 ราย แบ่งเป็นในจังหวัด 354 ราย และนอกจังหวัด 99 ราย เสียชีวิต 9 ราย รวมยอดผู้ติดเชื้อสะสม 34,789 ราย ขณะนี้มีผู้ป่วยอยู่ระหว่างรักษา 17,492 รายรักษาหาย 8,560 ราย

นายวีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า วันนี้สถานการณ์โควิด-19 สมุทรสาครมวิกฤตกว่าที่คิด ตัวเลขการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทะลุ 700 ราย สร้างความหนักใจให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอย่างมาก เพราะเตียงภายในโรงพยาบาลไม่พอมาหลายสัปดาห์แล้ว

ตอนนี้อัตราการครองเตียงมากกว่า 100% จากจำนวนเตียงทั้งหมด 3,000 เตียง แต่วันนี้คนที่ป่วยนอนในโรงพยาบาบมากกว่า 1,000 เตียง ความจำเป็นเร่งด่วนตอนนี้ได้จัดตั้งศูนย์ดูแลตนเองในระบบชุมชนให้กับผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 (Community Isolation-CI) หรือที่คนสมุทรสาครเรียกกันว่า”ศูนย์พักคอยคนสาคร”ได้ประมาณ 40 แห่ง เกือบทุกตำบลแล้ว รองรับผู้ป่วยได้ 4,000 คน บางส่วนเปิดดำเนินการได้แล้ว 10 แห่งที่เหลือทยอยเปิด

“ตัวเลขผู้ป่วยในแต่ละวันมีปริมาณมากขึ้น การจัดตั้งศูนย์พักคอย เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีอาการน้อย หรือไม่มีเลย แยกตัวออกจากชุมชนมาอยู่ที่ศูนย์พักคอยนี้หากจัดตั้งศูนยพักคอยช้า คนป่วยที่เป็นโควิดจะไม่มีที่อยู่ จะกลับไปอยู่ในชุมชนจะแพร่ระบาดให้เกิดขึ้นได้ง่าย ดังนั้นศูนย์พักคอยหรือ CI จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งต่อการดำเนินการแก้ปัญหาสถานการณ์โควิด-19 ในสมุทรสาคร”

ในหลักการแต่ละตำบลแต่ละหมู่บ้าน ควรจะมี CI ของตนเอง เพื่อรองรับผู้ป่วยจากโควิดมาพักรักษาตัวที่ศูนย์พักคอยคนสาคร ทั้งนี้ บางตำบลที่ยังไม่พร้อมยังมีข้อกังวลเรื่องการบริหารจัดการเรื่องทำห้องน้ำ การจัดเก็บขยะติดเชื้อ การให้ยาฟ้าทะลายโจรต่างๆ ให้ในปริมาณมากน้อยในผู้ป่วยที่อาการแตกต่างกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคล้ายการจัดการโรงพยาบสนามขนาดย่อม เรื่องนี้ต้องดำเนินการอย่างรอบครอบ ซึ่งได้เน้นย้ำไปยังนายอำเภอทั้ง 3 อำเภอ

นอกจากการตั้งศูนย์พักคอยคนสาคร ยังมีแนวคิดที่จะจัดตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยสีเหลืองที่มีอาการที่ต้องใช้ออกซิเจนมาอยู่โรงพยาบาลสนาม ใน”โครงการต่อลมหายใจให้คนสาคร”เพื่อจะทำให้เตียงของผู้ป่วยสีเหลืองในโรงพยาบาลว่างขึ้น จะได้นำผู้ป่วยที่มีอาการหนักต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเข้าไปอยู่ในโรงพยาบาลมากขึ้น แต่การทำต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งปกติต้องใช้เวลา 1 เดือน ได้บอกให้ตัดขั้นตอนทุกอย่างดำเนินการให้เสร็จภายใน 1 สัปดาห์

ได้ข้อสรุปจะใช้โรงพยาบาลสนามแห่งที่ 10 ของสภาอุตสาหกรรมที่มีอยู่เป็นโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยสีเหลืองแต่ทำทีนที่ไม่ได้ต้องรอโรงพยาบสนามนาดีที่กำลังก่อสร้างแล้วเสร็จ เพื่อย้ายผู้ป่วยเดิมที่ไม่มีอาการออกมาอยู่ที่โรงพยาบาลสนามแห่งใหม่ก่อน

“ตอนนี้ต้องทำงานแข่งกับเวลา ซึ่งการทำงานมีปัญหาอุปสรรค ต้องขอโทษคนสมุทรสาครที่บางครั้งการทำงานไม่ทันใจ แต่คนป่วยจำนวนมากกว่าที่ประมาณการไว้ โดยเฉพาะโควิดสายพันธุ์เดลต้ารุนแรง และแพร่ระบาดง่าย”

อย่างไรก็ตาม มีบางคนถามว่าทำไมไม่จัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพิ่มขึ้น พูดตรงๆว่า สถานที่พอจัดหาได้ แต่อัตรากำลังของบุคลากรทางการแพทย์ไม่สามารถจัดหามาเพิ่มได้ เพราะวันนี้สถานการณ์ไวรัสโควิดที่สมุทรสาครไม่ได้เกิดขึ้นที่สมุทรสาครแห่งเดียว แต่เกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้า ตอนนี้ไม่เหมือนสถานการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในตลาดกุ้งเมื่อช่วงปลายปี2563 ต้นปี 2564 ซึ่งช่วงนั้นบุคลากรทางการแพทย์หลายจังหวัดส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยสมุทรสาครจำนวนมาก แต่วันนี้ทุกจังหวัดเกิดปัญหาเข่นเดียวกัน

จึงต้องจัดตั้ง CI เพื่อให้เจ้าหน้าบุคลากรทางการแพทย์ระดับตำบล โดยเฉพาะสาธารณสุขอำเภอ หัวหน้าโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)นายอำเภอ และบุคลากรต่างๆในชุมชนช่วยกัน โดยมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นช่วยกันสนับสนุน