จัดระเบียบใหม่ภาษีเครื่องดื่ม ซอฟต์ดริงก์-แอลกอฮอล์อ่วมหนักยกแผง

“เครื่องดื่ม” ระทึกภาษีใหม่ ดีเดย์ 16 ก.ย. ซอฟต์ดริงก์-แอลกอฮอล์ โดนกันทั่วหน้า คลังจ่อเก็บตามความหวาน 6 ระดับ 6 อัตรา ชูกำลัง น้ำผลไม้ น้ำอัดลม ชาเขียว ไม่รอด “ยูนิ-เพรสซิเดนท์-บิ๊กโคล่า” ชู 3 ซีนารีโอ ปรับสูตร/สินค้าใหม่/ขึ้นราคา ตั้งรับรอบด้าน “ดิอาจิโอ” ลุ้นอัตราใหม่เหล้า-เบียร์ ยังไม่ฟันธงขึ้นราคา แต่ผู้ประกอบการแบกต้นทุนแฝงอื้อ หลังเพดานใบอนุญาตขาย ผลิต นำเข้า สูงปรี๊ด

กระชั้นเข้ามาทุกที กับการบังคับใช้ของ พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ. 2560 ที่จะมีผลในวันที่ 16 กันยายนที่จะถึงการปฏิรูปโครงสร้างภาษีในครั้งนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ทั้งที่มีแอลกอฮอล์ และไม่มีแอลกอฮอล์ในหลากหลายมิติ

ทั้งด้านของ “ฐานราคา” ที่จะนำราคาขายปลีกแนะนำมาคำนวณอัตราภาษีแทนฐานราคาขายส่ง หรือราคาซีไอเอฟของสินค้านำเข้าเดิม “อัตราภาษี” ของกลุ่มเหล้า-เบียร์ ที่ลุ้นกันเหงื่อหยด ว่าจะออกมาเท่าใด ส่วนในกลุ่มเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์เอง ก็ต้องเจอเข้ากับ “ภาษีความหวาน” ที่ถูกจัดเก็บเพิ่มเติมจากกฎหมายเดิม ตามระดับความหวานของสินค้า ซึ่งมีอัตราของภาษีที่ต่างกันตั้งแต่ 10 สตางค์-1 บาท ต่อ 100 มิลลิลิตรเลยทีเดียว

จ่อเก็บตามความหวาน 6 ระดับ

นายสมชาย พูลสวัสดิ์ อธิบดีกรมสรรพสามิต เปิดเผยถึงการที่กระทรวงการคลังเตรียมที่จะเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบกฎกระทรวงฉบับที่ 29 ซึ่งมีเรื่องของภาษีเครื่องดื่ม ที่จะจัดเก็บจากค่าความหวานของน้ำตาลเพิ่มขึ้นมา ถือเป็นอัตราภาษีใหม่ที่ไม่เคยจัดเก็บมาก่อน โดยไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มประเภท น้ำอัดลม น้ำผลไม้ เครื่องดื่มชูกำลัง และชาเขียว หากมีค่าความหวานหรือน้ำตาลมากกว่าที่กฎหมายกำหนด จะต้องเสียภาษีเพิ่ม จากปัจจุบันที่เสียภาษี 20% จากมูลค่าอยู่แล้ว

โดยกรมเสนอให้เก็บตามค่าความหวาน 6 ระดับ คือ 1.ค่าความหวาน 0-6 กรัม ต่อ 100 มล. ไม่เสียภาษี 2.ค่าความหวาน 6-8 กรัม ต่อ 100 มล. เสียภาษี 10 สตางค์ ต่อลิตร 3.ค่าความหวาน 8-10 กรัม ต่อ 100 มล. เสียภาษี 30 สตางค์ ต่อลิตร 4.ค่าความหวาน 10-14 กรัม ต่อ 100 มล. เสียภาษี 50 สตางค์ ต่อลิตร 5.ค่าความหวาน 14-18 กรัม ต่อ 100 มล. เสียภาษี 1 บาท ต่อลิตร 6.ค่าความหวาน 18 กรัม ต่อ 100 มล. ขึ้นไป เสียภาษี 1 บาท ต่อลิตร

อย่างไรก็ตาม การเก็บภาษีตามอัตราดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้จริงในอีก 2 ปี หรือวันที่ 16 กันยายน 2562 เพื่อให้ผู้ประกอบการมีเวลาปรับตัว

ยูนิฟ งัดแผนตั้งรับ

นายทนุ เนาวรัตน์พงษ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูนิ-เพรสซิเดนท์ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายชาพร้อมดื่ม ยูนิฟ ที น้ำผักผลไม้รวม ยูนิฟ ฯลฯ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทมีการหารือถึงแนวทางในการรับมือกับอัตราภาษีความหวานอย่างต่อเนื่อง เบื้องต้นมี 2 แนวทางที่อยู่ระหว่างพิจารณาคือ 1.การออกสินค้าใหม่ สูตรน้ำตาลต่ำ หรือนำสารทดแทนความหวานมาใช้ 2.การปรับราคาสินค้าขึ้น ให้สอดรับกับภาษีที่เปลี่ยนไป

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้ปรับตัวเพื่อรับกับเทรนด์สุขภาพที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัว “สลัดเดย์ บาย ยูนีฟ” น้ำผักผลไม้ 100% และชาพร้อมดื่ม “เดลี่เมท”

“บางส่วนอาจเลี่ยงไม่ได้ที่ต้องปรับขึ้นราคา เช่นน้ำผลไม้ 100% จะทำแบบไม่หวานออกมาก็ไม่ได้ เพราะผู้บริโภคเองก็คงคาดหวังในเรื่องนี้อยู่ คิดง่าย ๆ ว่าถ้าจะไปซื้อส้มที่ตลาด ใครจะอยากได้ส้มแบบไม่หวาน ? เชื่อว่า ภายใต้ต้นทุนภาษีที่เกิดขึ้นของเครื่องดื่มทั้งหมด กลไกตลาดจะต้องผลักราคาให้เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน”

“บิ๊กโคล่า” พร้อมรับมือ

นายภานุวัตร แตงงาม ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท อาเจไทย จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายน้ำอัดลม บิ๊ก, บิ๊กเฟรช เครื่องดื่มชูกำลัง บิ๊กโวลต์ ฯลฯ กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการพูดคุยถึงแผนการรับมือมาตรการทางภาษีดังกล่าว โดยมีหลายซีนารีโอที่เตรียมเอาไว้ แต่ยังไม่มีความชัดเจนที่จะประกาศออกมาได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าผู้ประกอบการส่วนใหญ่มี 3 ทางเลือก คือ การลดความหวานของสูตรเก่า การปรับราคาหรือขนาดลง และการออกสูตรใหม่ที่มีความหวานน้อยลง

“เรายังไม่สามารถบอกได้ว่าจะตัดสินใจออกมาอย่างไร เพราะต้องศึกษาตลาดและการตอบรับของผู้บริโภคให้รอบด้าน หากปรับลดความหวานลงแล้วแบรนด์จะเสียฐานลูกค้าไป คงไม่คุ้มกับการดำเนินธุรกิจ แต่ข้อได้เปรียบของอาเจคือการเป็นบริษัทที่มีความยืดหยุ่นในการบริหาร หากจะต้องคิดสูตรใหม่ก็สามารถทำได้ในระยะเวลา 6 เดือน ขณะที่บริษัทใหญ่ ๆ อาจใช้เวลา 1-1 ปีครึ่ง”

เหล้า-เบียร์ ลุ้นตัวโก่ง

นายธนากร คุปตจิตต์ ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท ดิอาจิโอ โมเอ็ท เฮนเนสซี่ (ประเทศไทย) จำกัด ผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จอห์นนี่ วอล์คเกอร์ สเมอร์นอฟ เบนมอร์ ฯลฯ ระบุว่า โครงสร้างภาษีสุราที่จะถูกจัดเก็บตาม พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับใหม่ ยังคงจัดเก็บ 2 อัตรา แต่เปลี่ยนมาใช้ราคาขายปลีกแนะนำแทนราคาขายส่งช่วงสุดท้าย และเน้นการจัดเก็บตามปริมาณดีกรีแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้น โดยขณะนี้ภาครัฐได้ประกาศเพดานภาษีออกมา แต่ยังไม่ได้กำหนดอัตราที่จะเรียกเก็บจริง ซึ่งคาดว่าอัตราดังกล่าวจะถูกประกาศออกมาในช่วงเย็นของวันที่ 15 กันยายน ก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 16 กันยายน เพื่อป้องกันปัญหาการกักตุนสินค้า

อย่างไรก็ตาม แม้รัฐบาลจะชี้แจงว่าการปรับโครงสร้างภาษีดังกล่าวจะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภค แต่บริษัทในฐานะผู้ประกอบการก็หวั่นเรื่องอัตราใหม่ที่จะออกมา เพราะที่ผ่านมาภาษีสรรพสามิตก็มีการปรับขึ้นทุก 2-3 ปีอยู่แล้ว โดยล่าสุดได้ปรับขึ้นเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา

รวมถึงภาษีที่มีวัตถุประสงค์เฉพาะก็ถูกเรียกเก็บเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีภาษีที่ต้องจ่ายให้กระทรวงมหาดไทย 10% กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 2% องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย 1.5% กองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ 2% รวมเป็น 15.5% และล่าสุดการเรียกเก็บเข้ากองทุนผู้สูงอายุเพิ่มอีก 2% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในต้นปีหน้า

สำหรับการรับมือของบริษัท มีหลายแผนที่กำลังศึกษาเพื่อรองรับในทุกด้าน ทั้งการตลาด การขาย การเงิน ฯลฯ

เพดานใบอนุญาตสูงปรี๊ด

นายธนากรระบุต่อไปอีกว่า พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ยังได้ปรับให้ใบอนุญาตขายสุรา จากเดิม 7 ประเภท เหลือเพียง 2 ประเภท คือ ขายปลีก (ขายครั้งหนึ่งจำนวนต่ำกว่า 10 ลิตร) และขายส่ง (ขายครั้งหนึ่งจำนวนตั้งแต่ 10 ลิตรขึ้นไป) โดยกำหนดเพดานใหม่ คือ 50,000 บาท ต่อปี และ 100,000 บาทต่อปี เพิ่มขึ้นจากเพดานเดิม 10-25 เท่า

นอกจากนี้ใบอนุญาตผลิตและนำเข้า ก็มีการปรับเพดานใหม่ด้วยเช่นกัน จากเดิมใบอนุญาตผลิตมีเพดานภาษีที่ 5,000 บาทต่อปี เป็น 300,000 บาทต่อปี ในอนุญาตนำเข้า จากเพดาน 1,000 บาทต่อปี เป็น 25,000 บาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม ประกาศดังกล่าวยังเป็นเพียงแค่เพดานภาษี ต้องรอดูว่าอัตราที่จะจัดเก็บจริงจะเป็นเท่าไหร่อีกครั้ง ซึ่งหากค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเพิ่มขึ้น ก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้า และนำไปสู่การพิจารณาปรับราคาสินค้าขึ้นในที่สุด

เหล้านำเข้าช้ำหนัก

นายธนากรชี้ว่า ในปีงบประมาณ 2559 (1 ต.ค. 58-30 ก.ย. 59) ตลาดแอลกอฮอล์นำเข้ามีปริมาณรวม 3,088 ล้านลิตร แบ่งเป็นนำเข้า 1.5% และผลิตในประเทศ 98.5% ซึ่งอัตราการเติบโตของกลุ่มนำเข้า หดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มีการประกาศขึ้นภาษีเมื่อปี 2556 ที่ผ่านมา เฉลี่ยกว่า 30%

หากอัตราใหม่ที่ประกาศมีผลต่อโครงสร้างราคาที่สูงขึ้น อาจทำให้ผู้บริโภคเทรดดาวน์ หันไปบริโภคสินค้าที่มีราคาถูก หรือสินค้าหนีภาษีกันมากขึ้น ส่วนภาพรวมในช่วง 8 เดือนที่ผ่านมา ทั้งบริษัทและตลาดแอลกอฮอล์นำเข้า มีการเติบโตที่ลดลงทั้งด้านมูลค่าและปริมาณ