“ค้าปลีก-บริการ” ขาดหนัก ขึ้นค่าแรงไม่ช่วย…แรงงานหายาก

แรงงาน

คงไม่มีใครปฏิเสธว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่จะมีผลตั้งแต่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป อาจจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการหรือภาคธุรกิจอยู่บ้าง โดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 5-8% ตามอัตราที่คณะกรรมการไตรภาคีกำหนด

แต่อีกด้านหนึ่งกลับพบว่า สิ่งที่กระทบหนักกว่า สำหรับภาคธุรกิจในเวลานี้ก็คือ ปัญหาหาคนทำงานไม่ได้ และไม่มีคนทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการค้าปลีกและบริการ ร้านอาหาร ร้านกาแฟที่ตอนนี้ผุดราวกับดอกเห็ด

สิ่งที่เกิดขึ้น สะท้อนจากภาพของการประกาศรับสมัครงานของหลาย ๆ ธุรกิจ ที่ให้ค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 2 เท่าตัว

ธุรกิจขาดแรงงานหนักขึ้น

แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีกเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้จากสถานการณ์การจับจ่ายที่เริ่มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากโควิด-19 ที่คลี่คลาย โดยเฉพาะกลุ่มผู้บริโภคตั้งแต่ระดับกลาง-บน เริ่มกลับมาใช้ชีวิตตามปกติและออกมาจับจ่าย สะท้อนจากภาพบรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยตามห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า ร้านอาหาร ภัตตาคารต่าง ๆ ที่มีทราฟฟิกและมีความคึกคักมากขึ้น แต่ธุรกิจค้าปลีก-บริการ มีปัญหาเรื่องหาคนทำงานได้ยากมากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจในกรุงเทพฯและปริมณฑล

ตอนนี้แม้คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบการปรับขึ้นค่าจ้างขึ้นต่ำไปแล้ว 5-8% ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ แต่ธุรกิจค้าปลีก-บริการมีปัญหาเรื่องหาคนทำงานได้ยากมากขึ้น นอกจากหาคนยากแล้ว พนักงานที่เข้ามาก็จะมีการเทิร์นโอเวอร์สูง เชื่อว่าในระยะยาว หากปัญหานี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข จะกระทบกับการขยายธุรกิจ ขยายสาขา ในอนาคต ส่วนหนึ่งอาจจะเพราะปัจจุบันคนรุ่นใหม่ต้องการทำอาชีพอิสระ มองว่า บริการเป็นงานหนัก

ภาพที่เกิดขึ้นสะท้อนจากภาพการประกาศรับสมัครพนักงานของผู้ประกอบการต่าง ๆ ทั้งค้าปลีก ร้านอาหาร ร้านกาแฟธุรกิจค้าปลีก ฯลฯ ที่มีให้เห็นอย่างต่อเนื่อง และให้อัตราค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 2-3 เท่า/วัน และรับสมัครเป็นจำนวนมาก

หากสังเกตจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมา ร้านอาหารรายใหญ่ได้เริ่มทยอยนำหุ่นยนต์มาช่วยในการเสิร์ฟ หรือการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย เพื่อทำงานทดแทนแรงงานคน หรือร้านสะดวกซื้อในย่านแหล่งธุรกิจ (ซีบีดี) ก็หาคนทำยาก เนื่องจากย่านใจกลางธุรกิจค่าครองชีพค่อนข้างสูง เจ้าของร้าน (แฟรนไชซี) ต้องเพิ่มรายได้ให้เป็น 700-800 บาท

นอกจากหุ่นยนต์แล้ว แรงงานต่างด้าวอาจจะเป็นทางออกอีกอย่างหนึ่งสำหรับธุรกิจบริการ แต่เนื่องจากตอนนี้กฎหมายแรงงานยังไม่อนุญาต กฎหมายอนุญาตให้ทำได้เฉพาะอยู่หลังร้าน เช่น ล้างจาน เป็นต้น

ดังนั้นอาจจะต้องมีการหารือและผลักดันการแก้กฎระเบียบหรือออกประกาศของกระทรวงแรงงานมาช่วย เพื่อบรรเทาปัญหาให้ผู้ประกอบการภาคธุรกิจ

ร้านอาหาร-บริการแก้ไม่ตก

“บุญยง ตันสกุล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ อาทิ ร้านอาหารญี่ปุ่น เซ็น, ร้านอาหารญี่ปุ่น ปิ้งย่าง อากะ, ข้าวหน้าล้น มูฉะ, อาหารสไตล์ฟิวชั่น ออน เดอะ เทเบิล, อาหารตามสั่ง เขียง ฯลฯ ยอมรับว่าขณะนี้ ร้านอาหารต่าง ๆ ยังเจอปัญหาขาดแคลนพนักงานบริการค่อนข้างมาก

โดยเฉพาะพนักงานเสิร์ฟที่มีการเทิร์นโอเวอร์สูง ทำให้บริษัทต้องบริหารจัดการร้านอาหารที่ต้องใช้พนักงานจำนวนมาก เช่น เซ็น และอากะ ที่เป็นร้านประเภทบุฟเฟต์ ด้วยการปรับโมเดลร้าน โดยใช้ระบบ self service ให้ลูกค้าเดินไปตักอาหารเอง ควบคู่กับการใช้หุ่นยนต์

ปัจจุบันร้านในเครือมีหุ่นยนต์ 60 ตัว กระจายใช้ในบางสาขาที่มีทราฟฟิกมาก จากเดิมที่หนึ่งสาขาจะใช้พนักงานราว ๆ 40 คนขึ้นไป ซึ่งการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวช่วยลดคนได้ 5-10%

หลังจากมีการปรับขึ้นค่าแรงเฉลี่ย 5-6% ตามมติคณะรัฐมนตรี ร้านอาหารในเครือเซ็นกรุ๊ปซึ่งส่วนใหญ่เปิดให้บริการในพื้นที่ที่มีการปรับขึ้นค่าแรง จะกระทบกับบริษัทประมาณ 1-2% โดยเฉพาะกลุ่มพนักงานเสิร์ฟ พาร์ตไทม์ จ่ายเป็นรายชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ 45-50 บาท ส่วนกลุ่มฟูลไทม์รายเดือน ไม่ค่อยส่งผลมาก เพราะฐานเงินเดือนสูงกว่ารายเดือนที่กำหนด นอกจากนี้ บริษัทจะมีเงินช่วยค่าครองชีพเดือนละ 2,400 บาท

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการร้านกาแฟระดับกลางรายหนึ่งให้ข้อมูลไปในทิศทางเดียวกันว่า ตอนนี้การขาดแรงงานยังเป็นปัญหาของร้านกาแฟเช่นกัน และพนักงานมีการเทิร์นโอเวอร์ค่อนข้างสูงเช่นกัน และบางครั้งต้องนำพนักงานที่ออกไปแล้วกลับมาช่วยทำ เพราะหาคนมาทำงานได้ยาก หามาได้ก็อยู่ไม่นาน ทำให้บริษัทต้องประกาศรับสมัครพนักงานอยู่ตลาดเวลา โดยให้เงินเดือนในระดับ 12,000-14,000 บาท มีค่าเดินทางเพิ่มอีก 1,000 บาท ไม่รวมมีค่าสวัสดิการ ประกันสังคม เงินที่ทำยอดขายได้ตามเป้า

“ตอนนี้ร้านกาแฟรายใหญ่เองก็มีการประกาศรับสมัครงานเป็นจำนวนมาก ทั้งบาริสต้า ผู้จัดการสาขา ซึ่งก็ต้องแข่งกับร้านอาหาร ร้านสะดวกซื้อ ค้าปลีกรายใหญ่ ที่ยังเดินหน้าขยายสาขาเพิ่มต่อเนื่อง”

อนาคตใช้หุ่นยนต์แทนคน

“เวทิต โชควัฒนา” กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ สะท้อนภาพในเรื่องนี้กับการปรับขึ้นค่าแรงว่า เมื่อค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น ค่าแรงก็ต้องขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด ธุรกิจต้องปรับตัวรับมือ ซึ่งมีหลาย ๆ ส่วน ถ้าธุรกิจที่ใช้แรงงานแบบเข้มข้นอาจจะหนักหน่อย หรือกรณีของธุรกิจค้าปลีกที่ต้องใช้พนักงานจำนวนมาก ก็ถือว่าเรื่องใหญ่เช่นกัน เพราะห้างค้าปลีก ต้นทุนหลัก ๆ มาจากค่าไฟ ค่าแรง พอได้รับผลกระทบต้นทุนขึ้น ก็จะมาขอขยับค่าจีพีกับซัพพลายเออร์มากขึ้น เรื่องจีพี หรือ gross profit หรือกำไรเบื้องต้น ซึ่งค่าจีพีเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เดิมค้าปลีกมีการเจรจาเพื่อขอค่าจีพีเพิ่มอยู่แล้ว ตอนนี้เมื่อต้นทุนค้าปลีกขึ้นก็คงมีการเจรจาหนักขึ้น

ขณะที่ซัพพลายเออร์ก็กระทบเช่นกัน ในฝั่งการผลิตมีต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้น อย่างวันนี้ มาม่าขึ้นได้ 1 บาท ก็ไม่พอ แต่ดีกว่าไม่ได้ขึ้น ยังพอลืมตาอ้าปากได้ แต่ไม่ถึงกับครอบคลุมต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคที่ไม่ได้เป็นสินค้าควบคุม ไม่สามารถขึ้นราคาได้มาก เพราะตลาดมีการแข่งขันสูง

ถ้าขึ้นเยอะเกินไปอาจเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่งได้ เราจึงพยายามเจรจากับคู่ค้าที่เป็นค้าปลีกว่า อย่าเพิ่งขึ้นจีพีเพิ่มเลย เพราะว่าเราก็กระทบหนักอยู่เหมือนกัน ซึ่งต้องเจรจากันไป

ยอมรับว่าซัพพลายเชนจะต้องคุยกันหมด ธุรกิจอยู่ในจุดที่กำไรน้อยลงกันหมด เพราะเป็นสถานการณ์ของโลก และเป็นเทรนด์อยู่แล้ว เมื่อค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น ธุรกิจหรือบริษัทก็ต้องมีการปรับการบริหารจัดการองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“สำหรับในส่วนของเครือสหพัฒน์เอง เมื่อต้นทุนเพิ่มขึ้น ที่ผ่านมามีการนำเทคโนโลยีระบบออโตเมชั่นและหุ่นยนต์เข้ามาใช้ในการผลิตอยู่บ้างแล้ว และต่อจากนี้ไปอาจได้เห็นมากขึ้น และต้องมาคำนวณว่าการลงทุนในออโตเมชั่น ถ้าเทียบกับค่าแรงจะคุ้มค่าหรือไม่ แต่ส่วนใหญ่คุ้มอยู่แล้ว เพียงแค่ต้องทำให้คุ้มมากขึ้นเท่านั้นเอง ดังนั้นจากนี้ไปจะเห็นการใช้ออโตเมชั่นในโรงงานการผลิตมากขึ้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่ได้ผลระยะยาว” ผู้บริหารสหพัฒน์ย้ำในตอนท้าย

อาจกล่าวได้ว่า ภาพที่เกิดขึ้นดังกล่าวอาจป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่จะทวีความรุนแรงมากขึ้น

ผู้ประกอบการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งระดมสมองเพื่อหาทางออก หาทางแก้ไขก่อนจะสายเกินแก้ และกลายเป็นปัญหาคอขวดทางเศรษฐกิจในวันข้างหน้า