ร้านค้าระส่ำแห่ถอดเมนูกัญชา จ่อดันกลับเข้าบัญชี “ยาเสพติด”

กัญชา

ตลาดกัญชาระส่ำ หลังก้าวไกล MOU ผลักดันนำกัญชาเข้าไปอยู่ในบัญชียาเสพติด วิสาหกิจชุมชนกุมขมับหวั่นกระทบหนัก เผยสภาพตลาดดีมานด์ลดวูบ-ลักลอบนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านเพียบ ทำราคาร่วงต่อเนื่อง ล่าสุดใบสดเหลือแค่กิโลละ 400-500 บาท ร้านอาหาร-เครื่องดื่ม ทยอยถอดเมนูกัญชา

ขณะนี้แม้ความเคลื่อนไหวในการนำ “กัญชา” กลับเข้าไปอยู่ในบัญชียาเสพติดอีกครั้งหนึ่ง หลังพรรคก้าวไกลได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งจะยังไม่มีรูปธรรมหรือรายละเอียดที่ชัดเจนนัก แต่อีกด้านหนึ่งก็พบว่านโยบายดังกล่าวกลายเป็นแรงกระเพื่อมที่ส่งผลให้ตลาดกัญชาต้องอยู่ในสถานการณ์เงียบเหงาเพื่อรอดูความชัดเจนที่กำลังจะเกิดขึ้น

วิสาหกิจชุมชนโอดกระทบหนัก

แหล่งข่าวจากวิสาหกิจชุมชนที่ได้รับใบอนุญาตการปลูกกัญชาในจังหวัดนครพนม ยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่มีกระแสการนำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติด ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการวิสาหกิจชุมชนที่มีใบอนุญาตการปลูกกัญชาหลาย ๆ ราย มีความกังวล เนื่องจากเกรงว่าจะกระทบกับการลงทุนที่ได้มีการลงทุนไปแล้ว โดยเฉพาะรายที่เพิ่งจะกระโดดเข้ามาในตลาดนี้และเพิ่งปลูกได้ไม่กี่รอบ เนื่องจากต้องกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินมาลงทุน อาจจะขาดทุนและมีปัญหาเรื่องหนี้ตามมา

เชื่อว่าจากนี้ไปจะยังไม่มีการลงทุนใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อรอดูความชัดเจนของนโยบายนี้อีกครั้งหนึ่งว่า เนื้อหาสาระเป็นอย่างไร จะกระทบมากน้อยแค่ไหน แต่เบื้องต้นก็จะต้องเตรียมปรับตัวเพื่อรองรับกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะเกิดขึ้น

แหล่งข่าวรายนี้ยังระบุด้วยว่า ต้องยอมรับว่า ตอนนี้ตลาดกัญชาไม่ได้บูมมากเหมือนช่วงแรก แม้ตลาดช่อดอกที่ขายให้โรงพยาบาลหรือองค์การเภสัชกรรมอาจจะไม่มีปัญหา แต่ส่วนประกอบอื่น ๆ ของกัญชา โดยเฉพาะใบ ตอนนี้ราคาตกลงมาก เนื่องจากความต้องการในตลาดที่ลดลงมากและลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเนื่องจากความนิยมในสินค้ากัญชาที่ลดลงอย่างรวดเร็ว ประกอบกับทางการอนุญาตให้ทุกครัวเรือนปลูกเพื่อใช้ในครัวเรือนได้ และมีการปลูกกัญชากันแทบทุกบ้าน หรือแม้แต่ร้านอาหารที่เคยซื้อใบกัญชาไปปรุงอาหาร ก็มีการปลูกไว้ใช้เอง

นอกจากนี้ ยังมีการลักลอบนำเข้ากัญชาจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีมากขึ้น และการที่กัญชาไม่เป็นยาเสพติด ดังนั้น การลักลอบนำเข้าจะเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.กักพืช ซึ่งมีโทษไม่รุนแรง เพียงแค่จำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หรืออาจจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ศุลกากร การลักลอบนำเข้ากัญชาจากประเทศเพื่อนบ้านส่วนใหญ่จะเป็นการลักลอบผ่านทางตะเข็บชายแดน ซึ่งมีทั้งเมล็ดพันธุ์ ต้นกล้า รวมทั้งช่อดอก ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการจับได้เป็นระยะ ๆ

“ปัจจัยดังกล่าวล้วนทำให้กัญชามีราคาตกลง ยกตัวอย่าง กรณีของใบสด ตอนนี้เหลือเพียงกิโลกรัมละ 600-800 บาท หรือบางพื้นที่ 400-500 ก็มี จากเมื่อช่วงต้นปีที่ราคาอยู่ในระดับ 1,500-1,800 บาท เมื่อก่อนธุรกิจอาหาร เครื่องดื่ม วิ่งมาเสนอให้ราคาดี ๆ ถึงที่ แต่ตอนนี้กว่าจะขายได้ ต้องวิ่งไปโทร.ไปง้อให้มาซื้อ หรือสินค้าที่วิสาหกิจชุมชนผลิตออกมา เช่น ชากัญชาก็ขายไม่ค่อยได้ ทำให้วิสาหกิจชุมชนหลาย ๆ แห่งเริ่มลดปริมาณการปลูกลง”

หวั่นเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ

นายธนดี พันธุมโกมล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ บริษัท ซาลัส ไบโอซูติคอล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตสารสกัดจากกัญชา-กัญชง เพื่อป้อนอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม-อาหาร-เวชสำอาง ในจังหวัดเชียงใหม่ แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า นโยบายนำกัญชาเข้ากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติด ไม่ควรทำแบบหักดิบ เพราะอาจจะสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจ เนื่องจากกัญชาเป็นพืชที่มีประโยชน์ทางการแพทย์และเชิงสุขภาพ และช่วยสร้างมูลค่าต่อภาคการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ขณะเดียวกันก็ต้องมีการควบคุมการใช้ โดยมีใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น เหมือนหลาย ๆ ประเทศที่มีการใช้กัญชาทางการแพทย์ เช่น ออสเตรเลีย

ทั้งนี้ การนำกัญชากลับเข้าสู่บัญชียาเสพติด ควรมีการแยกอย่างชัดเจนระหว่างส่วนที่เป็นยาเสพติด และส่วนที่ไม่เป็นยาเสพติดที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่าง ๆ เช่น อาหาร ยา เครื่องสำอาง เป็นต้น ประเด็นสำคัญคือ ควรมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นในการควบคุมการใช้ช่อดอกของกัญชาซึ่งมีสาร THC ในปริมาณสูง ซึ่งนำไปสู่การเสพ โดยต้องมีกฎหมายควบคุมอย่างเข้มงวด ทั้งการขายของกลุ่มบุคคลทั่วไป

การควบคุมการลักลอบนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็จะต้องดูว่า จะมีการนำกัญชงไปอยู่ในบัญชียาเสพติดด้วยหรือไม่ หากเข้า อาจส่งผลกระทบต่อบริษัทผู้ผลิตเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง อาหารเสริม ฯลฯ ที่ใช้สารสกัดจากกัญชงเป็นหลัก

“แม่โจ้” แนะเปิดช่องงานวิจัย

ศาสตราจารย์ ดร.อานัฐ ตันโช ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาเกษตรธรรมชาติ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวในเรื่องนี้ว่า จุดยืนของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ในการวิจัยเรื่องกัญชา ตลอดหลายปีที่ผ่านมาคือ ไม่สนับสนุนให้นำกัญชาไปใช้ในเชิงนันทนาการ โดยเฉพาะไม่จำหน่ายช่อดอกแบบขายปลีกย่อย 5-10 กรัม เพื่อนำไปเสพ แต่เน้นการนำไปใช้ในทางการแพทย์หรือสุขภาพเท่านั้น เช่น การนำไปทำน้ำมันกัญชา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นโยบายการนำกัญชากลับไปอยู่ในบัญชียาเสพติด อีกด้านหนึ่งควรต้องมองในเชิงการใช้ประโยชน์ของกัญชาด้วย ซึ่งจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้พบว่า สายพันธุ์กัญชาที่มหาวิทยาลัยปลูกมีสาร CBD ที่อยู่ในสูตรยากว่า 300 สูตร ซึ่งสามารถนำไปใช้ในทางการแพทย์และการรักษาโรคได้ เช่น ช่วยการนอนหลับ บำรุงกระดูก เป็นต้น ขณะเดียวกัน ก็ควรมีการเปิดช่องในเรื่องของการวิจัย เพื่อให้ประเทศไทยเป็นแหล่งปลูกกัญชาออร์แกนิกที่ได้มาตรฐาน และนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพ และส่งออกไปต่างประเทศเพื่อนำรายได้เข้าประเทศในอนาคต

ลักลอบเปิดร้านขายเกลื่อน

แหล่งข่าวจากวงการร้านอาหารและเครื่องดื่มขนาดกลาง ที่มีสาขาทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการร้านอาหาร ร้านกาแฟและเครื่องดื่ม ที่เคยมีเมนูกัญชาให้บริการหลาย ๆ รายได้ทยอยถอดและยกเลิกให้บริการเมนูที่มีส่วนผสมของกัญชาออกจากร้าน เนื่องจากเมนูดังกล่าวไม่ได้รับความนิยม นอกจากนี้ หลาย ๆ รายยังมีความกังวลว่าเมนูดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบหรือเป็นการมอมเมาเยาวชน ที่อาจจะนำไปสู่การเสพกัญชาในระยะถัดไป

“จริง ๆ แล้วเราก็เห็นข่าวอาชญากรรมที่เกิดจากการเสพกัญชาเป็นระยะ ๆ และมีมากขึ้นเรื่อย ๆ และที่น่ากังวลในเวลานี้ก็คือ การลักลอบเปิดร้านค้า ร้านค้าปลีกหาบเร่ แผงลอย เพื่อจำหน่ายหรือแปรรูปกัญชาพันลำ และจำหน่ายช่อดอก โดยไม่ได้รับอนุญาตมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นความผิดหรือฝ่าฝืนประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยวและหัวเมืองใหญ่ และย่านสถานบันเทิงกลางคืน ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ที่มีให้เห็นมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งน่าเป็นห่วงมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงสาธารณสุขและตำรวจ ควรเข้มงวดและบังคับใช้กฎหมายมากกว่านี้”

บริษัทกัญชาจดทะเบียนเพียบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้แม้ว่าภาพรวมของกระแสกัญชาฟีเวอร์อาจจะหงอยเหงาลงไปบ้าง แต่อีกด้านหนึ่งกลับพบว่า ยังมีผู้สนใจที่เตรียมจะกระโดดเข้ามาในตลาดนี้อย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากตัวเลขการยื่นขอจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท ที่มีวัตถุประสงค์ว่า ทำธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับกัญชา ต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ในเกณฑ์สูงแทบทุกเดือน อาทิ ปลูก สกัด แปรรูป จำหน่าย ผลิตและจำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของกัญชา เป็นต้น

รายงานข่าวจากกรมพัฒนาธุรกิจ ระบุว่า ในช่วงเดือน ม.ค. 2566 มีบริษัทกัญชาจัดตั้งจำนวน 54 บริษัท ขณะที่เดือน ก.พ.มีประมาณ 85 บริษัท และเดือน มี.ค.ตัวเลขเพิ่มมาอยู่ในระดับ 103 บริษัท ส่วนเดือน เม.ย.ที่ผ่านมามีจำนวน 68 บริษัท

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาลงไปในรายละเอียดจะพบว่า บริษัทที่ยื่นจดทะเบียนดังกล่าว ส่วนใหญ่มีสถานที่ตั้งอยู่ในเมืองท่องเที่ยว โดยเฉพาะชลบุรี สุราษฎร์ธานี เชียงใหม่ ภูเก็ต เป็นต้น