เลยดัน “เชียงคานแซนด์บอกซ์” นำร่องในอีสานรับไฮซีซั่น Q4

การท่องเที่ยวในประเทศเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น หลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไปนานนับปี ตั้งแต่ระลอกที่ 1 จนกระทั่งถึงระลอกที่ 4 แม้สถานการณ์ยังไม่เข้าสู่ภาวะปกติ แต่ก็คลี่คลายลงพอสมควร ทำให้เห็นภาพความเคลื่อนไหวของผู้คนที่เริ่มออกจากบ้านไปยังสถานที่ต่าง ๆ มากขึ้น และช่วงนี้เรียกว่านับถอยหลังเข้าสู่ไฮซีซั่นของภาคเหนือ และภาคอีสานแล้ว

โดยหนึ่งในแลนมาร์กของภาคอีสานอย่างจังหวัดเลย เป็นอีกหนึ่งจุดหมายยอดนิยมของนักท่องเที่ยวชาวไทยในช่วงนี้ ที่กำลังมีทิศการการฟื้นตัวขึ้นตามลำดับ

สัญญาณบวกคนเที่ยว 40%

“ณัฐพล เหลืองวงศ์ไพศาล” ประธานหอการค้าจังหวัดเลย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 กราฟการท่องเที่ยวจังหวัดเลยค่อย ๆ ขยับขึ้นเรื่อย ๆ จากศูนย์ขึ้นมาเป็น 30-40% ยิ่งภาพรวมการติดเชื้อที่ลดลงตั้งแต่ระดับประเทศจนถึงระดับจังหวัด ทำให้ผู้คนคลายความกังวลลงมาก นักท่องเที่ยวรอบจังหวัดเลยเริ่มออกจากบ้านมาเที่ยว สังเกตได้ว่าช่วงวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ ถนนคนเดินเชียงคานมีความคึกคัก ในสถานประกอบการร้านอาหาร รวมไปถึงโรงแรมเช่นเดียวกัน

ในจังหวัดเลยยังมีแหล่งท่องเที่ยวหลายแห่ง นอกจากแหล่งท่องเที่ยวหลัก เช่น เชียงคาน ถัดมาคือ ภูเรือ และอำเภอหนองหิน ภูกระดึง และอื่น ๆ อีกมาก มีแหล่งท่องเที่ยวที่น่าสนใจอยู่ในทุกอำเภอ

หากไม่มีการแพร่ระบาดระลอกที่ 5 ช่วงไฮซีซั่นปลายปีนี้คาดว่าจะเกิดนิวไฮ ยอดนักท่องเที่ยวจะพุ่งสูงกว่าเดิม เพราะผู้คนค่อนข้างเก็บกดกับการไม่ได้ออกนอกบ้าน และจะยิ่งออกจากบ้านมากกว่าเดิม

ปกตินักท่องเที่ยวในจังหวัดเลยสูงสุดอยู่ที่ 3.2 ล้านคนต่อปี ช่วงโควิด-19 ในปี 2563 เหลือเพียง 1.6 ล้านคน ต้นปีนั้นนับได้เป็นศูนย์ แต่ปลายปีมียอดจากโครงการของภาครัฐที่เข้ามาสนับสนุน ตัวเลขจึงไม่หายไปทั้งหมด

ชูท่องเที่ยวเกษตร-ชุมชน

ด้านรายได้ด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 4.5 พันล้านบาทต่อปี เป็นอันดับ 2 รองจากรายได้หลักด้านการเกษตร ที่มีมูลค่าอยู่ที่ 5-6 พันล้านบาท สัดส่วนการท่องเที่ยวถือว่ามาแรงใกล้เคียงกับการเกษตร จึงมีแนวคิดนำการท่องเที่ยวไปเชื่อมโยงกับเกษตรด้วยส่วนหนึ่ง เช่น เที่ยวในฤดูกาลเก็บผลไม้

สำหรับสถิติเดิมค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยวต่อคนเฉลี่ยอยู่ที่ 1,700 บาท ทางหอการค้ากำลังพยายามผลักดันให้เพิ่มขึ้นอยู่ ด้วยการนำเสนอสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์ในชุมชน และอาหารที่มีความเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน

ดึงดูดการใช้จ่ายจากนักท่องเที่ยวมากขึ้น โดยมีหน่วยงานจากภาครัฐเข้ามาร่วมสนับสนุนและจัดอบรมเรื่องนี้ เช่น การนำผ้าฝ้ายจากขายเป็นผืนธรรมดา นำมาปรับเปลี่ยนให้เป็น หมวก กระเป๋า เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม

“นอกจากผลิตภัณฑ์ชุมชน เราได้สนับสนุนและพยายามทำรูปแบบการท่องเที่ยวแบบนิวนอร์มอล เราไม่ได้ยึดตามกระแส แต่ตระหนักดีว่าคนยังกลัวการเข้าพักรีสอร์ต โรงแรม ที่เป็นห้องรวม

ต้องใช้ท่อแอร์ร่วมกันกับคนอื่น คนส่วนใหญ่อยากพักส่วนตัวแบบบ้านเป็นหลัง หรือแยกส่วนกัน ฉะนั้น จึงนำความต้องการนี้มาผนวกเข้ากับภูมิประเทศที่เรามี ทั้งแม่น้ำ ภูเขา ส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบใหม่ แบบแคมปิ้ง ตอนนี้กำลังมาแรง

หลังฤดูเก็บเกี่ยวจากภาคเกษตรของชาวบ้านจะมีดินรกร้างว่างเปล่าค่อนข้างเยอะ ตรงไหนวิวสวยให้ดึงนักท่องเที่ยวเข้ามา โดยชาวบ้านไม่ต้องลงทุนอะไรเลย นอกจากทำห้องน้ำ อำนวยความสะดวก เป็นการกระจายรายได้สู่คนระดับรากหญ้า สอดคล้องกับมาตรการรัฐด้วย”

พฤติกรรมนักท่องเที่ยวเปลี่ยนไป นับตั้งแต่เกิดการระบาดโควิดในระลอก 2 จากรอบแรกหยุดชะงักทั้งหมด มารอบ 2 ต่างคนต่างมีสติ และเที่ยวอย่างระมัดระวัง

โควิด 4 ระลอกกิจการล้มหาย

“ณัฐพล” บอกว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมาส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการธุรกิจมีล้มหายปิดกิจการไปบ้าง แต่ไม่มาก เพราะทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีการทำงานร่วมกันตลอด

มีการเตรียมความพร้อมสำหรับผลกระทบที่จะตามมาในทิศทางเดียวกัน การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดเลยจึงไม่สูงนัก ทุกฝ่ายประคับประคองขับเคลื่อนไปได้

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาจังหวัดเลยไม่เคยมีการล็อกดาวน์ มีเพียงมาตรการควบคุมโรคเท่านั้น ดังนั้น ภาคการท่องเที่ยวสามารถสร้างรายได้ให้กับจังหวัดได้ตลอด เพราะนอกจากมีธรรมชาติ ยังมีวัฒนธรรม ประเพณี การแต่งกาย ภาษาพูด

แต่หากให้กลับมาอยู่ในภาวะปกติน่าจะใช้เวลาอย่างน้อย 2-3 ปี และเชื่อว่าโควิด-19 ยังคงจะมีอยู่ต่อไป ไม่ได้หายขาดไปไหน อยู่ที่ว่าเราจะดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการป้องกันโควิดอย่างไร

ดัน “เชียงคานแซนด์บอกซ์”

ขณะเดียวกัน “ณัฐพล” ได้พูดถึงการทำเตรียมแซนด์บอกซ์ หรือ เชียงคานแซนด์บอกซ์ เพื่อเปิดเมืองต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติว่า มีความคืบหน้าไปกว่า 80% อยากจะผลักดันเต็มสูบให้ได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ แม้ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวคนไทยจากต่างจังหวัด ซึ่งมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 95%

“เรากำลังประชุมทำแซนด์บอกซ์เพื่อรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ถือเป็นผู้นำจังหวัดแรกที่จะทำแซนด์บอกซ์ในภาคอีสาน

และจับมือเป็นเส้นทางการเที่ยวไปยังจังหวัดข้างเคียงต่อไป รูปแบบอาจจะไม่เหมือนกัน คนไทยส่วนมากจะขับรถเที่ยวเอง ส่วนต่างชาติอาจมาเป็นกรุ๊ปทัวร์

เรื่องนี้นอกจากการทำงานของภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนก็ต้องมีส่วนร่วมด้วย เราพยายามผลักดันทำมาตรการควบคุมโควิดและรายละเอียดที่ภาคเอกชนสามารถดำเนินการได้ คาดว่าจะเห็นความชัดเจนภายในสิ้นเดือนกันยายนนี้”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะทำให้เศรษฐกิจหลังโควิดฟื้นเร็วที่สุด คือ การจัดอีเวนต์เพื่อกระตุ้นให้นักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัด ทั้งภาคเอกชนและภาครัฐจะต้องช่วยกันควบคุมโควิด-19 อย่างเข้มงวด เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าในอนาคตจะไม่มีใครติดเชื้ออีก เพียงแต่จำกัดวงการแพร่ระบาดให้ได้มากที่สุด