“สมหมาย เหรียญรักวงศ์” หมูยอ ป.อุบล รุกเมืองกรุง ปี’65 ขยายเพิ่ม 5 สาขา

จังหวัดอุบลราชธานีนับว่าเป็นอีกหนึ่งพื้นที่ผลิตหมูยอที่ขึ้นชื่อของประเทศไทย มีหลากหลายแบรนด์ให้นักช็อป นักชิมได้เลือกซื้อ “ประชาชาติธุุรกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์ “สมหมาย เหรียญรักวงศ์” ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ร้าน ป.อุบล อีกหนึ่งแบรนด์หมูยอที่ยอดขายดี มีอัตราการเติบโตทางการตลาดสูง ได้รับรางวัลการันตีทั้งเรื่องคุณภาพและความอร่อยระดับ OTOP 5 ดาว

“สมหมาย” เล่าว่า ย้อนกลับไปเมื่อ 2519 นายประยงค์ เหรียญรักวงศ์ (คุณพ่อ) เป็นธุรกิจจำหน่ายอาหารทะเลในตลาดสด เริ่มต้นผลิตสินค้า คือ แฮ่กึ๊นและหอยจ๊อ ต่อมา นายสมนึก เหรียญรักวงศ์ (น้องชายคุณสมนึก) ได้เข้ามาสานต่อธุรกิจ จนกระทั่งปี 2547 เริ่มทำการผลิตหมูยอ เนื่องจากมองว่าเป็นสินค้าที่โดดเด่นในจังหวัดอุบลราชธานี โดยได้นำหมูยอที่ผลิตเข้าไปคัดสรรโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ในปี 2549 และได้รับการคัดสรรเป็นผลิตภัณฑ์ระดับห้าดาวประเภทอาหาร ในปี 2550 จึงมีโอกาสได้นำสินค้าไปจำหน่ายในงาน OTOP ที่เมืองทองธานี ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดีมาก

“สำหรับผมที่เป็นรุ่นลูก หลังจากผมเรียนจบปริญญาตรีได้ทำงานร้านอาหารตามห้างสรรพสินค้า ทำให้ได้รู้จักช่องทางการขายต่าง ๆ และช่วงนั้นทราบว่ามีโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) จึงลาออกจากงานและมาพัฒนาธุรกิจเพื่อเข้าร่วมโครงการ เพราะถือว่าเป็นงานที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่อยู่ต่างจังหวัดได้เข้ามานำเสนอสินค้าในกรุงเทพฯ ขณะเดียวกันปี 2549 จังหวัดอุบลราชธานี ได้จัดงานกาชาดประจำปี มีการจัดประกวดหมูยอซึ่งผู้ประกอบในจังหวัดมีประมาณเกือบ 100 ราย หมูยอ ร้าน ป.อุบล ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ต่อมาปี 2555-2556 งานเกษตรแห่งชาติ ได้มีการจัดประกวดหมูยอ ซึ่งเราก็เข้าร่วมและผลปรากฏว่าได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ระดับประเทศ จึงได้นำจุดเด่นตรงนี้มาเป็นจุดขายมาจนถึงปัจจุบัน”

นอกจากนี้ จุดเด่นของร้าน ป.อุบลยังมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และใช้เครื่องจักรในการผลิตสินค้า มีการออกแบบแพ็กเกจกิ้งที่ดูทันสมัย ผลิตภัณฑ์ได้การรับรองเครื่องหมาย GMP และเครื่องหมาย HACPP เป็นมาตรฐานที่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้

สำหรับร้าน ป.อุบล เปิดเป็นร้านขายของฝากอยู่ในจังหวัดอุบลราชธานี 7 สาขา รวมถึงมีช่องทางการขายตามห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ อาทิ เดอะมอลล์ เซ็นทรัล โลตัส ฟู้ดแลนด์ ไอคอนสยาม พารากอน และออกบูทในโอท็อปประจำปี แต่ทั้งสภาวะเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบันทำให้ยอดขายของร้าน ป.อุบล โดยภาพรวมดรอปลงประมาณ 30-40% รายได้ตอนนี้ถือว่าพอประคองธุรกิจให้เดินหน้าต่อไปมีสัดส่วนของการขายส่ง 50% ขายปลีก 50% ถือว่ายังได้รับผลกระทบอยู่เพียงเล็กน้อย เพราะจากคำสั่งของรัฐบาลที่สั่งล็อกดาวน์พื้นที่ยังสามารถขายผลิตภัณฑ์ในโซนซูเปอร์มาร์เก็ตได้

ด้านแผนการปรับตัวธุรกิจในยุคโควิด-19 “สมหมาย” บอกว่า ได้ขยายธุรกิจไปยังปั๊มน้ำมัน ปตท. เปิดเป็นร้านอาหารในชื่อร้าน “จั๊บญวน by ป.อุบล” สาขาแรก เมื่อประมาณเดือนสิงหาคม ปี 2563 ที่ผ่านมา ภายในร้านมีทั้งของฝากอาหารพื้นถิ่นของจังหวัดอุบลราชธานี อาทิ ก๋วยจั๊บญวน ปากหม้อญวน เมี่ยงสด เมี่ยงทอด แหนมเนือง และตอนนี้ขยายสาขาเพิ่มรวมทั้งหมดแล้ว 4 แห่ง คือ

1.ปั๊ม ปตท.สาขาคลองมะเดื่อ จ.นครปฐม

2.ปั๊ม ปตท.สาขาเอกชัย-โพธิ์แจ้ จ.สมุทรสาคร

3.ปั๊ม ปตท.สาขาบ้านใหม่-บางขวัญ จ.ฉะเชิงเทรา

4.ปั๊ม ปตท.สาขาเกตุม จ.สมุทรสาคร

ล่าสุดเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2565 ได้เปิดสาขา 5 ที่ปั๊ม ปตท.สาขาท่าจีน ขาเข้า (พระราม 2) จ.สมุทรสาคร

นอกจากนี้ ได้เตรียมก่อสร้างโรงงานเพิ่มอีก 1 แห่ง เพื่อรองรับยอดการขายในอนาคตด้วย และในปี 2565 ตั้งเป้าไว้อยากจะขยายร้านเพิ่มอีก 5 สาขา ซึ่งขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพูดคุยกับทาง ปตท. คร่าว ๆ รอลงพื้นที่หาทำเลบริเวณสาขาเพชรเกษม อ้อมน้อยขาเข้า สาขาประตูน้ำ และบริเวณอื่น ๆ

“ตอนนี้การขยายธุรกิจเน้นเข้าไปอยู่ในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล โดยเช่าพื้นที่ของปั๊มน้ำมัน ปตท. เปิดเป็นร้านอาหาร เรามองว่าหากมีการนำเสนออาหารพร้อมทาน ลูกค้าก็จะลองเข้ามาทานดู ถ้าติดใจก็ซื้อเป็นของฝากกลับบ้านได้ด้วย ถือว่าเป็นกลยุทธ์อีกแบบ อีกทั้งแบรนด์หมูยอที่มาจากจังหวัดอุบลราชธานี เราถือว่าเป็นเจ้าแรกที่ขึ้นมาทำตลาดในกรุงเทพฯแบบเต็มตัว ส่วนแบรนด์อื่น ๆ จะทำตลาดผ่านเพียงช่องทางออนไลน์ เพราะเจ้าของแบรนด์ส่วนใหญ่เป็นชาวเวียดนาม ที่มีสัญชาติไทย ยังลำบากในการออกนอกพื้นที่อยู่”

สำหรับหมูยอร้าน ป.อุบลใช้วัตถุดิบหลักที่นำมาผลิตเป็นเนื้อสุกร ที่ปัจจุบันราคาค่อนแพงส่งผลกระทบต่อต้นทุนขึ้นมาประมาณ 25-30 บาท ทำให้ต้องปรับราคาขึ้น 10-20 บาท เช่น หมูยอ จากเดิมราคา 270/กิโลกรัม ปรับขึ้นเป็นราคา 290 บาท/กิโลกรัม แหนมใบมะยม จากเดิมราคา 99 บาท/แพ็ก ปรับขึ้นเป็นราคา 120 บาท/แพ็ก ไส้กรอกอีสาน จากเดิมราคา 120 บาท/กล่อง ปรับขึ้นเป็น 140 บาท/กล่อง แหนมกระดูกอ่อน จากเดิมราคา 140 บาท/แพ็ก ปรับขึ้นมา 160 บาท/แพ็ก กุนเชียงหมู จากเดิมราคา 200 บาท/แพ็กปรับขึ้นเป็นราคา 240 บาท/แพ็ก

ตอนนี้การขึ้นราคาถือว่าเป็นการประคองธุรกิจและยังต้องดูทิศทางราคาหมูต่อไป