“สุธาทิพย์” นักธุรกิจรุ่นใหม่ระยอง แจ้งเกิด “ซาลาเปาลาวาหมอนทอง”

คอลัมน์ New Gen4.0

“การทำธุรกิจต้องมีทัศนคติเชิงบวก ต้องคิดดี มองโลกในแง่ดีต่อตัวเอง คนรอบข้าง และรู้จักพัฒนาตัวเอง เรียนรู้ปรับปรุงตัวเอง รู้จักความพอดี ซื่อสัตย์สุจริต ทั้งต่อตัวเอง ครอบครัว และลูกค้า”

นี่คือแนวคิดของ “ฝน-สุธาทิพย์ อัจฉริยะชาญวณิช” เจ้าของร้านฮ่อเจี๊ยะ ที่ดึงเอาเอกลักษณ์ของ จ.ระยอง อย่างทุเรียนพันธุ์หมอนทอง มาผสมผสานกับซาลาเปาไส้ลาวาจนได้รับความนิยม และปัจจุบันมีร้าน 2 สาขาแล้ว อีกทั้งยังเข้าร่วมเป็นสมาชิก YEC จังหวัดระยอง และอีกหนึ่งหน้าที่ คือ การเข้าไปช่วยสานต่อธุรกิจของครอบครัว คือ ธุรกิจค้าปลีกแก๊สหุงต้ม โดยเข้ามารับหน้าที่ดูแลบัญชี เพราะมีดีกรีปริญญาตรีสาขาการบัญชี คณะบริหารธุรกิจและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ

“สุธาทิพย์” เล่าให้ “ประชาชาติธุรกิจ” ฟังว่า หลังจากเรียนจบมา ก็เข้ามาช่วยธุรกิจค้าปลีกแก๊สหุงต้มของครอบครัวที่ จ.ระยอง ทันที โดยช่วงแรกนั้นพบอุปสรรคบ้าง เนื่องจากไม่เคยทำงานที่ไหนมาก่อน ทั้งต้องรับแรงกดดันจากลูกค้าที่โทรศัพท์เข้ามาสั่งแก๊ส และการที่ต้องทำบัญชีให้กับธุรกิจครอบครัว เพราะไม่เคยทำบัญชีมาก่อน เหมือนมีแต่ทฤษฎีจากมหาวิทยาลัย พอต้องมาเจอสถานการณ์จริง ก็ค่อนข้างที่จะยาก

หลังจากนั้นช่วยธุรกิจครอบครัวมาได้สักประมาณ 3-4 ปี ช่วงนั้นกระแสซาลาเปาลาวาในกรุงเทพฯมาแรง ด้วยความที่อยากกิน แต่ไม่ได้เดินทางเข้ามากรุงเทพฯ ประกอบกับเป็นคนชอบทำอาหาร ขนมอยู่แล้ว จึงลองทำเล่น ๆ กับคุณแม่ โดย “ฝน” ย้อนความหลังให้ฟังว่า ก่อนที่ครอบครัวจะทำธุรกิจจำหน่ายแก๊สหุงต้ม ในรุ่นอากง อาม่า ทำธุรกิจเบเกอรี่มาก่อน จึงนำเอาสูตรเก่ามาทำใหม่ และทดลองทำไส้ซาลาเปาใหม่ด้วย ไม่เพียงเท่านั้นอยากจะอวดเพื่อน ๆ จึงถ่ายรูปลงเฟซบุ๊ก และเริ่มมีคนสนใจขอชิมบ้าง หลังจากมีคนสั่งซื้อเรื่อยมา

จนกระทั่งคิดว่าธุรกิจนี้ก็น่าจะไปได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องมี คือ แบรนด์ เพื่อสร้างความจดจำให้กับลูกค้า รวมถึงโลโก้ และแพ็กเกจจิ้ง แน่นอนว่าเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เนื่องจากไม่มีความรู้พื้นฐานมาก่อนเลย ต้องเรียนรู้ใหม่ทั้งหมด อีกทั้งยังเจออุปสรรคเรื่องบุคลากรในการช่วยทำ ต้องฝึกคน เพราะซาลาเปาลาวาต้องใช้ฝีมือในการทำ เน้นความประณีต ต้องเรียนรู้ว่าจีบยังไงถึงจะไม่แตก ซึ่งประมาณปี 2555 ก็เริ่มตั้งแบรนด์ขึ้นมา ชื่อว่า “ฮ่อเจี๊ยะ” แปลว่า กินดี กินอร่อย และเปิดร้านแรกใน จ.ระยอง บริเวณถนนจันทอุดม ใกล้โรงพยาบาลระยอง และตลาดแม่แดง

“สุธาทิพย์” บอกว่า ปัจจุบันมีบุคลากรประมาณ 5 คน กำลังการผลิตซาลาเปาวันละ 1,000-2,000 ลูก โดยมีสินค้าซาลาเปากว่า 10 ชนิด เช่น ซาลาเปาลาวาไข่เค็ม ที่ถือว่าเป็นซิกเนเจอร์ของร้านและได้รับความนิยมมากที่สุด ลาวาครีม ลาวาช็อกโกแลต หมูสับ เห็ดหอมหมูแดง กะเพราหมู ถั่วทองสมหวัง ชาเขียวถั่วแดง เผือกแปะก๊วย งาดาถั่วดำ และมีไส้พิเศษ เช่น เห็ดหอมพริกไทยดำ ลาวาส้มมงคล นอกจากนี้ยังมีสินค้าอื่น ๆ เช่น บ๊ะจ่างฮ่องกง เกี๊ยวกุ้งทอด ซาลาเปาลาวาทอด ขนมจีบไข่เค็ม เป็นต้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาได้เข้าร่วมโครงการพัฒนาผลิตภัณฑ์กับกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 9 และคณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการนำวัตถุดิบในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ โดยการนำซาลาเปามาเป็นสื่อ ประกอบกับฮ่อเจี๊ยะมีแนวคิดที่อยากทำผลิตภัณฑ์เป็นของฝากของ จ.ระยอง จึงเลือกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง เนื่องจากเป็นเอกลักษณ์ของ จ.ระยอง จึงกลายเป็นแนวคิดซาลาเปาลาวาหมอนทอง โดยจะเลือกซื้อทุเรียนที่ปลูกแบบอินทรีย์เท่านั้น สุกกำลังดี และที่สำคัญไปรับซื้อถึงหน้าสวนด้วยตัวเอง ซึ่งใช้เวลาทดลองปีกว่าจึงได้สูตรที่ลงตัว

โดยปี 2559 เป็นปีแรกที่เริ่มวางจำหน่าย ซึ่งมีเฉพาะตามฤดูกาลเท่านั้น และยังคงเป็นรูปแบบซาลาเปากลม ๆ ขาว ๆ ทั่วไป แต่ปี 2560 ได้พัฒนาเป็นรูปทรงพูทุเรียน ทำให้ลูกค้าให้ความนิยมมากขึ้น มีทั้งสั่งไปออกงาน เลี้ยงรับรองแขก จึงได้สต๊อกเนื้อทุเรียนไว้สำหรับจำหน่ายตลอดปี โดยในแต่ละวันต้องใช้เนื้อทุเรียนหลายสิบกิโลกรัมในการผลิต ขณะที่กลุ่มหลัก คือ คนรุ่นใหม่ ชอบทดลอง ชอบกินอะไรที่แปลก ๆ ไม่เหมือนที่อื่น ทั้งนี้ “ฝน” มองว่า ความเท่ อยู่ที่การที่ได้กินแล้วไม่มีที่ไหนเหมือน เป็นของระยองแท้ ๆ ถ้ากินที่ร้านอื่น เป็นทุเรียนจากไหนก็ไม่รู้ ไม่มีเอกลักษณ์ ไม่มีอัตลักษณ์ของสินค้าจริง

“ขณะเดียวกัน ซาลาเปาลาวาหมอนทองได้รับรางวัลจากเทศกาลอาหารอร่อยของจังหวัดระยอง และรางวัลชนะเลิศ หมวดชิม จากการเข้าร่วมประกวดไทยเท่ทั่วไทย โดยหอการค้าไทย และมีสื่อเข้ามาทำข่าว ประกอบกับเข้าไปร่วมทำงานกับ YEC ทำให้มีคนรู้จักมากขึ้น และทำการตลาดง่ายขึ้น ส่งผลให้ฮ่อเจี๊ยะเป็นที่รู้จักมากขึ้นในปัจจุบัน”

เมื่อถามถึงการแข่งขันในธุรกิจนี้ “สุธาทิพย์” กล่าวว่า การแข่งขันในภาพรวมค่อนข้างสูงขึ้น ส่วนใน จ.ระยองก็เริ่มสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งช่วง 2-3 เดือนที่เริ่มทำซาลาเปาลาวาหมอนทอง ก็เริ่มมีรายอื่นเพิ่มขึ้นมา ขณะเดียวกันร้านใหญ่ ๆ อย่างภัตตาคาร ก็เริ่มหันมาทำเช่นเดียวกัน และมีรูปทรงของซาลาเปาเหมือนกับของร้านฮ่อเจี๊ยะเป๊ะ แต่สิ่งที่เราต้องทำต่อไป คือ การคงมาตรฐาน และพัฒนาสูตรให้ดีขึ้นต่อไป

ขณะเดียวกัน ปัจจุบันมี 2 สาขา คือ จ.ระยอง และกรุงเทพฯ บริเวณถนนพระราม 9 ใกล้มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ และส่งไปจำหน่ายใน จ.เชียงราย เชียงใหม่ สุราษฎร์ธานี สมุย และภูเก็ต โดยเป็นลักษณะเฉพาะช่วงซีซั่นเท่านั้น แต่ปี 2561 จะทำการตลาดให้มากกว่าเดิม โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และเพิ่มสาขาในหัวเมืองต่าง ๆ รวมถึงรับสมัครตัวแทนจำหน่ายเป็นลักษณะศูนย์กระจายสินค้า

นับเป็นนักธุรกิจใหม่ที่มีทั้งความคิดสร้างสรรค์ และดึงเอกลักษณ์ท้องถิ่นมานำเสนอได้อย่างลงตัว