ศก.ยะลาซึมยาว ! น้ำท่วมซ้ำภาคเกษตร ดันขยายถนนเบตง เอื้อค้าชายแดนบูมเที่ยวเกาะทวด

เศรษฐกิจยะลายังไม่สดใส ความเชื่อมั่นนักท่องเที่ยวยังน้อย ขณะที่ภาคเกษตรอ่วมหนัก น้ำท่วมซ้ำหลายระลอก ด้านราคายางร่วง ฉุดค้าชายแดนวูบจาก 7 พันล้าน เหลือเพียง 2 พันล้าน/ปี ด้านหอการค้าจังหวัดยะลา จับมือบริษัทประชารัฐปั้น “เกาะทวด” แหล่งท่องเที่ยวใหม่ เจาะกลุ่มชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ พร้อมหนุนขยายถนนสี่เลนยะลา-เบตง 22 กิโลเมตร หวังร่นระยะทางขนส่ง ช่วยปลุกค้าชายแดน

น้ำท่วมซ้ำเติม ศก.ยะลา

นายกันต์พงษ์ ลิ่มกาญจนา ประธานหอการค้าจังหวัดยะลา เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ภาพรวมเศรษฐกิจในปี 2559 ที่ผ่านมา ไม่เพียงแต่ประเทศไทยเท่านั้นที่มีปัญหาด้านเศรษฐกิจ แต่เป็นทั้งโลก เช่นเดียวกับประเทศมาเลเซีย ที่ปัจจุบันมีปัญหาด้านเศรษฐกิจ ค่าเงินลดลง ซึ่งบางครั้งส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดน แต่ขณะนี้ภาวะเศรษฐกิจก็เริ่มดีขึ้น เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายให้คนจนไปลงทะเบียน มีการออกบัตรสวัสดิการแห่งรัฐออกมา ทำให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย รวมถึงผู้ประกอบการร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการดังกล่าวก็ได้รับประโยชน์อย่างมาก

ขณะที่ภาคการเกษตรจังหวัดยะลาปีนี้ได้รับผลกระทบจากภาวะฝนตกตลอด จนทำให้ได้ผลผลิตไม่มากเท่าที่ควร ทำให้ราคาสูงขึ้น แม้จะมีผลผลิตออกนอกฤดู เช่น ทุเรียนหมอนทอง ทุเรียนก้านยาว แต่ผลผลิตก็ไม่ได้เยอะเท่าที่ควร ขณะเดียวกันยังได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่มาเร็วกว่าทุกปี ซึ่งปกติมักจะเกิดขึ้นช่วงเดือนธันวาคม ส่งผลกระทบ

โดยตรงต่อพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมือง บันนังสตา กรงปินัง รามัน และยะหา ซึ่งเป็นพื้นที่ราบ และส่งผลกระทบทางอ้อมต่อ อ.ธารโต เบตง และกาบังอีกด้วย

“ภาคเกษตรได้รับผลกระทบมากที่สุด ไม่เพียงเฉพาะยางพาราเท่านั้น เนื่องจากวันนี้รัฐบาลบอกว่ายางพารามีราคาตกต่ำลงแล้ว เกษตรกรต้องทำไร่นาสวนผสม หลายรายเริ่มหันมาปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ก้านยาว พวงมณี และเหมาซานหว่อง รวมถึงทำไร่นาสวนผสม หรือปลูกพืชผักสวนครัวแซม เพื่อหารายได้ระยะสั้น ซึ่งบางรายเพิ่งเริ่มปลูก และประสบปัญหาอุทกภัย ซึ่งหลังจากนี้ต้องรอให้เข้าสู่ภาวะปกติก่อนจึงจะประเมินความเสียหายได้”

Advertisment

ท่องเที่ยวยังไม่คึกคัก

ประธานหอการค้าจังหวัดยะลากล่าวต่อว่า ในส่วนของภาคการท่องเที่ยวนั้น จังหวัดยะลามีพื้นที่การท่องเที่ยวจำนวนมาก เช่น ทะเลหมอกอัยเยอร์เวง ต.อัยเยอร์เวย์ อ.เบตง ซึ่งมีการโปรโมตและโฆษณาไปเยอะ กระทั่งเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยว หรือเขื่อนบางลาง ซาไก แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้การท่องเที่ยวยังไม่ดีเท่าที่ควร คือ ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ

Advertisment

เกี่ยวกับเหตุการณ์ความไม่สงบที่เกิดขึ้นมากว่า 14-15 ปีแล้ว ซึ่งคนยังเชื่อว่า 3 จังหวัดชายแดนใต้ ยังไม่ปลอดภัยในการเดินทาง แม้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้น แต่เป็นเพียงคนในพื้นที่เท่านั้น

ทั้งนี้ หอการค้าจังหวัดยะลา และบริษัท ประชารัฐรักสามัคคียะลา (วิสาหกิจเพื่อสังคม) จำกัด ได้ร่วมมือกันพยายามต่อยอดการท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับนโยบายสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ประกอบด้วย จ.ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ที่รัฐบาลต้องการให้เป็นพื้นที่พิเศษ ซึ่งให้ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นเมืองต้นแบบ อ.เบตง จ.ยะลา เป็นเมืองท่องเที่ยว และสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เป็นเมืองการค้าชายแดน

โดยพยายามผลักดันเกาะทวด อ.ธารโต จ.ยะลา ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น เพื่อดึงนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้านให้เข้ามามากขึ้น เช่น มาเลเซียเชื้อสายจีน สิงคโปร์ ซึ่งจะผลักดันให้หมู่บ้านทำโฮมสเตย์ และหากปี 2561 ผลผลิตดี จะให้นักท่องเที่ยวได้ทำกิจกรรมเก็บผลไม้ที่ออกตามฤดูกาลมากินสด ๆ และมีให้ซื้อกลับเป็นของฝากด้วย

ราคายางร่วง ฉุดค้าชายแดนวูบ

สำหรับการค้าชายแดน จ.ยะลา มี 1 ด่าน คือ ด่านเบตง ขณะที่ จ.นราธิวาส มี 3 ด่าน ได้แก่ ด่านบูเก๊ะตา ตากใบ และสุไหงโก-ลก และ จ.สงขลามี 2 ด่าน ได้แก่ ด่านปาดังเบซาร์ และสะเดา ซึ่งปัจจุบันการส่งออกส่วนใหญ่จะไปทางท่าเรือปีนัง จ.สงขลา เนื่องจากระยะทางจากตัวเมืองยะลาไปสงขลาสั้นกว่าเบตง สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ ยาง ไม้ยาง ยางคอมพาวนด์ เป็นต้น โดยในช่วงที่ราคายางพาราพุ่งสูงถึงกิโลกรัมละ 180 บาท การค้าชายแดนมีมูลค่ากว่า 7,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันราคายางลดต่ำลงเหลือ 3 กิโลกรัม 100 บาท คาดว่าในแต่ละปีจะเหลือมูลค่าการค้าชายแดนเพียง 1-2 พันล้านบาทเท่านั้น

เสริมแกร่ง – หอการค้าจังหวัดยะลาเตรียมผลักดันเกาะทวดเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวมาเลเซีย สิงคโปร์ พร้อมเสนอโครงการขยายถนนยะลา-เบตง เป็น 4 เลน ระยะทาง 22 กม. หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ การค้าชายแดน และการท่องเที่ยว

 

ศก.รากหญ้าเริ่มกระเตื้อง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันเริ่มเห็นเศรษฐกิจระดับรากหญ้ากระเตื้องขึ้น เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2560 เรื่องตลาดประชารัฐ 9 ประเภท ที่มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยก็ได้มอบหมายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด เป็นผู้จัดทำตลาด เพื่อให้ผู้ค้ารายใหม่ที่ไม่มีแผงขายของได้เข้ามาลงทะเบียน ทำให้ผู้ค้าสามารถจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น

ในส่วนของ จ.ยะลา ได้เปิดตลาดประชารัฐไปแล้วทั้ง 6 ประเภท ได้แก่ ตลาดประชารัฐคนไทยยิ้มได้ ตลาดประชารัฐท้องถิ่นสุขใจ ตลาดประชารัฐของดีจังหวัด ตลาดประชารัฐของดีวิถีชุมชน ธ.ก.ส. ตลาดประชารัฐต้องชม และตลาดประชารัฐ ตลาดวัฒนธรรม ถนนสายวัฒนธรรม ซึ่งมีผู้มาลงทะเบียนกว่า 1,545 ราย

หนุนขยายถนน 4 เลน ยะลา-เบตง

สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2561 หากสถานการณ์ความไม่สงบดีขึ้น ทิศทาง จ.ยะลา จะเดินไปได้ดี เนื่องจากขณะนี้ได้รับงบประมาณมาก่อสร้างสนามบินเบตง ซึ่งคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2563 สามารถรองรับชาวต่างชาติมาใช้บริการมากขึ้น เช่น มาเลเซีย ที่จะมาต่อเครื่องบินเพื่อเดินทางไปกรุงเทพฯ เนื่องจากตั๋วเครื่องบินอาจจะมีราคาถูกกว่าบินตรงข้ามประเทศ แต่ขณะเดียวกันต้องดูว่าคนในประเทศจะได้ประโยชน์อย่างไร โดยมองว่าการที่คนยะลาจะเดินทางไปขึ้นเครื่องบินที่เบตงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเส้นทางระหว่างยะลาไปเบตงยังไม่สะดวก

ดังนั้น วันนี้จึงพยายามผลักดันให้มีการขยายถนนจาก 2 ช่องจราจร เพิ่มเป็น 4 ช่องจราจร รวมทั้งเจาะอุโมงค์บริเวณบ้านกระป๋อง ต.แม่หวาด อ.ธารโต เพื่อร่นระยะทางจาก 22 กิโลเมตร เหลือเพียง 800 เมตร และจะร่นระยะเวลาการเดินทางจาก 2 ชั่วโมง เหลือเพียงชั่วโมงเศษ ๆ เท่านั้น ซึ่งภาคการส่งออกจะได้รับอานิสงส์ด้วย