หญิงไทย…อย่าหยุดสวย “ตลาดเมกอัพ-บำรุงผิว” โตแรง

เพราะผู้หญิง ไม่เคยหยุดสวย ทำให้ตลาดความงามในไทยที่มีมูลค่า 57,000 ล้านบาทเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ปัจจัยหลักมาจากตลาดความงามไทยเข้าสู่ตลาดที่กำลังพัฒนาและจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับไต้หวัน จีน อินโดนีเซีย นั่นหมายถึง ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองเพิ่มขึ้น

โดยการดูแลผิวหน้าของคนไทยเฉลี่ย 2.52 ขั้นตอน และมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น ประกอบกับรายได้ที่สูงขึ้น อำนาจการซื้อผลิตภัณฑ์ความงามก็มีมากขึ้นตามไปด้วย

“อิษณาติ วุฒิธนากุล” ผู้อำนวยการด้านพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัดผู้ดำเนินธุรกิจด้านการวิจัยพฤติกรรมของผู้บริโภค กล่าวว่า ตลาดความงามปีนี้คาดว่าจะโตขึ้นต่อเนื่องจากปีก่อนที่มีมูลค่า 57,000 ล้านบาทโต 3.8% จากปี 2559

โดย 2 กลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีอัตราการเติบโตสูงสุด คือ ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าที่มีอัตราการเติบโต 4.5% คิดเป็นสัดส่วน 40% ของยอดขายตลาดรวมความงาม ตามด้วยเครื่องสำอางโต 8.7% คิดเป็น 16% ของยอดขายตลาดรวมความงาม

โดยปัจจัยหลักที่ทำให้สินค้าสองกลุ่มนี้เติบโต มาจากการขยายตัวของช่องทางการรับข่าวสาร โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ เปิดกว้างมากขึ้น เกิดกระแสความนิยมการแต่งหน้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีรายได้สูงขึ้น ทำให้คนไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการดูแลผิวหน้าและแต่งหน้ามากขึ้น ซึ่งมีขั้นตอนการดูแลผิวหน้าเฉลี่ย 2.52 ขั้นตอน รองจากจีนที่อยู่ที่ 3 ขั้นตอน และเกาหลีใต้ 7 ขั้นตอน

“กลุ่มคนที่มีอายุ 23-39 ปี เป็นกลุ่มหลักที่ผลักดันให้สินค้าดูแลผิวหน้าและเครื่องสำอางโต โดยมีสัดส่วนถึง 40% ของตลาด ส่วนเซ็กเมนต์ใหญ่ที่ผลักดันให้ภาพรวมตลาดโต คือ กลุ่มแมสแบรนด์ เช่น การ์นิเย่ พอนด์ส เป็นต้น”

ในส่วนช่องทางจำหน่าย “อิษณาติ” กล่าวต่อว่า แม้ตลาดความงามจะโตขึ้น แต่ในแง่ของร้านค้าปลีกเพื่อความงามอาจจะไม่ได้เพิ่มจำนวนขึ้นตามไปด้วย เนื่องจากร้านค้าเหล่านี้มีต้นทุนในการเปิดร้านค่อนข้างสูง ดังนั้น อนาคตคาดว่าร้านค้าปลีกความงามจะจำกัดอยู่เฉพาะกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ในต่างจังหวัดเท่านั้น ขณะที่ช่องทางการขายผ่านช่องทางออนไลน์โดยไม่มีหน้าร้าน จะได้รับความนิยมและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่า

“ตอนนี้ไมโครอินฟลูเอนเซอร์ (micro influencers) กลายเป็นกลุ่มที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าความงามของผู้บริโภค เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนโดยศึกษาข้อมูลจากการอ่านรีวิว การรับข้อมูลข่าวสารจากโซเชียลมีเดียก่อนจะซื้อสินค้าที่หน้าร้าน ซึ่งหลายแบรนด์ได้เปลี่ยนรูปแบบการสื่อสารและโฟกัสที่สื่อออนไลน์มากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มพรีเมี่ยมแบรนด์ ที่เปลี่ยนมาแจกสินค้าตัวอย่างผ่านแฟนเพจของแบรนด์มากกว่าการแจกตัวอย่างสินค้าผ่านพนักงานขาย”

สำหรับแนวโน้มการสื่อสารการตลาดและการพัฒนาสินค้าความงาม เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคนี้ แบ่งออกเป็น 4 เทรนด์หลัก ได้แก่ prevention-ป้องกัน ปัจจุบันผู้บริโภคเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้าเพื่อป้องกันก่อนปัญหาผิวหน้าจะเกิดขึ้น ดูแลตัวเองมากขึ้น ดังนั้นแบรนด์ต้องออกสินค้าที่ตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ impact-สร้างอิมแพ็กต์ ผู้บริโภคต้องการความรวดเร็ว สะดวก ดังนั้นต้องออกสินค้าที่เป็นมัลติฟังก์ชั่น เห็นผลเร็ว เช่น ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหน้า ขาว และดูแลริ้วรอยในขวดเดียว หรือ เห็นผลภายใน 1 สัปดาห์ เป็นต้น

ตามด้วย natural-อ่อนโยน ธรรมชาติ ผู้บริโภคต้องการสินค้าที่มีความอ่อนโยนเป็นธรรมชาติ ทำให้สินค้ากลุ่มสมุนไพรได้รับความนิยมมากขึ้น เช่น ยาสระผมมะกรูด โลชั่นทานาคา เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันอินเตอร์แบรนด์ก็ให้ความสำคัญกับสินค้ากลุ่มนี้ เช่น ซิตร้ามะขามสดและทานาคาเป็นต้น

สุดท้าย trendy-ทันสมัย แบรนด์ต้องมีการปรับตัวปรับแพ็กเกจจิ้งให้ทันสมัย เช่น ศรีจันทร์ที่มีการปรับแพ็กเกจจิ้งให้ทันสมัย ก่อนจะเพิ่มกลุ่มเครื่องสำอางเข้ามาทำตลาด เป็นต้น