ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ชงโมเดล M-S-W ฟื้นท่องเที่ยวเชียงใหม่

เชียงใหม่
Lillian SUWANRUMPHA / AFP
สัมภาษณ์

ผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด (GPP) ของจังหวัดเชียงใหม่ เฉลี่ยต่อปีราว 250,000 ล้านบาท โดยภาคธุรกิจท่องเที่ยวและบริการกินสัดส่วนไปกว่า 50% ส่งผลให้ธุรกิจที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักอยู่ในภาวะเจ็บหนัก

“ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์ “ธาริฑธิ์ ปั้นเปี่ยมรัษฎ์” ผู้อำนวยการอาวุโส ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ ที่เสนอโมเดลในการฟื้นตัว (recovery) ของภาคธุรกิจท่องเที่ยวเชียงใหม่ทั้งระบบ เพื่อดึงเม็ดเงินกว่า 125,000 ล้านบาทกลับคืนสู่ระบบในอนาคต

ธาริฑธิ์-ปั้นเปี่ยมรัษฎ์

ตั้งรับมีระบบ-ปรับตัวเชิงรุก

ธาริฑธิ์บอกว่า จังหวัดเชียงใหม่ถูกขับเคลื่อนด้วยการท่องเที่ยว ซึ่งกินสัดส่วนไปกว่า 50% ของ GPP ในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามากว่า 11 ล้านคน สร้างรายได้กว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี

แต่โควิด-19 ทำให้เชียงใหม่เผชิญความท้าทายทั้งระยะสั้นและระยะยาว จึงต้องรับมือกับความท้าทายนี้อย่างเป็นระบบและปรับตัวในเชิงรุก

ทั้งนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ลดลงมากกว่าครึ่งในปี 2563 หรือสูญเสียรายได้ไปกว่า 6 หมื่นล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 2562 โดยการระบาดระลอกแรก

หลังประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวด ส่งผลให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ลดลงเหลือเพียง 5.9% ระลอกสอง อัตราการเข้าพักอยู่ที่ 24% และระลอกสาม

อัตราการเข้าพักลดลงอยู่ที่ 9.2% คาดว่าจะเห็นตัวเลขในระดับต่ำแบบนี้ไปจนกว่าจะได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง

“นักท่องเที่ยวต่างชาติคงยังไม่กลับมาในช่วงเวลาอันใกล้นี้ นักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งปี 2564 คาดว่าเหลือเพียง 4 แสนคน และปี 2565 อาจกลับมาได้เพียง 6 ล้านคน จากเดิมภาวะปกติเคยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในประเทศไทยกว่า 40 ล้านคน”

ลุ้นเชียงใหม่แซนด์บอกซ์

ธาริฑธิ์อธิบายว่า การที่ภาคเอกชนเชียงใหม่ผลักดันโครงการ Charming Chiang Mai Sandbox เป็นรูปแบบการท่องเที่ยวแบบ sealed route กำหนดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางท่องเที่ยวตามเส้นทางที่วางไว้ในพื้นที่ที่กำหนด 4 พื้นที่

ได้แก่ อำเภอเมือง แม่ริม แม่แตง และดอยเต่า ความท้าทายข้อแรกของโครงการนี้ คือ การออกแบบเส้นทางท่องเที่ยว การบริหารจัดการที่ดีและรัดกุม โจทย์สำคัญคือจะออกแบบ sealed route อย่างไร

ให้เกิดความปลอดภัยกับทั้งคนในพื้นที่ และจะแยกออกจากนักท่องเที่ยวในประเทศอย่างไร

ความท้าทายข้อที่สอง คือ อัตราการฉีดวัคซีนของคนในพื้นที่ยังอยู่ในระดับต่ำ ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่มีผู้ได้รับวัคซีนเพียง 9.07% (ข้อมูล ณ วันที่ 25 ก.ค. 64) การได้รับวัคซีนจนสามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ควรอยู่ในระดับ 70-80% ของประชากรจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักท่องเที่ยวได้

และความท้าทายข้อสุดท้าย คือ จะกระจายรายได้จากโครงการนี้ให้ทั่วถึงอย่างไร เนื่องจากผู้ประกอบการหลักที่จะได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ยังมีอยู่อย่างจำกัดเฉพาะธุรกิจที่มีมาตรฐาน SHA และ SHA Plus ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เท่านั้น

คาดว่าในเบื้องต้น โครงการนี้จะส่งผลต่อเศรษฐกิจเชียงใหม่ไม่มากนัก เนื่องจากในระยะแรกอาจมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไม่มาก อีกทั้งผู้ประกอบการที่จะได้ประโยชน์ยังมีจำกัด เฉพาะธุรกิจที่มี SHA และ SHA Plus เฉพาะที่อยู่ใน sealed route

อย่างไรก็ดี โครงการนี้จะมีส่วนช่วยสร้างความเชื่อมั่น และเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการปรับตัวรองรับการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ต่อไป

รร.-ร้านอาหาร-สปา-รถเช่าอ่วม

ธาริฑธิ์กล่าวต่อไปว่า โรงแรมระดับ upscale-luxury ในจังหวัดเชียงใหม่ มีอยู่ราว 10% ของโรงแรมทั้งหมด ที่ผ่านมาปิดกิจการชั่วคราวและถาวรไปกว่า 70% ส่วนที่ยังเปิดให้บริการมีอัตราการเข้าพักเพียง 10%

ในระยะสั้น โรงแรมกลุ่มนี้หันมาปรับตัวรับนักท่องเที่ยวชาวไทยมากขึ้น โดยการลดราคาลง ส่งผลกระทบต่อโรงแรมกลุ่ม midscale ที่มีสัดส่วน 25% ได้ถูกแบ่งตลาดไป ส่วนโรงแรมกลุ่ม budget มีสัดส่วนมากถึง 65%

ที่ผ่านมามีการปิดกิจการทั้งชั่วคราวและถาวรจำนวนมาก หากโรงแรมกลุ่มนี้ไม่ปรับตัวและนักท่องเที่ยวกลุ่มเดิมยังเข้ามาไม่ได้ โดยเฉพาะกลุ่ม backpack และทัวร์จีนที่เน้นปริมาณ แต่ margin ต่ำอาจทำให้ฟื้นตัวได้ยาก

การปรับตัวระยะยาวของธุรกิจโรงแรม คือ การปรับตัวรับนักท่องเที่ยวไทย โดยเฉพาะตลาดประชุม กีฬา การปรับตัวรับเทรนด์ท่องเที่ยวหลังโควิด เช่น การประชุมและอีเวนต์ระหว่างประเทศ ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การพำนักระยะยาว และการปรับใช้เทคโนโลยี เป็นต้น

ธาริฑธิ์บอกว่า สำหรับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่างร้านอาหาร นวดสปา และรถเช่า ก็ถูกกระทบมากเช่นกัน ร้านอาหารในเชียงใหม่มีกว่า 14,000 ร้าน สร้างรายได้กว่า 16,000 ล้านบาทต่อปี ธุรกิจนวดสปาสร้างรายได้กว่า 890 ล้านบาทต่อปี ส่วนธุรกิจรถเช่ามีมากกว่า 5,000 คัน สร้างรายได้กว่า 208 ล้านบาทต่อปี

ร้านอาหารรายได้หายไปกว่า 80% การปรับตัวส่วนใหญ่หันมาขายผ่านดีลิเวอรี่ แต่ช่วยชดเชยยอดขายได้เพียง 20-30% ธุรกิจนวดสปาปัจจุบันการระบาดระลอก 3 พบว่าธุรกิจนี้ปิดตัวกว่า 70%

ขณะที่ธุรกิจรถเช่า พบการปิดตัวของธุรกิจนี้จำนวนมากเช่นกัน เนื่องจากผู้ประกอบการไม่มีรายได้ผ่อนชำระค่างวด ติด blacklist finance และจอดรถทิ้งไว้กว่า 80% การปรับตัวส่วนใหญ่คือการนำรถไปใช้ขนส่ง delivery แทน หรือจอดรถทิ้งไว้ เพื่อลดต้นทุนน้ำมัน

“มาตรการทางการเงินสามารถบรรเทาปัญหาสภาพคล่องชั่วคราวได้ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหารายได้ในระยะปานกลาง-ยาว ที่ลดลงหรือหายไปได้ ธุรกิจร้านอาหาร นวดสปา และรถเช่าต้องรับมือ demand ที่อาจจะไม่กลับมาระดับเดิมใน 1-2 ปีข้างหน้า โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่ม budget”

เจาะตลาด M-S-W ฟื้นเศรษฐกิจ

ธาริฑธิ์มองว่า ในระยะยาวการท่องเที่ยวของเชียงใหม่ต้องวางเป้าหมายให้ชัดเจน ปรับตัวรองรับนักท่องเที่ยวต้องเน้นทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มสูง โดยเฉพาะตลาดที่มีศักยภาพสูงและมีความเป็นไปได้ คือ ตลาด M-S-W

ได้แก่ ประชุมสัมมนา (MICE) กีฬา (sport) และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (wellness) ซึ่งเชียงใหม่พร้อมรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้อยู่แล้ว

อีกทั้งตลาดกลุ่มนี้มีปริมาณนักท่องเที่ยวมากเพียงพอกับ capacityที่พักในเชียงใหม่ที่มีอยู่สูงมาก จะช่วยสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น แต่หากไปเน้นตลาดเฉพาะกลุ่มมากเกินไป เช่น เน้นเฉพาะ green อย่างเดียว ปริมาณนักท่องเที่ยวอาจไม่เพียงพอ

โจทย์ต่อไปคือ เชียงใหม่จะทำอย่างไรที่จะดึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายเหล่านี้เข้ามาได้ นอกจากนี้ การปรับใช้เทคโนโลยีในการทำการตลาดเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องเร่งทำ

“อยากให้มองภาพด้วยความจริงว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติคงไม่กลับเข้ามาเร็ว อาจไม่เห็นภาพแบบในอดีตในระยะเวลาใกล้ ๆ ดังนั้นอาจต้องหาทางเลือกอื่นเพื่อจัดการกับธุรกิจในช่วงนี้”

บริหารต้นทุน-เจรจาหนี้แบงก์

ธาริฑธิ์บอกว่า เมื่อมองภาพไปข้างหน้าจะแบ่งออกเป็นช่วงระยะสั้นจนถึงสิ้นปี 2564 คาดว่าการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่จะทยอยฟื้นช่วงปลายไตรมาส 4 นักท่องเที่ยวกลุ่มหลักยังคงเป็นนักท่องเที่ยวไทย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงนี้ธุรกิจท่องเที่ยวต้องพยายามบริหารจัดการต้นทุนให้มีประสิทธิภาพ เพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติคงยังไม่เข้ามามากนัก นอกจากนี้ควรเร่งเจรจากับแบงก์เพื่อปรับโครงสร้างหนี้

โดยปี 2565 ภาพรวมคาดว่าจะเป็นการฟื้นตัวของนักท่องเที่ยวชาวไทย โดยภาครัฐจะต้องมีมาตรการเข้ามาสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ และระยะยาว ปี 2566 เป็นต้นไป

ภาคการท่องเที่ยวเชียงใหม่ควรเร่งปรับศักยภาพเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวกลุ่มเป้าหมายใหม่ทั้งปริมาณและมูลค่าเพิ่มสูง

โดยเฉพาะตลาดประชุมสัมมนา (MICE) กีฬา (sport) และท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (wellness) โดยจะต้องมีแผนที่ชัดเจนเพื่อผลักดันสู่การท่องเที่ยวแบบ new normal ในอนาคต

โมเดล M-S-W เป็นโจทย์ท้าทายที่ต้องวางแผนและกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจน เป็นหนึ่งในกลไกการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และแนวทางการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเชียงใหม่ เพื่อดึงเม็ดเงินกว่า 1.2 แสนล้านบาท กลับคืนสู่ระบบในอนาคต