ถอดไกด์ไลน์ใหม่ WHO สารให้ความหวานแบบไหนไม่ควรกิน

สารให้ความหวาน
รูปจาก pexels.com

องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยไกด์ไลน์ใหม่ แนะเลี่ยงการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลบางชนิดในการคุมน้ำหนักหรือลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หลังวิจัยพบไม่ได้ผล และอาจเสี่ยงโรคหลอดเลือด

วันที่ 17 พฤษภาคม 2566 องค์การอนามัยโลก เผยคำแนะนำใหม่สำหรับการใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาล โดยไม่แนะนำให้ใช้เพื่อควบคุมน้ำหนัก หรือลดความเสี่ยงเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)

เลี่ยงกลุ่มไม่ให้พลังงาน

สำหรับสารให้ความหวานแทนน้ำตาลที่ WHO “ไม่แนะนำให้ใช้” จะเป็นกลุ่มสารให้ความหวานที่ไม่ให้พลังงานทุกชนิด ไม่ว่าจะสังเคราะห์ขึ้นหรือมีอยู่ในธรรมชาติ อาทิ แอซีซัลเฟม โพแทสเซียม (acesulfame K), aspartame, แอดแวนเทม (advantame), ไซคลาเมต (cyclamates), นีโอเทม (neotame), ขัณฑสกร (saccharin), ซูคราโลส (sucralose), หญ้าหวาน (stevia) และอนุพันธ์ของหญ้าหวาน (stevia derivatives)

ทั้งนี้เนื่องจากผลวิจัยล่าสุดชี้ว่า การใช้สารให้ความหวานแบบไม่ให้พลังงานไม่มีผลในการลดระดับไขมันในร่างกายของทั้งเด็กและผู้ใหญ่ในระยะยาว ขณะเดียวกันผลการวิจัยยังเสนอว่า การใช้สารเหล่านี้ในระยะยาวอาจมีผลข้างเคียงในทางลบ เช่น เกิดความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคหลอดเลือดหัวใจ และเพิ่มอัตราการเสียชีวิตในวัยผู้ใหญ่

อย่างไรก็ตาม คำแนะนำใหม่นี้ไม่รวมถึงสารให้ความหวานที่ให้พลังงาน อย่างกลุ่มน้ำตาลแอลกอฮอล์ (sugar alcohol) หรือ polyols อาทิ glycerol, erythritol, threitol, arabitol, xylitol, ribitol, mannitol, sorbitol, galactitol, fucitol, iditol, inositol, volemitol, isomalt, maltitol, lactitol, maltotrito, maltotetraitol, polyglycitol

และน้ำตาลแคลอรีต่ำอื่น ๆ รวมถึงการใช้สารให้ความหวานในกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน และไม่รวมการใช้ในสินค้าดูแลส่วนบุคคลหรือสินค้าดูแลผิว อย่างยาสีฟัน ครีมทาผิว และยา

แนะลดกินหวาน-ทานผลไม้

ฟรานเชสโก้ บรังก้า ผู้อำนวยการฝ่ายโภชนาการและความปลอดภัยของอาหาร องค์การอนามัยโลก อธิบายว่า การใช้สารให้ความหวานแทนน้ำตาลปกติ ไม่ช่วยเรื่องการลดน้ำหนักในระยะยาว ดังนั้นผู้บริโภคควรหาหนทางอื่นในการลดการบริโภคน้ำตาล อย่างทานอาหารที่มีน้ำตาลอยู่แล้ว เช่น ผลไม้ หรืออาหาร-เครื่องดื่มที่ไม่มีการเติมน้ำตาลเพิ่ม

“วิธีที่ดีที่สุดในการคุมน้ำหนักหรือลดความเสี่ยงโรค NCDs คือ ลดการทานหวานลง ซึ่งยิ่งเริ่มได้ตั้งแต่อายุยังน้อยก็ยิ่งดีต่อสุขภาพมากขึ้นเท่านั้น”

นอกจากนี้ องค์การอนามัยโลกยังย้ำว่า การที่หน่วยงานในแต่ละประเทศ จะนำข้อแนะนำนี้ไปใช้สร้างนโยบายต่าง ๆ อาจต้องมีการอภิปรายและปรับให้เข้ากับสภาพของแต่ละประเทศก่อน เช่น ปริมาณการบริโภคในกลุ่มอายุต่าง ๆ เนื่องจากความเชื่อมโยงระหว่างการบริโภคสารให้ความหวาน กับปัญหาสุขภาพที่พบในงานวิจัยที่เป็นที่มาของคำแนะนำนี้ อาจยังมีความคลาดเคลื่อนจากความแตกต่างของบุคคลที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง และความซับซ้อนของการใช้สารให้ความหวาน