สมรภูมิอีคอมเมิร์ซไทยโตฉุดไม่อยู่ ขาใหญ่ “ช้อปปี้” อัพเกรดฟีเจอร์-ปูพรมแคมเปญสร้างคอมมิวนิตี้โลกออนไลน์ “aCommerce” ย้ำทุนยักษ์ข้ามชาติลุยลงทุนในไทยไม่หยุด กำลังซื้อต่อหัวของคนไทยเป็นรองแค่สิงคโปร์ LINE ซัพพอร์ตครบวงจรทั้งนักช็อป-ร้านค้า “ตลาดดอทคอม” ปรับโมเดลธุรกิจเน้นผู้ค้ารายย่อย เตรียมผนึกแบงก์ใหญ่ DHL ชี้ “โลจิสติกส์-เพย์เมนต์” ได้อานิสงส์
นางสาวอากาธา โซห์ หัวหน้าฝ่ายการตลาด ช้อปปี้ ประเทศไทย ผู้ให้บริการแอปพลิเคชั่นโมบายคอมเมิร์ซ “ช้อปปี้” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยมีศักยภาพมากจากการเติบโตของจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ประกอบกับโครงสร้างพื้นฐานที่ได้รับการพัฒนาต่อเนื่อง ช่วยสนับสนุนให้ภาพรวมตลาดเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
อัพเกรดฟีเจอร์-เพิ่ม พนง.
สำหรับช้อปปี้ยังพร้อมที่จะลงทุนเพิ่ม โดยเฉพาะการมอบประสบการณ์ช็อปปิ้งออนไลน์ที่ดีที่สุด เพื่อก้าวสู่ความเป็นผู้นำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ ด้วยการต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรแบรนด์ดัง ล่าสุดจับมือกับแบรนด์ “เสี่ยวมี่ และเอซุส” ย้ำความเป็นผู้นำในหมวดสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และพัฒนาแพลตฟอร์มและฟีเจอร์การใช้งานให้ตรงความต้องการของผู้บริโภคและเทรนด์ต่าง ๆ โดยเปิดตัว “ช้อปปี้ มอลล์” รวบรวมสินค้าจากแบรนด์ชั้นนำเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับสินค้า และมีบริการคืนเงิน และคืนสินค้าภายใน 15 วัน,รับประกันของแท้ 100% และการจัดส่งฟรีทั่วไทย
“เราให้ความสำคัญกับการสร้างคอมมิวนิตี้บนโลกออนไลน์ เพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับผู้ใช้ช้อปปี้ในแง่การเข้าถึงและสร้าง engagement กับผู้บริโภคผ่านโซเชียลมีเดีย ร่วมมือกับอินฟลูเอ็นเซอร์ที่มีอิทธิพลต่อผู้บริโภคและใช้กลยุทธ์การตลาดดิจิทัลที่หลากหลาย”
กำลังซื้อยังโตเฉพาะกลุ่ม
นางสาวอากาธากล่าวต่อว่า กำลังซื้อของผู้บริโภคในไตรมาสที่ผ่านมายังเติบโตจากผลวิจัยของ Economic Intelligence Center (EIC) ของธนาคารไทยพาณิชย์ และ TMB Analytics ที่คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปี 2561 ไว้ว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งต่อเนื่อง อย่างน้อย 4% โดยการบริโภคของภาคเอกชนนั้นเป็นตัวฉุดการเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้จากการผลักดันของผู้บริโภคกลุ่มที่มีรายได้สูง
นอกจากนี้ กลยุทธ์สำคัญคือฟังเสียงผู้บริโภคอยู่เสมอ โดยศึกษา และวิจัยข้อมูลเชิงลึกด้านพฤติกรรมผู้บริโภคไทย และเทรนด์ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น ช้อปปี้พบว่าโปรโมชั่นมีส่วนสำคัญในการตัดสินใจซื้อของนักช็อปไทยมากจึงเปิดตัวแคมเปญใหม่เสมอ และโปรโมตผ่านแพลตฟอร์มและช่องทางโซเชียลมีเดีย รวมถึงเฟซบุ๊กไลฟ์กับเซเลบริตี้
aCommerce มั่นใจกำลังซื้อ
นายทอม ศรีวรกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท aCommerce ประเทศไทย ผู้ให้บริการโซลูชั่นอีคอมเมิร์ซ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีทิศทางที่ดีมาก จากการที่อาลีบาบาเพิ่งประกาศลงทุนเพิ่มในลาซาด้าอีก 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ไม่รวมที่ลงทุนไปแล้ว 4,000 ล้านเหรียญ รวมถึงกรณี JD.com จับมือกับเซ็นทรัลกรุ๊ปและกำลังจะเริ่มทำตลาด เช่นกันกับ Shopee ที่รุกหนัก ขณะที่อเมซอนกำลังมองไทยอย่างสนใจ ประกอบกับกำลังซื้อผู้บริโภคไทยยังมีสูง เป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากสิงคโปร์
“อย่างอินโดนีเซียแม้เป็นตลาดใหญ่ แต่ถ้าเทียบรายได้เฉลี่ยต่อหัวแล้วน้อยกว่าไทยครึ่งต่อครึ่ง ข้อมูลล่าสุดที่เรามี มูลค่าการซื้อเฉลี่ยต่อครั้งของนักช็อปในไทยโตต่อเนื่อง จากครึ่งปีหลังปี 2559 อยู่ที่ 721.10 บาทต่อครั้ง ในปี 2560 เฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 747 บาท และ 3 เดือนแรกของปี 2561 อยู่ที่ 849 บาทต่อครั้ง และมีจำนวนซื้อซ้ำบ่อยด้วย”
LINE พร้อมแทรกซึมทุกด้าน
นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริการของ LINE เข้าไปซัพพอร์ตธุรกิจอีคอมเมิร์ซแทบทุกด้าน มีเป้าหมายเพื่อเชื่อมทุกบริการครบวงจร ตั้งแต่การซื้อของผ่าน LINE@ จ่ายผ่าน LINE Pay ส่งของผ่าน LINE MAN และยังมองหาบริการใหม่ ๆ เข้ามาเสริมเพิ่มเติมอีก คาดว่าในปีนี้จะยิ่งเห็นการเติบโตมากขึ้นอีก จากการเข้ามาของรายใหญ่ ซึ่งจะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น ทำให้ตลาดอีคอมเมิร์ซตื่นตัว ด้วยแรงอัดโปรโมชั่นที่แต่ละรายเทเข้ามาเพื่อดึงกลุ่มลูกค้าให้ได้มากขึ้น ดังนั้น LINE ก็จะยิ่งเข้าไปแทรกซึมได้มากที่สุด และพยายามหามุมเล่นที่แตกต่าง
ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการ LINE@ ในไทย 1.8 ล้านบัญชี เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีอยู่ราว 1 ล้านบัญชี ส่วน LINE MAN มีผู้ใช้ 7 แสนรายต่อเดือน มีร้านค้าพันธมิตร 40,000 แห่ง เพิ่มจากปี 2560 ที่มียอดใช้งาน 5 แสนรายต่อเดือน
ตลาดดอทคอมเสริมรายย่อย
นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ กรรมการผู้จัดการและผู้ก่อตั้ง บริษัท ตลาดดอทคอม จำกัด เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้ส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องอย่าง เพย์เมนต์ โลจิสติกส์ โฆษณา การตลาดดิจิทัล แข่งกันรุนแรงทุกธุรกิจ แม้ยักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบา และเจดี.ดอทคอม จะดึงบริษัทลูกเข้ามาให้บริการในไทยด้วย แต่มูลค่าการซื้อขายส่วนใหญ่ยังอยู่ในโซเชียลคอมเมิร์ซมากกว่าครึ่ง ไม่ได้อยู่บนอีมาร์เก็ตเพลซที่ต่างชาติเข้ามาลงทุน บริษัทจึงเห็นโอกาสที่จะเข้าไปซัพพอร์ตรายย่อยด้วยการสร้างเครื่องใหม่ ๆ เพื่ออำนวยความสะดวก ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มโซเชียลคอมเมิร์ซใช้ช่องทางชำระเงินผ่านระบบของเพย์โซลูชั่น บริษัทลูกของตลาดดอตคอม ปีละกว่า 200 ล้านบาท และยังเติบโตได้อีกมาก
“เราจะขยับไปให้บริการครบวงจรกับผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่อย่างสถาบันการเงินที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ทำธุรกิจอีคอมเมิร์ซได้แล้ว เพราะแบงก์ส่วนใหญ่ที่ทำอีคอมเมิร์ซเพราะอยากได้ข้อมูลลูกค้าที่จะบอกไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ ได้ ไม่ได้หวังรายได้จากอีคอมเมิร์ซเป็นหลัก ถ้าจับมือกับตลาดดอตคอม เขาก็จะได้ข้อมูลมากขึ้น ทั้งจากแบงก์, โซเชียลมีเดีย และมาร์เก็ตเพลซ เราก็เริ่มคุยกับหลายเจ้าแล้ว”
DHL เกาะกระแสโต
นายเกียรติชัย พิตรปรีชา กรรมการผู้จัดการ บริษัทดีเอชแอล อีคอมเมิร์ซ ประเทศไทย และภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า อีคอมเมิร์ซไทยยังเป็นตลาดที่น่าสนใจ โตระดับ 20-25% ต่อเนื่องทุกปี และมีแนวโน้มว่าจะโตในอัตรานี้ไปอีก 5-10 ปี ยิ่งปีนี้เชื่อว่าจะโตกว่า 25% จากการเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นของยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ ทั้งอาลีบาบาและเจดี.ดอทคอมที่เริ่มเข้ามาทำตลาดเป็นทางการ ขณะที่สัดส่วนรายได้ของการขายผ่านออนไลน์ยังแค่ 2% ของมูลค่าค้าปลีก ต่างจากในประเทศที่อีคอมเมิร์ซแข็งแรงแล้วจะอยู่ที่ 12-15%การเติบโตของอีคอมเมิร์ซจะผลักดันธุรกิจเกี่ยวเนื่องให้โตอีกมาก อย่างโลจิสติกส์มีการประเมินว่า จะเป็นต้นทุนราว 10% ฉะนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการในธุรกิจเกี่ยวเนื่องต้องปรับตัวคือพัฒนาคุณภาพบริการให้โดนใจผู้บริโภค ให้นึกถึงแบรนด์ของตนเองเป็นลำดับต้น ๆในการเลือกใช้บริการ
“แม้อาลีบาบา และเจดี.ดอทคอม จะมีโลจิสติกส์เอง แต่ที่ผ่านมาอีมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ก็ยังเป็นพันธมิตรกับ DHL e-Commerce อย่างลาซาด้าก็ใช้บริการของเรา ขณะที่กลุ่มผู้ค้ารายย่อยอย่างการขายผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซ บริษัทได้ปรับรูปแบบบริการให้อำนวยความสะดวกกับลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น”
อีเบย์ ชี้โอกาสไทยสู่ตลาดโลก
นายเจสัน ลี กรรมการผู้จัดการอีเบย์ ภาคพื้นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และตะวันออกกลาง กล่าวกับ”ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการวิจัยของบริษัท Accenture ระบุว่ามูลค่าตลาดออนไลน์ที่เน้นการซื้อขายข้ามประเทศ (cross-bordertrade) ทั่วโลก ปี 2560 อยู่ที่ 5.8 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และคาดว่าปีนี้จะขยับมาอยู่ที่ 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ และใน 3 ปีจะแตะ 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเป็นโอกาสของค้าปลีกส่งออกระหว่างประเทศมีแนวโน้มที่ดีมากโดยเฉพาะในแพลตฟอร์มออนไลน์จึงนับเป็นจังหวะที่ผู้ประกอบการไทยควรเร่งพัฒนาศักยภาพเพื่อพลิกโฉมธุรกิจของตนเองสู่ยุคใหม่
“สินค้าที่ผลิตในไทย และเป็นที่ต้องการของตลาดโลก เช่น อะไหล่ยนต์ ทั้งสำหรับรถยนต์, มอเตอร์ไซค์, บิ๊กไบก์, เรือ, รถแทร็กเตอร์ และอุปกรณ์เสริมทุกชนิด โดยแนวโน้มความต้องการของผู้ซื้อบนอีเบย์เน้นอะไหล่ทดแทน เพื่อซ่อมบำรุงมากกว่าอุปกรณ์ตกแต่ง”