สุทธิพงษ์ จุลเจริญ เปิดผลงาน พช. 6 รางวัลเลิศรัฐ พร้อมส่งไม้ต่ออธิบดีคนใหม่สานต่อโครงการ
หลังจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงประจำปี อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน คนที่ 29 ก็นับเป็นอีกหนึ่งในบุคคลที่จะไปทำหน้าที่เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทยคนใหม่ แทนที่ปลัดกระทรวงคนเดิมที่จะเกษียณอายุราชการลง
ผลการทำงาน 6 รางวัลเลิศรัฐ
“สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” อธิบดีกรมการพัฒนาชุมชน (พช.) คนที่ 29 ซึ่งรับตำแหน่งในปี 2562 ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป จะย้ายไปทำหน้าที่เป็นปลัดกระทรวงมหาดไทย ลำดับที่ 41
โดยตลอดช่วงการทำงานในกรมการพัฒนาชุมชนที่ผ่านมานั้น ได้พยายามขับเคลื่อนงานอย่างเต็มที่ ในภาวะและสถานการณ์ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ร่วมกับบุคลากรทุกคนในกรมการพัฒนาชุมชน และถือว่าการทำงานนั้นเกิดผลเป็นที่น่าพึงพอใจ
โดยกรมการพัฒนาชุมชนสามารถคว้ารางวัลเลิศรัฐ ประจำปี 2564 จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ หรือ ก.พ.ร. ได้ครบทุกหมวดการทำงานถึง 6 รางวัล ประกอบด้วย
1) สาขาคุณภาพการบริหารจัดการภาครัฐ (PMQA) จำนวน 1 รางวัล 2) สาขาบริการภาครัฐ จำนวน 1 รางวัล 3) สาขาบริหารราชการแบบมีส่วนร่วม จำนวน 4 รางวัล และความโปร่งใสในการทำงาน กรมการพัฒนาชุมชนได้คะแนนในระดับดีเลิศถึง 97.05 คะแนน
“เราถือว่ามีภาพรวมที่ดี นอกจากนี้ยังเดินหน้าสู่การเป็นรัฐบาลดิจิทัล ในฐานะหน่วยงานที่ให้บริการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารกับประชาชนสู่ยุค 4.0 มีเพจเฟซบุ๊กปลูกพืช ปลูกผัก ปลูกรักกับ พช. ให้ผู้คนได้ติดตามความเคลื่อนไหวตลอด
แม้เกิดความยากลำบากในการทำงานช่วงโควิด-19 แต่เราก็สร้างความเข้าใจร่วมกัน ไม่ยอมแพ้ ไม่หยุดการทำงาน และมีหน่วยงานบริษัทเอกชนหลายบริษัทมาสนับสนุนเมล็ดพันธุ์พืชส่งต่อให้กับประชาชนด้วย ซึ่งเราตั้งใจจะร่วมพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดีขึ้นได้”
โครงการพัฒนาที่ภาคภูมิใจ
ในการทำงานที่ผ่านมา “สุทธิพงษ์” เล่าว่า กรมการพัฒนาชุมชนได้น้อมนำแนวพระราชดำริของ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากตำบลโก่งธนู เมืองลพบุรี
มาเป็นต้นแบบส่งเสริมในเรื่องความมั่นคงทางด้านอาหารให้กับประชาชนได้กว่า 12 ล้านครัวเรือน ให้ได้กินผักที่ปลูกเอง ปลอดสารเคมี รวมถึงมีการปลูกพืชผักสมุนไพร เพื่อให้คนไทยประหยัดรายจ่ายด้านอาหารได้กว่า 100 ล้านบาทต่อวัน และมีสุขภาพดี มีแหล่งยาสมุนไพรที่ดี
ทั้งนี้ ส่วนสำคัญที่ พช.ภาคภูมิใจอีกอย่าง คือ การน้อมนำพระราชปณิธานของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ในการสืบสาน รักษาต่อยอด ภูมิปัญญาผ้าไทย
จากพระราชปณิธาน สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงนำมาเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนงานตามหัวเมืองต่าง ๆ ในประเทศซึ่งผลิตผ้าไทย
มีเครือข่ายสำคัญคือ สภาสมาคมสตรีแห่งชาติในพระบรมราชินูปถัมภ์ที่เข้ามาเป็นพาร์ตเนอร์ จนทำให้ยอดขายผ้าไทยโตสวนกระแสโควิด-19 ในรอบปีที่ผ่านมามีมูลค่าสูงกว่า 10,000 ล้านบาท
สามารถดันยอดขาย OTOP ในปี 2563 ได้ถึง 258,307,170,315.00 บาท ปี 2564 จำนวน 278,570,418,898.11 บาท แม้ยอดขายสินค้าอื่นจะลดลงไปตามสถานการณ์การระบาดโควิด-19 ประมาณ 20% เพราะไม่สามารถขายสินค้าผ่านช่องทางออฟไลน์ได้ก็ตาม
ขณะเดียวกัน ทางกรมการพัฒนาชุมชนได้ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการปรับตัวสู่ตลาดออนไลน์มากขึ้น โดยแบ่งงบประมาณไปจ้างนักการตลาดรุ่นใหม่มาช่วยฝึกและสร้างเนื้อหาเพื่อขายสินค้าออนไลน์ในแต่ละจังหวัด ซึ่งได้รับการตอบรับและเกิดความคึกคักดีมาก ทำให้ยอดขายยังอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจ
“สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ทรงมีแพสชั่น มีประสบการณ์มาก และทรงได้นำความรู้เรื่องผ้า มาช่วยเหลือพสกนิกรผ่านกรมการพัฒนาชุมชน
ทำให้เกิดประโยชน์กับพี่น้องประชาชนเพิ่มมากขึ้น ที่สำคัญ พระองท่านทำให้เรื่องของภูมิปัญญาผ้าไทยเกิดระบบที่ดีมากตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ มั่นใจได้ว่าระบบงานจะยั่งยืนต่อไปได้
เริ่มตั้งแต่การพิจารณามุมมองของคนรุ่นใหม่ มีการออกแบบให้ถูกกับรสนิยมของผู้คนปัจจุบัน ปรับสู่ยุคสมัยใหม่มากขึ้น มีการปรับสีนำสีธรรมชาติมาใช้ นำดีไซเนอร์จิตอาสาในระดับประเทศเข้ามาช่วยพัฒนาผ้าไทยด้วย”
นอกจากนี้ ครม.มีมติให้คนไทย สวมใส่ผ้าไทย อย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 วัน สอดคล้องกับพระดำริของสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา ที่พระราชทานธีมไว้ว่า “ผ้าไทยใส่ให้สนุก” และทำให้มีโครงการพัฒนาด้านผ้าไทยเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สำหรับด้านการพัฒนาชุมชนที่มีความภาคภูมิใจอีกอย่างคือ หลักสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนให้ดีอย่างยั่งยืน ด้วยหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งกรมการพัฒนาชุมชนทำมาตั้งแต่ปี 2549 กระทั่ง 2 ปีที่ผ่านมา
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชปณิธานแน่วแน่ น้อมนำเกษตรทฤษฎีใหม่มาประยุคสู่ “โคกหนองนา” มีการดำเนินงานในส่วนพระองค์เพื่อเป็นต้นแบบ ที่พระที่นั่งวิมานเมฆ
ทำให้ประชาชนคนไทยเกิดการตื่นตัว มีผู้เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศกว่า 50,000 ครอบครัว เกิดพื้นที่ต้นแบบการพัฒนาคุณภาพชีวิต ส่งต่อความรู้ตามหลักทฤษฎีใหม่ประยุคสู่โคกหนองนาเพิ่มขึ้นกว่า 2-3 หมื่นจุดทั้งประเทศ และเป็นโครงการที่ช่วยนำทางชีวิตให้กับผู้ที่อยากเริ่มชีวิตใหม่ได้อีกด้วย
พร้อมส่งไม้ต่อให้อธิบดีคนใหม่
“สุทธิพงษ์” บอกว่า ยังมีอีกหลายโครงการของกรมการพัฒนาชุมชนที่จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน ในเดือนตุลาคม 2564 เป็นต้นไป อธิบดีคนใหม่จะสานต่องานและเริ่มงานได้ทันทีนอกจากโครงการต่าง ๆ
ของกรมการพัฒนาชุมชนแล้ว จะมีเรื่องการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน หรือที่เราเรียก แก้จน ในหลายมิติ เช่น แก้ปัญหาผู้ป่วยติดเตียง คนไม่มีอาชีพ ไม่มีทุนการศึกษา
ซึ่งอธิบดีกรมการพัฒนาชุมชนจะเป็นเลขาฯ ร่วมกับสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) โดยมี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานขับเคลื่อนระดับชาติ
ปัจจุบันการเตรียมเซตระบบลงสู่ภาคปฏิบัติอย่างสมบูรณ์แบบ เหลือแต่การขับเคลื่อนร่วมกันในทุกภาคส่วนกับองค์กรภาคประชาชนที่จะช่วยกัน อยากให้อดใจรอดูว่าจะสัมฤทธิผลอย่างไร
ถือว่าเป็นความสำเร็จก้าวแรกที่มีแนวทางอย่างครบถ้วน อีกอย่างคือการวางรากฐานทรัพยากรมนุษย์เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน กรมการพัฒนาชุมชนมีศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนอยู่ 11 ศูนย์
มีเป้าหมายให้เป็นศูนย์ฝึกอบรมที่ดีที่สุดในโลกในเรื่องการพัฒนาชุมชน ที่ต้องทำงานทุกวัน เพื่อประโยชน์ในการฝึกฝนอาชีพแขนงต่าง ๆ
“ในสถานการณ์เช่นนี้โดยรวมถือว่างานของกรมการพัฒนาชุมชนจะดำเนินต่อไปด้วยดี เราจะสามารถเอาชนะโควิด-19 ได้ การได้รับวัคซีนจะทำให้เราสบายใจได้มากขึ้น ที่จะสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในอนาคต
อีกทั้งเหตุการณ์นี้ทำให้ผู้ประกอบการ OTOP สามารถปรับตัวได้มากขึ้น ผู้คนในโครงการต่าง ๆ ของกรมการพัฒนาชุมชน รวมทั้งประชาชนทั่วไปสามารถพัฒนาอาชีพ หาเลี้ยงชีพตัวเองได้ต่อไปอย่างยั่งยืน”