มายด์แชร์ คาดปี 2566 เม็ดเงินโฆษณาโต 1.2 แสนล้าน

พิทักษ์ อินทรทูต

“มายด์แชร์” ชี้โควิด-19 คลี่คลาย หนุนเศรษฐกิจโต 4% คาดปีนี้เม็ดเงินโฆษณาโต 5% ยอดทะลุ 1.2 แสนล้าน สื่อนอกบ้าน-สื่อออนไลน์ มาแรง เผยพฤติกรรมผู้บริโภคตัดสินใจซื้อจากการรีวิว-สนใจในโซเชียลคอมเมิร์ซมากขึ้น ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม-รับผิดชอบต่อสังคม มีส่วนต่อการตัดสินใจการซื้อสินค้า

นายพิทักษ์ อินทรทูต กรรมการผู้จัดการ บริษัท มายด์แชร์ (ประเทศไทย) จำกัด เอเยนซี่เครือข่ายด้านการตลาด และการสื่อสารในเครือ กรุ๊ปเอ็ม เปิดเผยว่า ปี 2566 นี้เป็นปีที่ผู้บริโภคจะสามารถใช้ชีวิตได้เกือบปกติดังเช่นในยุคก่อนการระบาดของโควิด-19 ถึงแม้ว่าสถานการณ์ทั่วโลกจะอยู่ในภาวะถดถอย แต่คาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่มากกว่า 3.4-4% เมื่อเทียบจากปีก่อนหน้า

จากปัจจัยบวกทางด้านการท่องเที่ยว และการเพิ่มขึ้นของการใช้จ่ายในภาคครัวเรือน ทำให้คาดการณ์ว่าในภาคอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาจะเติบโตขึ้นประมาณ 5% ในปีนี้ ประกอบกับเทคโนโลยีของสื่อที่พัฒนาขึ้นและเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น โดยผู้บริโภคจะมีการตัดสินใจซื้อสินค้าจากการรีวิวของผู้ใช้จริงและสนใจในโซเชียลคอมเมิร์ซมากขึ้น

“เราเห็นสัญญาณบวกจากภาคเอกชนและภาคครัวเรือนต่อการใช้จ่ายเงินมากขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนปีใหม่ ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของคอนเสิร์ต การจัดงานปีใหม่ ฯลฯ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าไทยเราใกล้สู่การกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้เกือบเต็มรูปแบบ แต่แน่นอนว่าเราก็ยังคงต้องจับตามองทั้งสถานการณ์โควิด และสถานการณ์รอบโลกกันอยู่ ทั้งนี้ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมมีเดีย ยังคงมีปัจจัยที่ทำให้การใช้เงินในภาคโฆษณายังคงเป็นบวก และในส่วนของเทคโนโลยีของสื่อที่พัฒนาขึ้น พร้อมทั้งในส่วนของคอนเทนต์ที่เจาะกลุ่มผู้บริโภคได้มากขึ้น”

นายพิทักษ์ยังคาดการณ์ด้วยว่า ปี 2566 นี้คาดว่าอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาตลอดปีจะเติบโตประมาณ 5% หรือประมาณ 124,362 ล้านบาท จากปี 2565 มีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 118,434 ล้านบาท หรือโตประมาณ 9% จากปีก่อนหน้านี้

แบ่งออกเป็น 1.สื่อทีวี 61,560 ล้านบาท สัดส่วน 49.5% 2.สื่อดิจิทัล 27,772 ล้านบาท สัดส่วน 22.3% 3.สื่อนอกบ้าน 10,022 ล้านบาท สัดส่วน 8.1% 4.สื่อโรงหนัง 9,133 ล้านบาท สัดส่วน 7.3% 5.สื่อเคลื่อนที่ 8,255 ล้านบาท สัดส่วน 6.6% 6.สื่อวิทยุ 3,543 ล้านบาท สัดส่วน 2.8% 7.สื่อหนังสือพิมพ์ 2,210 ล้านบาท สัดส่วน 1.8% 8.สื่อในห้าง 1,265 ล้านบาท สัดส่วน 1.0% และ 9.สื่อนิตยสาร 602 ล้านบาท สัดส่วน 0.5% และสื่อที่น่าจับตามองในปีนี้จะเป็น สื่อนอกบ้าน และสื่อออนไลน์

ส่วนปี 2565 ที่ผ่านมา อุตสาหกรรมโฆษณารวม 118,434 ล้านบาท แบ่งออกเป็น 1.สื่อทีวี 62,442 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 52.7% 2.สื่อดิจิทัล 26,623 ล้านบาท สัดส่วน 22.5%

3.สื่อกลางแจ้ง 7,859 ล้านบาท สัดส่วน 6.6% 4.สื่อโรงหนัง 7,706 ล้านบาท สัดส่วน 6.5% 5.สื่อเคลื่อนที่ 6,394 ล้านบาท สัดส่วน 5.4% 6.สื่อวิทยุ 3,457 ล้านบาท สัดส่วน 2.9% 7.สื่อหนังสือพิมพ์ 2,413 ล้านบาท สัดส่วน 2.0% 8.สื่อในห้าง 902 ล้านบาท สัดส่วน 0.8% และ 9.สื่อนิตยสาร 636 ล้านบาท สัดส่วน 0.5%

โดยในปี 2565 กลุ่มสินค้าเซ็กเมนต์ที่มีการโฆษณามากที่สุด 3 อันดับแรก หลัก ๆ เป็น 1.ธุรกิจค้าปลีก 8,743 ล้านบาท 2.เครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ 8,064 ล้านบาท และ 3.รถยนต์ 4,224 ล้านบาท และเซ็กเมนต์ที่มีการเติบโตสูงสุด คือ ยาและเวชภัณฑ์ 2,689 ล้านบาท จาก 1,785 ล้านบาท จากปีก่อนหน้านี้ และ เว็บไซต์&แอป 2,358 ล้านบาท จาก 1,491 ล้านบาท เมื่อปีก่อนหน้านี้

สำหรับเทรนด์โฆษณาปีนี้ เนื่องจากผู้บริโภคเริ่มให้ความสนใจต่อแบรนด์ที่มีความสนใจในเรื่องสิ่งแวดล้อม และการรับผิดชอบต่อสังคม และความถูกต้องของแบรนด์ ซึ่งในส่วนของการตัดสินใจในการซื้อสินค้า จะเชื่อการรีวิวสินค้าจากผู้ใช้สินค้าจริง หรือ customer infuencer และ super app ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายในแพลตฟอร์มเดียว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคจับตามองในยุค 2023

รวมถึงการเพิ่มขึ้นของการหาข้อมูลผ่านทาง social search ที่ไม่ใช่แค่การค้นหาผ่าน Google เพียงอย่างเดียว และ VDO ยังคงเป็นรูปแบบคอนเทนต์ที่ผู้บริโภคสนใจ อาทิ TikTok, Instagram Reels, Facebook Shorts, YouTube Shorts รวมถึงโซเชียลคอมเมิร์ซ ที่เป็นช่องทางการซื้อของใหม่ของผู้บริโภค

“หากแบรนด์ไม่สร้างการรับรู้ที่กว้างขึ้นทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ การเจาะตลาดซึ่งเป็นกุญแจสำคัญอาจไม่กลายเป็นความจริง” นายพิทักษ์กล่าวทิ้งท้าย