บัตรทอง รับยารักษา 16 อาการฟรี ที่เซเว่น อีเลฟเว่น เช็กขั้นตอน

ลูกค้าเซเว่น อีเลฟเว่นที่มีสิทธิบัตรทองสามารถรับยารักษา 16 อาการ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส 

วันที่ 4 มกราคม 2566 ร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ภายใต้การบริหารงานของบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) แจ้งผ่านเพจเฟซบุ๊กว่า ลูกค้าเซเว่นฯที่มีสิทธิบัตรทอง รับยาไม่มีค่าใช้จ่ายได้ที่ร้านยา เอ็กซ์ต้า พลัส ครอบคลุมถึง 16 รายการ

เซเว่นฯ ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า เฉพาะผู้มีสิทธิบัตรทอง ครอบคลุม 16 อาการ ได้แก่ ไข้, ไอ, เจ็บคอ, ปวดหัว, เวียนหัว, ปวดท้อง, ท้องเสีย, ท้องผูก, ปัสสาวะลำบาก, ตกขาวผิดปกติ, ปวดข้อ, เจ็บกล้ามเนื้อ, บาดแผล, อาการทางผิวหนัง ผื่น คัน, ความผิดปกติต่าง ๆ เกี่ยวกับตา และความผิดปกติต่าง ๆ เกี่ยวกับหู

พร้อมกันนี้ยังระบุถึงขั้นตอนการรับบริการทั้งหมด 3 ขั้นตอน ดังนี้

  1. แสดงบัตรประชาชน : นำมายื่นที่ร้านยาใกล้บ้าน เพื่อตรวจสอบสิทธิบัตรทอง
  2. เภสัชกรคัดกรองอาการเบื้องต้น : จ่ายยาพร้อมให้คำแนะนำการใช้ยา
  3. ติดตามอาการ : ภายใน 3 วัน

โดยสามารถตรวจสอบตรวจสอบสาขาที่เข้าร่วมได้ ที่นี่ และทางไลน์

ก่อนหน้านี้ ภก.ปรีชา พันธุ์ติเวช อุปนายกสภาเภสัชกรรมคนที่ 2 เปิดเผยว่า ด้วยความร่วมมือระหว่างสภาเภสัชกรรมและสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สำหรับบริการดูแลโรคทั่วไป หรือการเจ็บป่วยเล็กน้อย (common illnesses) ให้แก่ผู้มีสิทธิบัตรทองที่ไปรับบริการที่ร้านยาที่เข้าร่วมโครงการทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงยาและการดูแลได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางไปแออัดที่โรงพยาบาล

ภก.ปรีชากล่าวว่า จุดเริ่มต้นของโครงการนี้ เกิดจากในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา ร้านยาได้มีส่วนร่วมช่วยดูแลประชาชน ทั้งโครงการแจก ATK การให้บริการ “เจอ แจก จบ” ซึ่งจ่ายยาและดูแลอาการทั่วไปที่เกิดจากโควิด มีการติดตามอาการหลังได้รับยา และได้รับเสียงชื่นชมจากประชาชนเป็นอย่างมาก เพราะรู้สึกว่าได้รับความใส่ใจ อีกทั้งสะดวกในการมารับบริการ

ดังนั้น ในปีงบประมาณ 2566 สภาเภสัชกรรมมองว่า เนื่องจากประชาชนเข้าไปรับบริการที่โรงพยาบาลจำนวนมาก จนเกิดความแออัดอย่างมาก ขณะที่แพทย์ก็มีภาระต้องดูแลทั้งผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก ซึ่งหากมีหน่วยบริการที่ลดความแออัดได้ก็จะเป็นเรื่องดี อีกทั้งยังทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งทาง สปสช.ก็ตอบรับในการให้ร้านยาเข้ามาเป็นหน่วยบริการในระบบบริการปฐมภูมิ จนเป็นที่มาที่ให้ร้านยาดูแลอาการเจ็บป่วยทั่ว ๆ ไป ซึ่งส่วนมากมักเป็นอาการที่พบเจอในลูกค้าที่มาซื้อยาอยู่แล้ว