สวทช.เปิดตัวนวัตกรรมตรวจแคดเมียมรู้ผลใน 1 นาที

สวทช.เปิดตัวนวัตกรรมตรวจแคดเมียม

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดตัวนวัตกรรมตรวจหาการปนเปื้อนของแคดเมียม, ตะกั่ว, ปรอท และสารหนู ในน้ำและพืชสมุนไพร สามารถรู้ผลใน 1 นาที

วันที่ 11 เมษายน 2567 ขณะที่การพบกากแคดเมียมถูกซุกซ่อนในจุดต่าง ๆ ทั้งในต่างจังหวัดและกรุงเทพฯ อย่างต่อเนื่อง กำลังสร้างความกังวลให้กับทั้งประชาชนและหน่วยงานรัฐว่าอาจเกิดการปนเปื้อนแคดเมียมในดินและน้ำอยู่นั้น ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาอุปกรณ์สำหรับตรวจหาการปนเปื้อนของแคดเมียม, ตะกั่ว, ปรอท และสารหนู ในน้ำและพืชสมุนไพร แบบสามารถรู้ผลได้ในเวลาเพียง 1 นาที

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2567 ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเซ็นเซอร์เคมีไฟฟ้าตรวจวัดโลหะหนัก 4 ชนิด คือ แคดเมียม, ตะกั่ว, ปรอท และสารหนู ในน้ำและพืชสมุนไพร ซึ่งสามารถใช้งานได้ทั้งภาคสนามและในห้องแล็บขนาดเล็ก

โดย ดร.วีรกัญญา มณีประกรณ์ หัวหน้าทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน นาโนเทค สวทช. อธิบายว่า เซ็นเซอร์เคมีไฟฟ้าฯ นี้เป็นเครื่องมือสำหรับวิเคราะห์การปนเปื้อนของโลหะหนัก ได้แก่ แคดเมียม ตะกั่ว ปรอท สารหนู โดยใช้ร่วมกับเครื่องวัดแบบพกพา ตรวจหาการปนเปื้อนได้ทั้งตัวอย่างที่เป็นน้ำ และสมุนไพรด้วยการนำไปคั้นน้ำออกมา สามารถรู้ผลได้ในเวลา 1 นาที

ด้านความแม่นยำนั้น ดร.วีรกัญญาระบุว่า จากการทดสอบใช้เซ็นเซอร์เคมีไฟฟ้าฯ ตรวจวัดตัวอย่างน้ำดิบ น้ำดื่ม และน้ำใช้ มีความแม่นยำสอดคล้องกับผลการตรวจด้วยเครื่องมือมาตรฐานในห้องปฏิบัติการ (ICP-MS) ซึ่งมีราคาแพงและใช้เวลารอผลนานกว่า รวมถึงดีกว่าชุดตรวจที่มีอยู่ในท้องตลาดปัจจุบันที่มีความถูกต้องแม่นยำต่ำ แต่ราคาแพง และต้องใช้เวลาประมาณ 10-30 นาทีจึงแสดงผล

ขณะเดียวกันนี้เซ็นเซอร์เคมีไฟฟ้าฯ ตัวนี้ถูกนำไปใช้งานจริงในหลายพื้นที่ เช่น ตรวจวิเคราะห์น้ำในพื้นที่จริงร่วมกับสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ณ จังหวัดกาฬสินธุ์ และนำไปตรวจวัดน้ำให้กับชุมชนในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น รวมถึงตรวจวิเคราะห์น้ำในโรงเรียนในพื้นที่จังหวัดลำปาง

ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และร่วมกับเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EECi กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่จังหวัดระยอง ฉะเชิงเทรา ชลบุรี นำไปตรวจวิเคราะห์โลหะหนักในพืชสมุนไพร อีกด้วย

ดร.วีรกัญญากล่าวทิ้งท้ายว่า ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติอยู่ระหว่างเสาะหาผู้สนใจนำต้นแบบเทคโนโลยีไปใช้ประโยชน์ เพื่อร่วมทดสอบและประเมินประสิทธิภาพร่วมกัน รวมถึงผู้ร่วมวิจัยเพื่อให้เกิดการพัฒนานวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพเพิ่มสูงขึ้น และภาคเอกชนที่จะร่วมผลักดันไปสู่เชิงพาณิชย์ต่อไป โดยทีมวิจัยเอง มีความร่วมมือกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ หรือเนคเทค สวทช. ในการพัฒนาเครื่องอ่าน และโปรแกรมอ่านผล เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์และแปลผลที่แม่นยำมากขึ้นในอนาคต

“นวัตกรรมดังกล่าว จะเป็นประโยชน์กับชุมชนหรือหน่วยงานที่ดูแลตรวจสอบเรื่องของการปนเปื้อนโลหะหนักในแหล่งน้ำหรือพืชสมุนไพรในพื้นที่นั้น ๆ หรือนำไปใช้ตรวจคัดกรองในกรณีเร่งด่วนเพื่อป้องกันและวางแผนบริหารจัดการส่งแวดล้อมตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ด้าน Green Economy เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน”