“ประกัน”ร่วมดันคุมค่าบริการรพ. เสนอโมเดลสิงคโปร์-ช่วยลดเบี้ย

สมาคมประกันชีวิตชงโมเดล สิงคโปร์-มาเลเซีย คุมค่ายา รพ.เอกชน ชี้ข้อดีคุมราคา ลูกค้าบริษัทประกันไม่ต้องถูกชาร์จเบี้ยแพง ฟาก รพ.เอกชนออกโรงค้าน ทุบมาร์เก็ตแคป-บั่นทอนจุดแข็ง “เมดิคอลฮับ” พร้อมแจงข้อมูลละเอียดยิบ ฮึ่มเล็งเบนเข็มลงทุนต่างประเทศ “พาณิชย์” เรียกประชุมหารือใหญ่ แต่ยังไร้ข้อสรุป ส่อแววเลื่อนยาว

 

ยังมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่อง สำหรับการกำหนดให้ค่าเวชภัณฑ์ และค่าบริการรักษาพยาบาล และบริการทางการแพทย์ ของโรงพยาบาลเอกชนเป็นสินค้าควบคุม ตามที่คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติตั้งแต่วันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา หลังจากที่มีการร้องเรียนมานานว่า ค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนอยู่ในระดับสูง แต่อีกด้านหนึ่งก็มีเสียงคัดค้านจากฝากฝั่งของ รพ.เอกชน

ประกันชีวิตชงโมเดล ตปท.ใช้

แหล่งข่าวจากสมาคมประกันชีวิตไทยกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สมาคมได้เสนอข้อมูลแนวทางการกำหนดค่ารักษาพยาบาลของประเทศสิงคโปร์ และมาเลเซีย ให้กับนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการพาณิชย์ไปแล้ว เนื่องจากช่วงเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา สมาคมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุมร่วมกับสมาคมประกันชีวิตแห่งอาเซียน และพบว่า รัฐบาลของสิงคโปร์และมาเลเซีย ได้เริ่มเข้ามาดูแลเรื่องค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชน โดยมีการกำหนดหลักเกณฑ์และเพดานขึ้นมาควบคุม ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มสูงขึ้นทุกปี ๆโดยการควบคุมค่าบริการของสิงคโปร์และมาเลเซีย ทางการจะมีรายละเอียดโดยกำหนดว่า โรคประเภทนี้ ค่ายาเท่านี้ ไม่ควรมีการชาร์จเพิ่ม หรือหากมีส่วนเกินก็จะให้บริษัทประกันเข้ามารับผิดชอบ หรือผู้บริโภคต้องร่วมจ่าย หรือโรคบางโรค รพ.ต้องคิดค่ารักษาได้ไม่เกินเท่านี้ ที่เหลือถ้าผู้บริโภคจะรักษาก็ต้องจ่ายเองในราคากลาง เหมือนกับกรณีประกันสังคม ถ้าได้ค่าห้องวันละ 800 บาท แต่ถ้าไปนอนห้องวันละ 2,000 บาท ก็จะต้องจ่ายเพิ่มเอง ซึ่งสิงคโปร์ และมาเลเซีย จะกำหนดมาเป็นอัตรา

“ต่อไปลูกค้าบริษัทประกันก็จะไม่ต้องถูกชาร์จเบี้ยแพงขึ้น คนที่มีสุขภาพแข็งแรง มีการดูแลสุขภาพร่างกาย หรือออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะได้ไม่ต้องมาแบกภาระจ่ายค่าเบี้ยประกันในอัตราเดียวกันกับคนที่เจ็บป่วย ซึ่งถือว่าแฟร์ เพราะหากมีราคากลางออกมาควบคุมก็จะช่วยให้คนกลุ่มนี้ไม่ได้รับผลกระทบจากการถูกชาร์จเบี้ยเพิ่มขึ้น เหมือนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” แหล่งข่าวกล่าว

เอกชนฮึ่ม เบนเข็มลงทุน ตปท.

แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการเป็นห่วงในขณะนี้ก็คือ ราคาหุ้น รพ.ที่ตกลง จะทำให้มาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นลดลง ถึงวันนี้คาดว่ามาร์เก็ตแคปตลาดหุ้นน่าจะหายไปไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท และอีกด้านหนึ่งก็ทำให้การเป็นเมดิคอลฮับที่เป็นจุดแข็งของประเทศถูกบั่นทอนลง เนื่องจากไม่มีใครกล้าจะขยายการลงทุน และในระยะยาว หากลงทุนในประเทศแล้วมีปัญหา หลาย ๆ ค่ายคงหันไปลงทุนในต่างประเทศแทน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน

“เฉพาะเรื่องยา-เวชภัณฑ์ แต่ละ รพ.จะมีอยู่ไม่ต่ำกว่า 5-6 พันรายการ และแต่ละโรงก็จะมีต้นทุนค่ายาที่ไม่เท่ากัน ดังนั้น ในทางปฏิบัติจึงเป็นเรื่องยากและต้องใช้เวลา และยังไม่ทราบว่า คณะอนุกรรมการจะกำหนดรายละเอียดออกมาอย่างไร”

พณ.คุย รพ.ยังไร้ข้อสรุป

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมหารือแนวทางการกำกับดูแลค่ายาและค่ารักษาพยาบาล เมื่อวันที่ 11 ม.ค.ที่ผ่านมาว่า ผู้ประกอบการโรงพยาบาลเอกชนได้ชี้แจง และแสดงข้อมูลการคิดค่าบริการรักษา โดยพบว่าแต่ละโรงพยาบาลมีรูปแบบการให้บริการแก่ผู้ป่วยแตกต่างกัน ค่าบริการที่กำหนดออกมาจึงมีความแตกต่างกัน ซึ่งมีความซันซ้อนทั้งโครงสร้าง หลังจากนี้จะต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ ก่อนที่จะมีการพิจารณาหรือเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเห็นชอบในลำดับถัดไป

“จากที่รับฟังข้อมูลแสดงให้เห็นว่า ค่าบริการที่คิดนั้นมีความหลากหลาย ซับซ้อนกว่าบริการอื่น ๆ ประกอบกับภาคเอกชนเองก็ต้องการความชัดเจนในเรื่องของมาตรการที่จะนำมาใช้ เพราะต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา จึงต้องมีความรอบคอบเพื่อไม่ให้มีผลกระทบกับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่วัตถุประสงค์หลักของกระทรวงพาณิชย์ยังคงต้องการดูแลผู้ป่วย และโรงพยาบาลให้สามารถดำเนินงานไปได้ ส่วนการจะสรุปมาตรการและเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม.เมื่อไร ยังไม่สามารถระบุได้ รอการหารือกันก่อน”

ต่อประเด็นที่มีข่าวว่ามีโรงพยาบาลเอกชนได้มาล็อบบี้เพื่อล้มมาตรการดังกล่าวนั้น นายสนธิรัตน์ตอบว่า ไม่มีใครมาล็อบบี้ให้ถอนมติคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) และตนยังขอยืนยันในการทำหน้าที่และการทำงานเพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่ายทั้งประชาชนและโรงพยาบาลทุกแห่ง

ขณะที่ นพ.พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชนย้ำในเรื่องนี้ว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวทางการควบคุม ยาและเวชภัณฑ์ ค่าบริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ และบริการอื่น ๆ ของสถานพยาบาล เข้ามาอยู่ในบัญชีควบคุม เนื่องจากที่ผ่านมาโรงพยาบาลเอกชนมีมาตรการที่โปร่งใสอยู่แล้ว และมีกระทรวงสาธารณสุขเป็นผู้ควบคุมดูแลอยู่แล้ว มั่นใจได้ว่าการบริการของโรงพยาบาลมีความโปร่งใส

โบรกเกอร์ชี้ไม่มีข้อสรุปง่าย ๆ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากบทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ราคาหุ้นกลุ่ม รพ.ปรับตัวลดลง เกิดจากตลาดตื่นตระหนกเกินเหตุ เนื่องจากยังมีอีกหลายขั้นตอนกว่าจะดำเนินการได้ ทั้งยังมองว่าเป็นเรื่องยากที่การควบคุมราคายา เวชภัณฑ์ดังกล่าว จะแล้วเสร็จได้ภายในรัฐบาลนี้ที่ผ่านมากระทรวงพาณิชย์ได้เพิ่มยาในรายการควบคุมครั้งแรกในปี 2558 เป็นผลให้ รพ.ต้องแสดงราคายา โดยผู้ป่วยมีสิทธิ์ที่จะซื้อยาจากที่อื่นได้ เช่น ร้านขายยา แต่จนปัจจุบันยังไม่เห็นผลกระทบของการควบคุมราคาครั้งเมื่อปี 2558 จึงประเมินว่าความพยายามในครั้งนี้จะจบลงในลักษณะเดียวกัน

ขณะที่บทวิเคราะห์ของบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ประเด็นการควบคุมยา เวชภัณฑ์ และบริการทางการแพทย์ เป็นปัจจัยลบต่อหุ้นกลุ่ม รพ. เพราะอาจส่งผลต่อการเติบโตของรายได้และกำไรโดยตรง จากการประเมินเบื้องต้นพบว่า การลดลงของค่ายาทุก ๆ 5% จะกระทบกำไรสุทธิของ รพ. ราว 5-10% อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามการศึกษาและพิจารณาหาข้อสรุปของคณะอนุกรรมการว่าจะมีหลักเกณฑ์และรูปแบบการควบคุมที่ชัดเจนอย่างไร เนื่องจาก รพ.เอกชนมีหลายระดับ และมีโครงสร้างต้นทุนต่างกัน และต้องใช้เวลาพอสมควร

 

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!