สธ.ล้อมคอก คุมเข้มช่อดอกกัญชา ลงพื้นที่สุ่มตรวจทุกวัน

กัญชา
Photo : Pixabay

กรมการแพทย์แผนไทยฯ แจงเหตุประกาศ สธ.คุมช่อดอกกัญชา หวั่น THC มีผลต่อจิตประสาท ห้ามขายจ่ายแจกให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา ห้ามจำหน่ายเพื่อสูบในสถานที่ประกอบการ ห้ามขายผ่านเวนดิ้งแมชีน ยันห้ามจัดปาร์ตี้กัญชา ลั่นระยะแรกลงพื้นที่สุ่มตรวจทุกวันจนกว่า พ.ร.บ.กัญชากัญชง จะคลอด

วันที่ 29 พฤศจิกายน 2565 ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก แถลงข่าว “มูลเหตุการคุมช่อดอกกัญชาและแนวทางปฏิบัติในการใช้กฎหมาย สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ภายหลังประกาศราชกิจจานุเบกษา” ว่า ประกาศมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2565 เป็นต้นไป

โดยเหตุผลที่ควบคุมช่อดอกกัญชา เนื่องจากข้อกังวลเรื่องการใช้กัญชา คือ ตัวสาร THC ที่มีปัญหาออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท แต่สาร CBD จะมีประโยชน์ ทั้งเรื่องการลดการอักเสบ ผสมในครีมลดการอักเสบในผิวหนัง เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ จึงต้องควบคุมช่อดอกเป็นหลัก เพราะมี THC มาก ซึ่งในไทยจะพบ 5-20% ในช่อดอก หลายพันธุ์อาจขึ้นไปถึง 30% แต่ส่วนอื่น ๆ อย่างใบ ข้อมูลวิชาการพบว่า มี THC 0.2% ซึ่งก็ใกล้เคียงกับสารสกัดที่เกิน 0.2% เป็นยาเสพติด แต่ข้อเท็จจริงมีสาร CBD อยู่ 2% ซึ่งเมื่อมี CBD เข้ามาด้วยจะทำให้ตัว THC ออกฤทธิ์ลดลง แต่ช่อดอกจะสูงกว่าจึงต้องควบคุม

นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์
นพ.ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์

สำหรับสาระสำคัญของประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ที่คุมเรื่องช่อดอก ประกาศ ณ วันที่ 11 พ.ย. 2565 มีสาระสำคัญ อาทิ ข้อ 3 ระบุว่า ผู้ใดประสงค์จะศึกษาวิจัย ส่งออก จำหน่าย หรือแปรรูปสมุนไพรควบคุม (ช่อดอกกัญชา) เพื่อการค้า ต้องขออนุญาตเท่านั้น โดยขอได้ทั้งบุคคล และนิติบุคคล เงื่อนไขไม่ได้ซับซ้อน

Advertisment

โดยในส่วนกลาง อาทิ กรุงเทพฯ ขอใบอนุญาตได้ที่กรมการแพทย์แผนไทยฯ หรือต่างจังหวัด ขอที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เมื่อมาขอแล้วและได้รับใบอนุญาต ต้องติดใบอนุญาตในสถานที่นั้น ๆ และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไข ซึ่งการควบคุมตามกฎหมายฉบับนี้จะครอบคลุมเฉพาะผู้ขออนุญาตเท่านั้น หากไม่ขอก็จะผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.นี้ มีโทษอาญา

สำหรับเงื่อนไขตามประกาศฉบับนี้ ประกอบด้วย 1) ต้องจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งที่มา การนำไปใช้ และจำนวนที่เก็บไว้ ณ สถานประกอบการ และให้รายงานข้อมูลนั้นต่อนายทะเบียนตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด 2) ผู้รับใบอนุญาตให้ส่งออกสมุนไพรควบคุม เพื่อการค้าต้องแจ้งรายละเอียดการส่งออกต่อผู้อนุญาตเป็นรายครั้งตามแบบที่อธิบดีประกาศกำหนด 3) ห้ามจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร

4) ห้ามจำหน่ายให้กับนักเรียน นิสิตหรือนักศึกษา ข้อนี้ได้มีการเติมเข้ามาใหม่เพราะยังมีข้อกังวล เนื่องจากอายุมากกว่า 20 ปี แต่ยังเป็นนักเรียน นิสิต หรือนักศึกษาก็ห้ามเช่นกัน 5) ห้ามจำหน่ายเพื่อการสูบในสถานที่ประกอบการเว้นแต่การประกอบวิชาชีพต่าง ๆ 6) ห้ามจำหน่ายเพื่อการค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์

7) ห้ามโฆษณาสมุนไพรควบคุมในทุกช่องทางเพื่อการค้า 8) ห้ามจำหน่ายในสถานที่ดังนี้ วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสุนก

Advertisment

ส่วนข้อ 4 ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตไปก่อนประกาศนี้ต้องปฏิบัติตามประกาศให้ผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 46 อยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ เฉพาะในส่วนที่เป็นสมุนไพรควบคุมตามประกาศนี้ ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในข้อ 3 ของประกาศฉบับนี้ด้วย

ส่วนกรณีที่มีการเปิดให้สูบกัญชาในสถานประกอบการทั่วไป ถือว่าเป็นการผิดกฎหมาย เนื่องจากขัดต่อกฎหมายตามประกาศดังกล่าว คือ ห้ามจำหน่ายสมุนไพรควบคุมเพื่อการสูบในสถานที่ประกอบการ หรือร้านค้า

เว้นแต่การจำหน่ายโดยบุคคลดังต่อไปนี้ ที่เป็นการใช้ในการรักษาผู้ป่วยของตน ได้แก่ ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทย ประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยประยุกต์ หมอพื้นบ้าน ผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาการแพทย์แผนจีน ผู้ประกอบวิชาชีพทันตกรรม และผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ โดยผู้ประกอบวิชาชีพดังกล่าวสามารถใช้ได้ตามมาตรฐานของแต่ละวิชาชีพ

โดยแต่ละสภาวิชาชีพก็มีการควบคุมจรรยาบรรณวิชาชีพอยู่แล้ว และหากจะใช้ช่อดอกมาปรุงหรือใช้เป็นยาเพื่อรักษาผู้ป่วยก็ต้องขอใบอนุญาตให้ถูกต้องเช่นกัน นอกจากนี้ กรณีผู้ที่กระทำความผิดและไม่ดำเนินการตามประกาศจะพิจารณาพักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตแล้วแต่กรณี

ขณะที่ นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยฯ กล่าวเสริมว่า กรมจะมีการหารือกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการบังคับใช้กฎหมายร่วมกัน อย่าไรก็ตาม ในเรื่องกฎหมายกรณีใครฝ่าฝืนกฎหมายฉบับนี้ในการจำหน่ายไม่ได้รับอนุญาตจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ กฎหมายยังห้ามขายออนไลน์ ห้ามโฆษณาออนไลน์เกี่ยวกับช่อดอก ซึ่งจะสอดคล้องกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ แต่มีโทษหนักกว่า คือ มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ปรับเป็นแสนบาท ดังนั้น เสี่ยงผิดกฎหมายทั้งสองฉบับ

“มีคำถามว่าการไปจัดปาร์ตี้ ทั้งอาหาร กัญชา ดนตรีทำได้หรือไม่ อันนี้เข้าข่ายสถานบริการเถื่อน ผิดกฎหมายกระทรวงมหาดไทย ดังนั้น การดำเนินการแบบนี้จะมีกฎหมายหลายฉบับมาอุดช่องโหว่ได้พอสมควร หากจะควบคุมการที่ผู้ประกอบการจัดโซนนิ่งให้สูบกัญชา ต้องรอกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชาฯ ที่กำลังจะเข้าพิจารณาในสภา เพราะสามารถให้กระทรวง ออกประกาศกำหนดโซนนิ่งได้

อย่างไรก็ตาม กรมจะมีเจ้าหน้าที่จะมีการตรวจเยี่ยมสถานประกอบการ สถานบริการที่เกี่ยวข้องว่ามีการดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่ จะมีการลงพื้นที่ทุกสัปดาห์ และจะตรวจแบบนี้จนกว่าจะมี พ.ร.บ.กัญชากัญชงจะผ่านการพิจารณาจนมีผลบังคับใช้” นพ.เทวัญกล่าว

นอกจากนี้ นพ.ธงชัย ยังกล่าวถึงกรณีการจัดปาร์ตี้กัญชาที่ว่าไม่ได้จำหน่าย ถือว่าผิดหรือไม่ ว่า คำว่าจำหน่ายใน พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีนิยามว่า ขาย จ่าย แจก หรือแลกเปลี่ยน ดังนั้น จำหน่ายไม่ได้แปลว่าขายอย่างเดียว ซึ่งกฎหมายกำหนดนิยามไว้แล้ว การจัดปาร์ตี้จึงไม่สามารถนำกัญชามาแจก มาแลกเปลี่ยนด้วยวิธีการใดก็ตาม ถือว่าผิด และการลงพื้นที่ตรวจสอบอาจไม่ใช่สัปดาห์ครั้ง แต่ช่วงแรกอาจมีการสุ่มตรวจทุกวัน