จาก “ราชาเงินผ่อน” บทบาทใหม่…แม่ทัพ “เซ็นกรุ๊ป”

หายหน้าหายตาไปพักใหญ่ หลังจากพ้นตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ซิงเกอร์ ประเทศไทยผู้ให้บริการสินเชื่อเงินผ่อนรายใหญ่

“บุญยง ตันสกุล” ได้คัมแบ็กวงการอีกครั้ง ด้วยบทบาทใหม่ในการเป็นผู้บริหารระดับสูงให้กับเครือร้านอาหาร “เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป” เจ้าของร้านเซ็น เรสเตอร์รอง, อากะ, ออน เดอะ เทเบิล, ตำมั่ว, ลาวญวน, แจ่วฮ้อน ฯลฯ ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งจะมีผลในวันที่ 1 มิ.ย.นี้

จากธุรกิจสินเชื่อ สู่ธุรกิจร้านอาหาร เรียกได้ว่าเป็นธุรกิจคนละประเภทกันเลยทีเดียว ไหนจะเรื่องของคอนเซ็ปต์ กลยุทธ์ต่าง ๆ และที่สำคัญกลุ่มลูกค้าที่ต่างกันอย่างสิ้นเชิง แม้อาหารจะเป็นสิ่งที่ต้องบริโภคประจำวัน แต่บรรดาร้านของเซ็นฯนั้นจับกลุ่มรายได้ตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไป ขณะที่สินเชื่อของซิงเกอร์มุ่งไปที่รากหญ้าเป็นหลัก

ทว่าความต่างกันของโมเดลธุรกิจคงไม่ใช่อุปสรรคสำหรับนักบริหารมือดีคนนี้ “บุญยง” เล่าว่า เขาเองชื่นชอบธุรกิจอาหารเป็นการส่วนตัวอยู่แล้ว ชอบการทานอาหารที่อร่อย ๆ ประกอบกับก่อนหน้านี้ได้เข้ามานั่งอยู่ในบอร์ดเป็นเวลากว่า 2 ปี มีความใกล้ชิดผู้บริหารของเซ็นฯ จึงเป็นทั้งความชอบและความเชื่อมั่นจนได้มาร่วมงานกัน

“บุญยง” ชี้ว่า ทิศทางของเซ็นฯมีความชัดเจนอยู่แล้วว่าต้องการเติบโตไปอย่างไร เขาเพียงแต่มีหน้าที่ขับเคลื่อนองค์กรให้ไปถึงจุดนั้นให้ได้ ภายใต้กลยุทธ์สำคัญ 4 อย่าง นั่นคือ “การสร้างความหลากหลายให้กับธุรกิจ” (diversify) แม้เซ็นฯจะเริ่มต้นจากการเป็นผู้ให้บริการร้านอาหารญี่ปุ่น แต่วันนี้ได้ขยายมายังธุรกิจร้านอาหารไทย รวมทั้งหมดเป็น 13 แบรนด์ (ญี่ปุ่น 6 แบรนด์ ไทย 7 แบรนด์)

และกำลังจะเข้าไปในธุรกิจรีเทล ทำสินค้าออกมาต่อยอดความต้องการของลูกค้า เช่น น้ำปลาร้า แจ่วบอง ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันยังวางขายเพียงแค่ในร้านตำมั่วเท่านั้น แต่เขากำลังจะขยายเข้าไปในช่องทางใหม่ ๆ เช่น โมเดิร์นเทรด ตลาดนักท่องเที่ยว ฯลฯ

และยังมีแผนที่จะซื้อกิจการใหม่ ๆ มาเสริมทัพอย่างต่อเนื่อง “บุญยง” เล่าว่า จากประสบการณ์เมื่ออยู่ซิงเกอร์ เขามีโอกาสเดินทางไปทั่วประเทศ และมองเห็นโอกาสหนึ่งที่คิดว่าน่าสนใจ-มีศักยภาพมาก นั่นก็คือกลุ่ม “ร้านอาหารในตำนาน” ที่เจเนอเรชั่น 2 หรือ 3 ไม่ต้องการจะสานต่อแล้ว เข้ามาอยู่ในพอร์ตโฟลิโอ

กลยุทธ์ต่อมา ต้องให้น้ำหนักกับ “การพัฒนาโมเดลแฟรนไชส์” ทั้งร้านอาหารญี่ปุ่น และร้านอาหารไทย เข้าไปตอบรับความต้องการของผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยในปลายเดือนนี้ ร้านอาหารญี่ปุ่น “ออน เดอะ เทเบิล” กำลังจะไปเปิดสาขาแรกที่กัมพูชา และร้านปิ้งย่างสไตล์ญี่ปุ่น “อากะ” จะเปิดสาขาแรกในเมียนมา ต้นเดือนมิถุนายนนี้

ส่วนในประเทศจะใช้แบรนด์ร้านอาหารอีสาน “ตำมั่ว” และร้านอาหารญี่ปุ่นราคาเข้าถึงง่าย “มุฉะ” เป็นแบรนด์หลักในการผลักดันธุรกิจแฟรนไชส์ และอยู่ระหว่างการพัฒนาไซซ์ที่เล็กลง เพื่อขยายตัวไปกับชุมชน และสังคมโดยรอบ ซึ่งคาดว่าภายใน 5 ปี จะมีสาขาร้านแฟรนไชส์ทุกแบรนด์รวม 500 สาขา จากปัจจุบัน 160 สาขา

นอกจากนี้ เขายังเน้นการ “พัฒนาบุคลากร” เพื่อความเป็นเลิศในการบริการ ให้ร้านของเซ็นฯเป็นร้านอาหารที่ลูกค้ามาแล้วต้องประทับใจ อยู่ในท็อปออฟมายนด์ และการ “พัฒนาเทคโนโลยี” ระบบต่าง ๆ ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มในการเข้าถึงผู้บริโภค ทั้งการใช้บิ๊กดาต้าเข้ามาวิเคราะห์ข้อมูลความต้องการของลูกค้า เพื่อทำตลาดแบบเฉพาะบุคคล การพัฒนาระบบขายหน้าร้านที่ทันสมัย

การจับมือกับพันธมิตร เช่น ไลน์แมน ฟู้ดแพนด้า เพื่อตอบโจทย์ด้านความรวดเร็ว สะดวกสบาย ให้กับลูกค้ายุคปัจจุบัน หรือการใช้ระบบซัพพลายเชนที่ทันสมัย เพื่อเซฟต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารร้าน

“ธุรกิจอาหารไม่มีสูตรสำเร็จ เพราะผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เซ็นฯต้องเข้าใจผู้บริโภค และต้องนำทรัพยากรต่าง ๆ ที่มีไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากที่สุด”

“บุญยง” ระบุว่า เขาเตรียมใช้งบฯลงทุนราว ๆ 500 ล้านบาท เพื่อขยายสาขา พัฒนาแฟรนไชส์ ระบบ ฯลฯ ตามที่วางเอาไว้ โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างรายได้เติบโตอย่างก้าวกระโดด จาก 3,000 ล้านบาทในปัจจุบัน เป็น 10,000 ล้านบาทภายในปี 2565 นั่นหมายความว่าต้องทำให้ทุกปีมีรายได้เติบโตไม่ต่ำกว่า 25% ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายซีอีโอคนใหม่อยู่ไม่น้อย

และภายในสิ้นปีนี้ เขายังเตรียมยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ของเซ็น คอร์ปอเรชั่น ต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อเข้าจดทะเบียน ระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯภายในปี 2562 อีกด้วย

“เซ็นฯ” ภายใต้แม่ทัพใหม่จะเป็นอย่างไรต่อไป ต้องติดตาม