แบรนด์นอกชิง “ฟิตเนส” ยึดทำเลฮอตปะทุเดือด 6 พัน ล.

ความตื่นตัวด้านสุขภาพทำให้ผู้บริโภคหันมาออกกำลังกายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนดีมานด์และการเติบโตของตลาดฟิตเนสไทยสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของอาเซียน แน่นอนว่าโอกาสทางธุรกิจนี้ย่อมดึงดูดผู้เล่นรายใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดหวังร่วมชิงเค้กก้อนโตมูลค่า 6,000 ล้านบาท

เพียงไตรมาสแรกมีเชนฟิตเนสรายใหญ่จากออสเตรเลียและยุโรปเปิดตัวในไทยอย่างเป็นทางการไปถึง 2 ราย พร้อมด้วยจุดขายอย่างการเปิด 24 ชั่วโมง โซนสำหรับผู้หญิง ราคาจับต้องได้และอื่น ๆ หวังจูงใจผู้บริโภคเข้ามาเป็นสมาชิก ในขณะที่อีกหลายรายเข้ามาปักธงเปิดขายแฟรนไชส์อย่างเงียบ ๆ

ในขณะที่รายเดิมอย่างฟิตเนส เฟิรส์ทและเวอร์จิ้น แอ็กทีฟ ต่างเร่งผุดกลยุทธ์ใหม่มารับมือ

ตลาดโอกาสเพียบ

“มาร์ค เอเลเลียต บิวคานันท์” กรรมการบริหาร บริษัท ฟิตเนส เฟิรส์ท (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารเชนฟิตเนส ซึ่งมีสาขา 29 แห่งทั่วประเทศ วิเคราะห์ถึงสาเหตุที่เชนฟิตเนสต่างชาติหลายรายหลั่งไหลเข้ามาในช่วง 1-2 ปีนี้ว่า เป็นผลจากการเติบโตด้านสาขาและสมาชิกของผู้ประกอบการรายปัจจุบัน ทั้งตัวฟิตเนสเฟิรส์ทเองและรายอื่น ๆ

ซึ่งสะท้อนถึงดีมานด์และความตื่นตัวของผู้บริโภคและความพร้อมทุ่มทุนเรื่องสุขภาพ ขณะเดียวกันตลาดยังมีช่องว่างในเซ็กเมนต์กลาง-แมส หลังผู้เล่นรายหลักต่างโฟกัสเซ็กเมนต์กลาง-พรีเมี่ยม เนื่องจากมีกำลังซื้อและตื่นตัวด้านสุขภาพก่อนกลุ่มอื่น

โอกาสเหล่านี้ดึงดูดให้เชนฟิตเนสต่างชาติซึ่งมีความพร้อมด้านโนว์ฮาวการบริหารและเม็ดเงินลงทุนรุกเข้ามาปักฐานในประเทศไทย โดยเล็งช่องว่างในเซ็กเมนต์กลาง-แมสด้วยจุดขายหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นราคา-ความยืดหยุ่นของแพ็กเกจ คลาสออกกำลัง ระยะเวลาให้บริการ ฯลฯ พร้อมเน้นโมเดลไซซ์เล็กหาทำเลย่านชุมชนใน กทม.ง่าย ช่วยให้ขยายสาขาได้รวดเร็ว ส่งผลให้การแข่งขันสูงขึ้น

เพิ่มโมเดล-ขยายเวลา

สำหรับบริษัทรับมือกระแสนี้ ด้วยการลอนช์โมเดลใหม่หลายรูปแบบในปีนี้ ทั้ง “โซน” ที่เซ็นทรัลเวิลด์ซึ่งรวมการออกกำลังกายเฉพาะทาง เช่น คอมแบต ปั่นจักรยาน โยคะ พิลาทีส และอื่น ๆ ไว้ในที่เดียว และในอนาคตจะมีแพ็กเกจแบบรายครั้ง เพื่อตอบโจทย์ครอบคลุมตั้งแต่สมาชิกไปจนถึงผู้บริโภคทั่วไปและนักท่องเที่ยว ตามด้วยโมเดล “ไอคอน” ในไอคอนสยามเล็งจับกลุ่มไฮเอนด์ด้วยบริการฟูลเซอร์วิสและตัวสถานที่ เช่น สระว่ายน้ำกลางแจ้ง, จุดชมวิวและอื่น ๆ และยังมีแบรนด์ใหม่ “เซเลบริตี้ฟิตเนส” สำหรับวัยรุ่นและผู้ออกกำลังกายเพื่อความสนุก ชูจุดขายด้านราคาเข้าถึงง่าย และคลาสเต้นซึ่งได้รับความนิยมในกลุ่มเหล่านี้

นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสเปิดบริการ 24 ชั่วโมง หรือขยายเวลาทำการในบางสาขาตามเทรนด์นิยมของตลาดอีกด้วย

อัดสารพัดจุดขาย

ทิศทางเดียวกันกับ “ฟิตเนส 24 เซเว่น” จากประเทศสวีเดน และมีสาขาในฟินแลนด์, นอร์เวย์, โปแลนด์ และโคลอมเบียรวม 250 แห่ง ที่นอกจากเปิด 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์แล้ว ยังเสริมจุดขายอื่น ๆ เพื่อสร้างความแตกต่าง

“นาตาเลีย ฟรอบบิท” ผู้จัดการประจำประเทศไทย อธิบายว่า จากการวิจัยของบริษัทดีมานด์และการเติบโตของตลาดฟิตเนสไทยสูงสุดในอาเซียน และยังมีผู้เล่นน้อยเมื่อเทียบกับจำนวนผู้บริโภค จึงตัดสินใจรุกเข้าทำตลาดด้วยตัวเอง โดยชูจุดขายเรื่องความคุ้มค่าด้วยการควบคุมต้นทุนให้สามารถตั้งราคาที่ 1,299 บาทต่อเดือนซึ่งต่ำกว่ารายใหญ่ แต่มีเสริมบริการย้ำความคุ้มค่า เช่น โซนสำหรับผู้หญิง คลาสออกกำลังกลุ่ม ห้องปั่นจักรยาน น้ำดื่ม จุดชาร์จไฟรวมถึงเปิดบริการ 24 ชั่วโมง

ทั้งนี้ตรียมขยายเพิ่มอีก 9 สาขาในทำเลใกล้รถไฟฟ้า หลังจากปักธงสาขาแรกที่คอมมิวนิตี้มอลล์ “ซัมเมอร์วิวส์” ใกล้สถานีบีทีเอสพระโขนงเมื่อต้นเดือน มี.ค. ก่อนจะรุกจังหวัดหัวเมืองอย่างเชียงใหม่ในอีก 2 ปีข้างหน้า

ผุด 100 สาขาชิงทำเล

นอกจากการเปิด 24 ชั่วโมงและความคุ้มค่าแล้ว เรื่องทำเลถือเป็นอีก 1 จุดขายและปัจจัยแข่งขันที่สำคัญของธุรกิจนี้ โดย “ไมเคิล เดวิด แลมบ์” กรรมการผู้จัดการ เจท 24 ฮาวน์ฟิตเนส ภูมิภาคเอเชีย ประกาศเป้าปูพรมสาขาจากปัจจุบัน 7 แห่งเป็นอย่างน้อย 100 แห่งทั่วประเทศใน 5 ปี โดยอาศัยเม็ดเงินจากบริษัทแม่ “ฟิตเนสแอนด์ไลฟ์สไตล์ กรุ๊ป” ซึ่งมีฟิตเนส 8 แบรนด์รวม 450 สาขาทั่วโลก ทุ่มลงทุนเฉลี่ยสาขาละ 30 ล้านบาทสำหรับพื้นที่ 500-1,000 ตร.ม. จับจองทำเลแนวรถไฟฟ้าใต้ดิน-บนดินเพื่อตอบโจทย์ความสะดวก พร้อมจุดขายแพ็กเกจรายเดือน 1,500 บาทราคาเดียวใช้บริการได้ทุกสาขา อุปกรณ์รุ่นใหม่ล่าสุด คลาสออกกำลังแบบเฉพาะของบริษัท รวมถึงเปิดบริการ 24 ชั่วโมงตามชื่อแบรนด์

จากการสำรวจของผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” พบว่า ยังมีผู้เล่นต่างประเทศบางที่เข้ารุกตลาดแบบโลว์โปรไฟล์ เช่น “เอนี่ไทม์ ฟิตเนส” แฟรนไชส์ฟิตเนสจากสหรัฐ ซึ่งปัจจุบันมีสาขาแฟรนไชส์กว่า 3,000 แห่งทั่วโลก ได้เข้ามาเปิดสาขาในไทย 2 สาขาที่เมืองทองธานีกับปทุมวัน และเตรียมเพิ่มอีก 2 แห่งที่คอมมิวนิตี้มอลล์ย่านนางลิ้นจี่และเควิลเลจ ชูเวลาทำการ 24 ชั่วโมง พร้อมประกาศหาแฟรนไชซี ภายใต้เงื่อนไข อาทิ เงินทุนประมาณ 2-2.6 ล้านบาท มีรายได้สุทธิ 7.8 ล้านบาท เป็นต้น

รุกต่างจังหวัด

ด้าน “เวอร์จิ้น แอ็กทีฟ” จากอังกฤษ เริ่มรุกตลาดต่างจังหวัดด้วยสาขาเซ็นทรัลเฟสติวัลเชียงใหม่เมื่อกลางเดือน มี.ค. โดย “คริสเตียน เมสัน” กรรมการผู้จัดการ กล่าวว่า สาขาที่ 7 นี้ยังคงรักษาจุดขายด้านความพรีเมี่ยมเอาไว้เช่นเดียวกับใน กทม. ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ขนาด 2,000 ตร.ม. สตูดิโอต่าง ๆ คลาสออกกำลัง 200 คลาสต่ออาทิตย์ รวมถึงยังเป็นสาขาแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีสตูดิโอชกมวยอีกด้วย

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้สะท้อนความคึกคักของตลาดฟิตเนสตลอดปีนี้ โดยเฉพาะพื้นที่แนวรถไฟฟ้าซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของหน้าใหม่เกือบทุกราย ซึ่งคงจะดุเดือดยิ่งกว่าที่เคยแน่นอน