“พิสุทธิ์ ฆังคะมะโน” ชู Up Square TECH Platform เลี้ยงไก่

เรียกได้ว่าพลิกโฉมวงการเกษตรผู้เลี้ยงไก่ และพัฒนาต่อยอดธุรกิจครอบครัวให้เติบโตมั่นคงอย่างแท้จริง กับ Up Square TECH Platform นวัตกรรมของคนรุ่นใหม่

โดย “พิสุทธิ์ ฆังคะมะโน” สมาชิก YEC (Young Entrepreneur Chamber of Commerce : YEC) จังหวัดสงขลา ที่ให้สัมภาษณ์พิเศษกับ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังจากคว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากเวทีการแข่งขัน YEC Pitching 2021 ในปีที่ 6 ซึ่งจัดขึ้นในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศครั้งที่ 39 ณ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

“พิสุทธิ์” เล่าว่า Up Square TECH Platform เป็นนวัตกรรมเซ็นเซอร์ช่วยเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ไข่ ให้ได้ผลผลิตตรงตามมาตรฐานหรือสูงกว่ามาตรฐาน และแก้ปัญหาต่าง ๆ ในการเลี้ยงไก่ได้อย่างทันท่วงที

โดยการนำแพลตฟอร์มดังกล่าวเข้าแข่งขัน YEC Pitching ในปี 2564 นี้ โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากการเข้าไปสานต่อธุรกิจการเลี้ยงไก่ไข่ของครอบครัว บนเนื้อที่กว่า 15 ไร่ มีไก่ประมาณ 40,000 กว่าตัว ส่งไข่ขายในภาคใต้มาตั้งแต่ปี 2517 รวม 40 กว่าปี

ซึ่งพ่อกับแม่เลี้ยงไก่ด้วยความรู้ที่สั่งสมมาจากประสบการณ์เพียงเท่านั้น ขณะที่ปัจจุบันรูปแบบการเลี้ยง การผลิต การตลาด รวมถึงเทคโนโลยีหลายอย่างเปลี่ยนไปมาก และพ่อกับแม่ก็ไม่มีความสามารถที่จะตามทันโลกได้เท่ากับคนรุ่นใหม่

“ผมเรียนจบวิศวกรคอมฯ และการออกแบบ ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และได้ทำงานอยู่กับบริษัทต่างชาติเกี่ยวกับงานด้าน IT ที่กรุงเทพฯ ประมาณ 11 ปี พอได้รับโทรศัพท์จากแม่ว่าดูแลธุรกิจไม่ไหว จึงกลับบ้านในปี 2559 เดิมทีคิดอยู่ตลอดขณะทำงานในกรุงเทพฯว่าต้องกลับบ้าน เพราะอยู่กับอาชีพการเลี้ยงไก่มาตั้งแต่เด็ก ซึมซับอะไรหลายอย่างจนบอกตัวเองได้ว่ามีความเป็นเกษตรกรอยู่ในสายเลือดอยู่แล้ว

กระทั่งรู้จัก YEC ผ่านสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ เมื่อครั้งที่มาจัดอบรมที่จังหวัดสงขลา นักธุรกิจรุ่นใหม่ให้ความสนใจเข้าไปเรียนรู้เยอะเพื่อนใน YEC ที่รู้จักกัน จึงแนะนำให้เข้าไปอยู่ YEC ของจังหวัด เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา และเดินสายประกวดมาหลายเวที จนล่าสุดเข้าร่วม YEC Pitching”

“พิสุทธิ์” บอกว่า เมื่อตัดสินใจลาออกจากงานกลับมาสานต่อธุรกิจครอบครัว ก็เข้าไปเปลี่ยนแปลงการเลี้ยงไก่ทั้งหมดโดยกู้เงินจากธนาคารมาลงทุนระบบกว่า 5 ล้านบาท ทำงานร่วมกันกับพี่ชาย นำเอานวัตกรรมเข้าไปติดตั้ง

เป็นระบบที่เข้ามาช่วยบริหารจัดการการเลี้ยงไก่ไข่ ใช้ปัญหาที่เคยเจอตลอดการเลี้ยงไก่มาเป็นโจทย์ เช่น ทำไมมีช่วงที่ไข่ไก่ลดลงจากปกติโดยไม่รู้สาเหตุ ก็นำเซ็นเซอร์เข้าไปติดเพื่อให้รู้ว่าเกิดจากอะไร มีปัจจัยอะไร เป็นแพลตฟอร์มที่ทำหน้าที่วิเคราะห์การเลี้ยงไก่

Up Square TECH Platform เป็นอุปกรณ์เซ็นเซอร์ในโรงเรือน ภายใน 1 โรงเรือนที่เลี้ยงไก่ประมาณ 10,000 ตัว จะใช่เงินลงทุน 65,000 บาท สามารถดูแล ตรวจสอบ สั่งงาน ด้วยการประมวลผลแบบคลาวด์คอมพิวติ้ง (cloud computing) ใช้แอปพลิเคชั่นได้จากอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ดูได้ทุกมิติ

เช่น เมื่อไฟในโรงเรือนเลี้ยงไก่ดับ (โรงเรือนระบบปิด) พัดลมท้ายเล้าที่สร้างอากาศดับ อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น จะมีการแจ้งเตือนให้เกษตรกรรู้ทันที แต่หากไม่มีระบบแจ้งเตือนให้เกษตรกรรู้ไก่จะตายภายใน 20 นาที ซึ่งมูลค่าของไก่ไข่ในการเลี้ยง 1 โรงเรือนจะอยู่ที่ 1.6 ล้านบาท ความเสียหายมีมูลค่าสูงมาก

ทั้งนี้ การเลี้ยงไก่ไข่ต้องอยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสมประมาณ 27 องศา จึงจะให้ผลผลิตที่ดีมีคุณภาพ และการเลี้ยงใน 1 โรงเรือนจะใช้พัดลมประมาณ 8 ตัว ถ้าพัดลมดับเพียง 1 ตัว อุณภูมิก็จะสูงขึ้น แก๊สที่ออกมาจากมูลไก่ก็จะทำให้ไก่ป่วยได้ เซ็นเซอร์ที่เข้าไปติดตั้งจึงช่วยป้องกันปัญหาให้กับเกษตรกรได้ทันที

“จุดแข็งของ Up Square TECH Platform คือ 1.เราเป็นเกษตรกรผู้รู้ปัญหาตัวจริงในการเลี้ยงไก่เป็นอย่างดี รู้วิธีการจัดการที่ดี 2.มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีระดับสูงจากประสบการณ์ทำงาน และพี่ชายผมเก่งทางด้านไอโอทีมาก (internet of things : IOT) ฉะนั้น แพลตฟอร์มที่ทำออกมานั้นจึงประสบความสำเร็จ ซึ่งไม่ใช่ใช้เพียงประสบการณ์การเลี้ยงไก่เพียงอย่างเดียว

แต่นำปัญหามาแก้ไขด้วยการลองผิดลองถูกว่า การเลี้ยงที่ดีควรทำอย่างไร พร้อมวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและปัจจัยอื่น ๆ เป็นองค์ประกอบด้วย และเราก็ทดลองใช้เองกับฟาร์มตัวเองมานานกว่า 3 ปีแล้ว ถือว่าโปรดักชั่นดีมาก”

สำหรับอุปกรณ์ของแพลตฟอร์มดังกล่าวสั่งทำและนำเข้าจากโรงงานผลิตในจีน กลุ่มลูกค้าแบ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ซื้ออุปกรณ์ไปบริหารจัดการเอง เหมาะกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีผู้เชี่ยวชาญดูแลอยู่แล้ว และกลุ่มเกษตรกรรายย่อย-รายกลาง ที่ซื้อแพ็กเกจพร้อมการบริหารจัดการหลังการขายไปด้วย

“พิสุทธิ์” เปิดเผยอีกว่า ได้ยื่นขอการส่งเสริมการลงทุน จาก BOI ซึ่งได้สิทธิทางภาษีหลายอย่าง ทำให้ต้นทุนการผลิตแพลตฟอร์มถูกลง มีหลายบริษัทใหญ่ของไทยมาเป็นพาร์ตเนอร์ และมีบริษัทจากเวียดนามขอเป็นตัวแทนจำหน่ายทั้งประเทศ และตอนนี้ได้ขอสินเชื่อจากธนาคารอีกประมาณ 270 ล้านบาท เพื่อมาพัฒนาฟาร์ม “พรรัตภูมิฟาร์ม” ให้เป็นฟาร์มต้นแบบของเมืองไทย

จาก 40,000 กว่าตัว ที่สร้างรายได้ประมาณ 3 ล้านบาท/เดือน เพิ่มเป็น 2 แสนตัว ที่จะสร้างรายได้หลักร้อยล้านในอนาคต เตรียมลุยโครงการเต็มที่ในปี 2565 คาดว่าน่าจะเสร็จภายใน 3 ปี

“ในการเลี้ยงไก่ไข่และตลาดไข่ไก่เราถือว่ามีความรู้รอบด้าน จากประสบการณ์การเลี้ยงในฟาร์มของตัวเองมานานกว่า 40 กว่าปี ขณะที่หลายคนรู้จักไข่สดน้อยมาก และมักมองที่ราคาอย่างเดียว ฉะนั้น เกษตรกรรายใหญ่มักจะได้เปรียบเกษตรกรรายย่อยเรื่องราคา Up Square TECH Platform จึงเป็นนวัตกรรมที่จะมาช่วยเกษตรกรรายย่อย โดยไม่ทิ้งใครคนไหนไว้ข้างหลังและเติบโตไปพร้อมกัน”