จุดสังเกตอาการผิดปกติจากแคดเมียม

แคดเมียม สมุทรสาคร

การพบจุดซุกซ่อนแคดเมียมในหลายพื้นที่รวมถึงในโรงงานแห่งหนึ่งริมแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ผู้คนเริ่มกังวลว่าตนอาจได้รับแคดเมียมโดยไม่รู้ตัว

วันที่ 12 เมษายน 2567 อาการผิดปกติเบื้องต้นจากการได้รับแคดเมียมจะแตกต่างกันในช่องทางต่าง ๆ ที่ได้รับเข้าสู่ร่างกาย เช่น ทางการหายใจ การสัมผัสทางผิวหนัง-ตา ทางการกิน ทั้งโดยตรงและปะปนในอาหาร-น้ำดื่ม ไปจนถึงอาการที่เกิดเมื่อมีแคดเมียมสะสมในร่างกายระดับหนึ่ง

โดยตามข้อมูลของศูนย์พิษวิทยา คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล อาการผิดปกติจากการได้รับแคดเมียมประกอบด้วย

อาการผิดปกติจากการกิน-ดื่มเกลือแคดเมียม

ทำให้เกิดอาการปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ถ่ายอุจจาระเหลว กรณีที่กินในปริมาณมากอาจมีเลือดออกจากทางเดินอาหาร ช็อกและไตวาย

หากได้รับแคดเมียมต่อเนื่องในระยะยาว อาจทำให้เกิดความผิดปกติที่ไต ได้แก่ เกิดการรั่วของโปรตีน น้ำตาล แคลเซียมและฟอสฟอรัสทางปัสสาวะ เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และไตวายเรื้อรัง

อาการผิดปกติจากการสูดดมไอของแคดเมียม

ภายใน 4-24 ชั่วโมงจะเกิดอาการไข้ ไอ หนาวสั่น หายใจมีเสียงวี้ด เจ็บหน้าอก ปวดเมื่อยตามตัว เจ็บคอ ในรายที่รุนแรงอาจมีภาวะปอดอักเสบและระบบทางเดินหายใจล้มเหลว

หากได้รับแคดเมียมต่อเนื่องในระยะยาว อาจทำให้เกิดพังผืดในปอด ถึงลมโป่งพอง และสัมพันธ์กับการก่อมะเร็งอีกด้วย รวมถึงเกิดอาการแบบเดียวกับการได้รับแคดเมียมทางการกิน เช่น เกิดการรั่วของโปรตีน น้ำตาล แคลเซียมและฟอสฟอรัสทางปัสสาวะ เกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะ และไตวายเรื้อรัง

ทั้งนี้แคดเมียมมีจุดเดือดที่ 756 องศาเซลเซียส และจุดหลอมละลาย 321 องศาเซลเซียส ทำให้ผู้ที่เสี่ยงได้รับไอแคดเมียมมักเป็นผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับการเชื่อม หลอม หรือเคลือบวัสดุด้วยแคดเมียม

อาการผิดปกติเมื่อสัมผัสเกลือแคดเมียมทางผิวหนัง ดวงตาและเยื่อบุต่าง ๆ

เกิดอาการระคายเคืองต่อผิวหนัง ตาและเยื่อบุที่สัมผัส

นอกจากนี้การได้รับแคดเมียมต่อเนื่องเป็นเวลานาน ยังทำให้เป็นโรคอิไตอิไต โดยกระดูกคดงอ หักง่ายและมีอาการปวดรุนแรง รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปอด มะเร็งไต และมะเร็งต่อมลูกหมาก

พิษแคดเมียมยังไม่มียารักษา

การรักษาผู้ป่วยจากพิษแคดเมียมนั้น ยังไม่มีการรักษาหรือยาต้านพิษโดยตรง รวมถึงยาที่ใช้ขับโลหะหนักจากร่างกายในปัจุบันยังไม่มีการศึกษายืนยันว่าได้ผลในการรักษาพิษจากแคดเมียม ดังนั้นจึงทำได้เพียงการรักษาแบบประคับประคองเท่านั้น

แพทย์ย้ำตระหนัก แต่อย่าตระหนก

ผศ.นพ.สุชัย สุเทพารักษ์ หัวหน้าสาขาวิชาพิษวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายว่า ประชาชนไม่ควรตื่นตระหนก หรือไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจหาแคดเมียมในร่างกาย เนื่องจากผลกระทบต่อร่างกายจะเกิดเมื่อได้รับแคดเมียมต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน และร่างกายสามารถขับแคดเมียมออกไปได้เองอยู่แล้ว

ดังนั้นสำหรับประชาชนทั่วไปยังไม่ต้องกังวลกับพิษจากแคดเมียม ส่วนประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงจุดที่พบกากแคดเมียมให้ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ