สงขลา ตั้งด่านคัดกรองเข้มคน 3 จังหวัดชายแดนใต้

ด่านชายแดน

สงขลาตั้งด่านตรงรอยต่อ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี-ยะลา-นราธิวาส คัดกรองเข้มคน ต้องมีหลักฐานฉีดวัคซีนหรือใบรับรองปลอดโควิดถึงเข้าจังหวัดได้ สกัดโควิดยังพุ่งไม่หยุด

วันที่ 16 ตุลาคม 64 ผู้สื่อข่าวรายงานสถานการณ์โควิด -19 จ.สงขลา ยังคงพบผู้ติดเชื้อรายวันสูงมากอย่างต่อเนื่อง และในวันนี้คงพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 621 คน และเสียชีวิต 2 คน ยอดรวมผู้ติดเชื้อสะสมไม่รวมกับคลัสเตอร์เรือนจำ กว่า 38,000 คน และเสียชีวิตสะสม รวม 171 คน

โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ติดเชื้อในขณะนี้จะเป็นกลุ่มผู้สัมผัสผู้ติดเชื้อในพื้นที่ต่าง ๆ กระจายตัวอยู่ในหลายอำเภอโดยเฉพาะ อ.หาดใหญ่ อ.สะเดา และ อ.จะนะ

ด้านจังหวัดหวัดสงขลา และคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา คณะกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 จังหวัดสงขลา ได้ประชุมหารือและมีมติร่วมกันในการดำเนินมาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 เพื่อให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อในพื้นที่ลดลง เพราะขณะนี้ จ.สงขลา มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในแต่ละวันค่อนข้างสูงประมาณ 400-600 คน ต่อวัน ซึ่งเป็นผลมาจากการตรวจคัดกรองหาผู้สัมผัสเชื้อเชิงรุกในหลายพื้นที่

“โดยเฉพาะมาตรการในการเพิ่มความเข้มงวดควบคุมการเข้าออกพื้นที่รอยต่อจังหวัดระหว่าง จ.สงขลา กับ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จ.ปัตตานี จ.ยะลา และ จ.นราธิวาส ที่ยังคงถูกจัดอยู่ในกลุ่มพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด รวมทั้งมียอดผู้ติดเชื้อสูงไล่เลี่ยกันมาตลอดตั้งแต่ต้นเดือนนี้”

นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้เดินทางลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินมาตรการตรวจคัดกรองผู้เดินทางจากพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ในเส้นทางสายหลัก ที่เชื่อมต่อไปยังจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ด่านตรวจบ้านมุนี ต.จะแหน เส้นทางระหว่าง อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา กับ อ.กาบัง จ.ยะลา และด่านตรวจบ้านโหนด ต.บ้านโหนด เส้นทางระหว่าง อ.สะบ้าย้อย จ.สงขลา กับ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี เพื่อสกัดการระบาดของโรคโควิด 19

นายเจษฎา กล่าวว่า สิ่งสำคัญนอกเหนือจากมาตรการต่าง ๆ ในจังหวัดสงขลาแล้ว การป้องกันการรับเชื้อจากพื้นที่ใกล้เคียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาดสูงเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีความสำคัญด้วยเช่นเดียวกัน

ส่วนมาตรการในพื้นที่รอยต่อนั้น จะเป็นการขอความร่วมมือพี่น้องประชาชนที่อยู่ในเขต 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะเดินทางผ่านเข้ามาใน จ.สงขลา ให้ตระหนักถึงความจำเป็นในการขอเข้าพื้นที่

“หากมีความจำเป็นที่จะเดินทาง ต้องได้รับการฉีดวัคซีนตามที่กำหนด มีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าผู้เดินทางไม่ติดเชื้อโควิด-19 หรือมีเอกสารรับรองว่าเป็นผู้เคยติดเชื้อมาแล้วไม่เกิน 90 วัน หรือมีเอกสารรับรองว่า ครบกำหนดการกักกันตัวแล้ว 14 วัน แต่ทั้งนี้ต้องเดินทางภายใน 72 ชั่วโมง นับแต่วันที่พ้นจากการกักกันตัว”

นอกจากนี้ จะมีเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจคอยสอบถามความจําเป็นของผู้เดินทางก่อนเข้าพื้นที่ หากมีเหตุผลไม่เพียงพอ หรือไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด จะไม่สามารถเดินทางเข้ามาได้ เว้นแต่เป็นกรณีที่มีความเร่งด่วน หรือได้รับข้อยกเว้นเป็นแต่ละกรณีไป
ซึ่งมาตรการเข้มพื้นที่รอยต่อ จ.สงขลา กับ 3 จังหวัดชายแดนใต้ ได้เริ่มตั้งแต่ 15 ต.ค. เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

รายงานข่าวจากจังหวัดสงขลา ระบุคำสั่งจังหวัดที่ 4980/2564 เรื่องการตั้งด่านตรวจ จุดคัดกรองโรคโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ ระบุรายละเอียดโดยสรุปได้ว่า บุคคลที่มาจากพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ (จังหวัดปัตตานี ยะลา และจังหวัดนราธิวาส) ที่จะเดินทางเข้าจังหวัดสงขลา ต้องมีคุณสมบัติและเงื่อนไข ดังนี้

ต้องเป็นบุคคลที่มีเอกสารรับรองการฉีดวัคซีน (Certificate Of Vaccination) หรือ เอกสารรับรองในแอปพลิเคชันหมอพร้อม ชนิดชิโนแวค (Sinovac), ชิโนฟาร์ม (Sinopharm),ไฟเชอร์ (Pfizer), โมเดอร์นา (Moderna), สปุดนิก วี (Sputnik V) ครบ 2 เข็ม หรือสูตรไขว้ ครบ 2 เข็มหรือจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน (Johnson and Johnson), แอสตร้าเซนิกา (AstraZeneca) 1 เข็ม มาแล้วเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 14 วัน

หรือมีใบรับรองแพทย์ยืนยันว่าผู้เดินทางไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 (Mecical cetificate with a loboratory result indicating that COVID – 19 is not detected) โดยวิธี Antigen test kit หรือ RT-PCR ทั้งนี้ต้องไม่เกิน 72 ชั่วโมงก่อนเดินทาง หรือเอกสารรับรองว่าเป็นผู้เคยติดเชื้อมาแล้ว ไม่เกิน 90 วัน หรือมีเอกสารรับรองว่ครบกำหนดการกักกันตัวแล้ว 14 วัน

แต่ทั้งนี้ต้องเดินทางภายใน 72 ชั่วโมงนับแต่วันที่พ้นจากการกักกันตัว หรือเป็นเด็กที่อายุไม่เกิน 12 ปี ที่เดินทางมากับผู้ปกครอง หรือเป็นผู้เดินทางมากับรถฉุกเฉินทางการแพทย์ ผู้ป่วยฉุกเฉิน กู้ชีพ กู้ภัย

หรือเป็นผู้ที่เดินทางมาเพื่อตรวจหรือเข้ารับการรักษาทางการแพทย์ โดยมีใบนัดหรือ หลักฐานการรักษา ทั้งนี้จะต้องเดินทางกลับโดยเร็วเมื่อเสร็จภารกิจ ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 15 ตุลาคม 2564 เป็นต้นไป