“เจ้าสัวคีรี” จ่อบินถกธุรกิจเบตง หลังไปนราธิวาสสนใจลงทุนชายแดนใต้

เจ้าสัวแสนล้าน “คีรี กาญจนพาสน์” บินตรง อ.เบตง จ.ยะลา ปลายสัปดาห์นี้ หารือโอกาส-ศักยภาพเศรษฐกิจการลงทุนพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หลังบินไปคุยกับกลุ่มนักธุรกิจที่จังหวัดนราธิวาสเมื่อกลางเดือนมกราคม 2565 ทำนักธุรกิจชายแดนใต้คึกคัก ด้านหอการค้า จ.นราธิวาส หวังดึงโครงการลงทุนขนาดใหญ่ พัฒนาจังหวัดสร้างงาน สร้างรายได้ เศรษฐกิจดีขึ้นช่วยลดความรุนแรงในพื้นที่ลงได้

ดร.นิเมธ พรหมพยัต ประธานหอการค้าจังหวัดนราธิวาส และอดีตนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในเร็ว ๆ นี้ นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด หรือ BTS เตรียมจะเดินทางไปที่อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เพื่อพบหารือนักธุรกิจในพื้นที่ถึงศักยภาพของเมืองเบตง

ซึ่งปัจจุบันสามารถเปิดให้บริการสนามบินแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 21 มกราคม 2565 ได้เดินมาจังหวัดนราธิวาสด้วยเครื่องบินส่วนตัวเป็นครั้งแรก และได้ร่วมพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับกลุ่มนักธุรกิจชายแดนภาคใต้เกี่ยวกับภาวะธุรกิจเศรษฐกิจการค้าการลงทุน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ โอกาสและศักยภาพเศรษฐกิจชายแดนภาคใต้

“เป็นโอกาสอันดีที่นายคีรี นักธุรกิจเจ้าของโครงการระดับหลายแสนล้านบาทให้ความสนใจจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยนายคีรี กล่าวว่า สภาพทั่วไปของจังหวัดนราธิวาสดีมาก แล้ว 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ พร้อมกับถามว่า มีแนวทางที่น่าจะทำการลงทุนอะไรบ้าง ผมจึงได้พรีเซนต์ โดยยกตัวอย่างที่ บมจ.เบียร์สิงห์ไปสร้างอาณาจักรที่ จ.เชียงราย นายบัณฑูร ล่ำซำ อดีตนายธนาคารใหญ่ก็ไปสร้างอาณาจักรที่ จ.น่าน

ส่งผลให้บรรยากาศการค้าการท่องเที่ยวที่ดีขึ้นตามลำดับ ผมเสนอให้นายคีรีนำเงินมาลงทุนโครงการที่จังหวัดนราธิวาสแล้วแต่จะพิจารณาความเหมาะสม พร้อมนำเสนอรูปแบบในสมัยที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ เป็นนายกรัฐมนตรี สมัยนั้นผมเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส

เช่น โครงการโรงงานอุตสาหกรรม 1 อำเภอ 1 โรงงาน หากลงทุนโรงงานละ 100 ล้านบาท สร้างปีละ 1 แห่ง หลายปีได้หลายโรงงาน โดยการตั้งโรงงานพิจารณาให้ตรงกับบริบทของพื้นที่ เช่น ที่ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส มีพืชผลไม้ทั่วไปปริมาณมาก ตั้งโรงงานอุตสาหกรรมแปรูปผลไม้กระป๋อง และ อ.แว้ง เป็นเมืองยางพารา สร้างโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปยางพารา และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์

เช่น ถุงมือยาง ล้อยาง ส่วน อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็นเมืองการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย ติดกับรัฐกลันตัน เป็นต้น หากทำได้จะเป็นการสร้างงาน สร้างเงิน สร้างเศรษฐกิจภาพรวมของพื้นที่และประเทศจะดีขึ้น และเมื่อคนมีงานทำ มีรายได้ ปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยจะคลี่คลาย ความเป็นอยู่จะดีขึ้นตามลำดับ”

ดร.นิเมธกล่าวต่อไปว่า เมื่อนักลงทุนเล็งเห็นว่ากิจการใดเกิดประสิทธิภาพมีผลประกอบการที่ดีมีผลกำไร นักลงทุนก็เข้าซื้อกิจการ และการลงทุนอื่นจะตามมา อย่างไรก็ตาม การลงทุนต่าง ๆ รัฐบาลอาจจะต้องนำร่องก่อนเมื่อเห็นผลประกอบการที่ดีผู้ประกอบการเอกชนรายต่าง ๆ จะลงทุนตามมา หากให้ภาคเอกชนลงทุนก่อน คงไม่มีรายใดที่จะเสี่ยง

ดร.นิเมธกล่าวถึงภาพรวม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ว่า แต่ละจังหวัดมีจุดเด่นแตกต่างกัน เช่น จ.ปัตตานี มีจุดเด่นทางเศรษฐกิจการค้าการลงทุนเป็นเมืองอุตสาหกรรมอาหารทะเล ท่าเรือ มีการประกอบธุรกิจประมงขนาดใหญ่ระดับประเทศ

ส่วน จ.ยะลา มีแหล่งการค้าการท่องเที่ยวที่สำคัญ โดยเฉพาะ อ.เบตง มีสนามบินเพิ่งเริ่มให้บริการระหว่างเบตง-กรุงเทพฯ ส่วน จ.ยะลา เป็นแหล่งพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ คือ ทุเรียน ฯลฯ สำหรับ จ.นราธิวาส เป็นเมืองชายแดนไทย-มาเลเซีย สามารถพัฒนาเศรษฐกิจการค้าการท่องเที่ยว และ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส ติดกับรัฐกลันตันและรัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย เป็นแหล่งยางพาราขนาดใหญ่ พร้อมพืชเกษตรทั่วไป ที่จะทำโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับยางพาราได้

ดร.นิเมธกล่าวต่อไปว่า แต่ขณะนี้สถานการณ์เศรษฐกิจยังซบเซา ทั้งสถานการณ์โควิด-19 ยังแพร่ระบาด ประกอบกับสถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อย และยังถูกซ้ำเติมโดยโรคระบาดยางพาราใบร่วงและในปีนี้หนักกว่าทุกปี ซึ่งมีประมาณ 700,000 ไร่ที่ถูกโรคระบาด ส่งผลให้รายได้หดหายไปเป็นจำนวนมาก ในพื้นที่มีการประกาศหยุดกิจการ ประกาศขายบ้านขายกิจการกันไปทั่ว

สำหรับ จ.นราธิวาส เมืองเศรษฐกิจการค้าการลงทุนที่สำคัญที่สุด คือ การค้าชายแดน อ.สุไหงโก-ลก แนวพรมแดนไทย-มาเลเซีย กับรัฐกลันตัน ฯลฯ แต่ประเทศมาเลเซียยังไม่ประกาศเปิดด่านแนวพรมแดน อ.สุไหงโก-ลก กับรัฐกลันตัน แต่รับทราบว่านายกรัฐมนตรีมาเลเซียจะเปิดด่านประมาณวันที่ 1 มีนาคม 2565

“หากเปิดด่านพรมแดนไทย-มาเลเซีย ได้เศรษฐกิจการค้าก็คงจะดีขึ้น ถึงแม้วันนี้นำเข้า-ส่งออกเฉพาะสินค้าได้ แต่ผู้คนเดินทางข้ามไปมากันไม่ได้ ตอนนี้ทางฝั่งชายแดนประเทศมาเลเซียเองเศรษฐกิจก็ไม่ต่างกันกับบ้านเรากว่าจะฟื้นใหม่ต้องใช้เวลา” ดร.นิเมธกล่าว

กระทรวงพาณิชย์ระบุตัวเลขการค้าชายแดนกับ 4 ประเทศ (มาเลเซีย กัมพูชา เมียนมา และ สปป.ลาว) เดือนธันวาคม 2564 มีมูลค่าการค้ารวม 87,682 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 24.26% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็นการส่งออกมูลค่า 55,469 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 30.64% และการนำเข้ามูลค่า 32,213 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 14.62% โดยมาเลเซียยังคงเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของไทยต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมา

สำหรับการค้าชายแดนไทย-มาเลเซีย มูลค่าส่งออก 17,223 ล้านบาท ขยายตัว 24.84% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ 2,364 ล้านบาท ขยายตัว 20.26% ยางพารา 2,309 ล้านบาท ขยายตัว 9.79% และรถยนต์ อุปกรณ์ 1,145 ล้านบาท หดตัว 12.17% 2) กัมพูชา มูลค่าส่งออก 13,151 ล้านบาท ขยายตัว 27.26% สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์นั่ง 1,748 ล้านบาท ขยายตัว 111.26% เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ 1,029 ล้านบาท ขยายตัว 4.19% รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ 523.50 ล้านบาท ขยายตัว 17.51%