“เนื้อเทียม” มาแรง “เบอร์เกอร์คิง-เนสท์เล่” โดดลุย

คอลัมน์ Market Move

ขณะนี้ “เนื้อเทียม” ซึ่งเป็นโปรตีนที่สกัดจากพืชอย่างถั่วเหลืองและอื่น ๆ เพื่อนำมาประกอบอาหารแทนเนื้อสัตว์ หรือที่ชาวไทยรู้จักกันดีในชื่อโปรตีนเกษตรนั้น กำลังเป็นเทรนด์มาแรงในวงการอาหารและฟาสต์ฟู้ดของสหรัฐและยุโรปในปีนี้

เมื่อเชนฟาสต์ฟู้ดหลายรายไม่ว่าจะเป็น เบอร์เกอร์คิง, คาร์ล จูเนียร์, แมคโดนัลด์, เคเอฟซี และเดล ทาร์โก้ ต่างพร้อมใจกันเพิ่ม-ทดลองขายเมนูจากเนื้อเทียมในสาขาสหรัฐ แคนาดา และบางประเทศในยุโรป รวมถึง “เนสท์เล่” ยักษ์วงการอาหารยังประกาศเตรียมส่งเบอร์เกอร์เนื้อเทียมไปขายในซูเปอร์มาร์เก็ตทั้งสหรัฐและยุโรปในปีนี้เช่นกัน

ทั้งนี้ เป็นผลจากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ชาวอเมริกันและยุโรปหันมาสนใจเนื้อเทียมและผลิตภัณฑ์ทดแทนเนื้อสัตว์กันมากขึ้น เนื่องจากเทรนด์สุขภาพ หลังงานวิจัยหลายชิ้นเชื่อมโยงการบริโภคเนื้อแปรรูปกับความเสี่ยงมะเร็งและโรคหลอดเลือดหัวใจ รวมถึงยังมีความตื่นตัวเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ซึ่งการทำปศุสัตว์โดยเฉพาะฟาร์มวัวมีการปล่อยก๊าซมีเทนที่เป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจกจำนวนมาก

สอดคล้องกับข้อมูลของบริษัทวิจัยยูโรมอร์นิเตอร์ปี 2561 ชาวอเมริกันซื้อเนื้อเทียมรูปแบบต่าง ๆ ไปถึง 698.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 25.6% จากปี 2555 ไปในทิศทางเดียวกับชาวอังกฤษ ที่ใช้เงินมากขึ้น 56.2% เทียบกับปี 2555

ล่าสุดสำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เชนฟาสต์ฟู้ดต่างพยายามชิงตำแหน่งผู้นำเทรนด์ใหม่มาแรงนี้ โดยในวงการเบอร์เกอร์ “เบอร์เกอร์คิง” ได้ประกาศแผนวางขาย “อิมพอสซิเบิล วอปเปอร์” เมนูเบอร์เกอร์จากเนื้อเทียมให้ครบทั้ง 7,300 สาขาทั่วสหรัฐภายในสิ้นปีนี้ หลังการทดลองขายแบบจำกัดสาขาเมื่อวันที่ 1 เม.ย.ได้ผลดีเกินคาด ด้วยจุดขายเนื้อเทียมจาก “อิมพอสซิเบิล ฟู้ดส์” (Impossible Foods) สตาร์ตอัพผู้ผลิตเนื้อเทียมรายใหญ่ ซึ่งออกแบบให้มีรูปลักษณ์ รสสัมผัสและรสชาติเหมือนกับเนื้อจริง แต่มีคอเลสเตอรอลและไขมันน้อยกว่าเนื้อจริง 90% และ 15% ตามลำดับ

ด้าน “เอ แอนด์ ดับบลิว” ที่วางขายเบอร์เกอร์เนื้อเทียมในแคนาดา เมื่อ ก.ย.ปีที่แล้ว และขายดีจนสินค้าหมดสต๊อกและปีนี้เพิ่มเมนูไส้กรอกเนื้อเทียมเพื่อรับดีมานด์ส่วนในเซ็กเมนต์ฟาสต์ฟู้ดอาหารเม็กซิกัน “เดล ทาร์โก้” (Del Taco) ได้ตำแหน่งผู้นำเทรนด์ไปครอง หลังวางขายเมนูเนื้อเทียม “บียอนด์ ทาร์โก้” ใน 580 สาขาทั่วสหรัฐ ตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย.ที่ผ่านมา ตัดหน้า “คิวโดบา” คู่แข่งอีกรายที่เตรียมลอนช์เมนูเนื้อเทียมใน 730 สาขาทั่วประเทศ ปลายเดือน พ.ค.นี้

ขณะที่รายอื่น ๆ ต่างเร่งทดลองเมนูอาหารจากเนื้อเทียมเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น “คาร์ล จูเนียร์” เชนเบอร์เกอร์อีกรายได้จับมือกับ “บียอนด์มีต” (Beyond Meat) เปิดตัวเมนูเบอร์เกอร์เนื้อเทียม “บียอนด์เบอร์เกอร์” และทดลองขายแบบจำกัดสาขามาตั้งแต่ต้นปี

ส่วนรายใหญ่อย่าง “แมคโดนัลด์” ผุดโครงการทดลองขายวีแกนนักเก็ต ซึ่งใช้ส่วนผสมของถั่วชิกพี แครอต มันฝรั่ง ข้าวโพดและอื่น ๆ ทดแทนเนื้อสัตว์ และเบอร์เกอร์มังสวิรัติในประเทศนอร์เวย์ หลังจากทดลองแมควีแกน เบอร์เกอร์สูตรไร้เนื้อสัตว์ในฟินแลนด์ และสวีเดน ไปช่วงปลายปีที่แล้ว และทำยอดขายได้ถึง 1.5 แสนชิ้นในเวลาเพียง 1 เดือน อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนสำหรับตลาดสหรัฐ แม้จะมีการเปิดล่ารายชื่อในเว็บไซต์ Change.org เรียกร้องให้แมคโดนัลด์นำเมนูเนื้อเทียมมาขายในสหรัฐ โดยมีผู้ลงชื่อแล้วกว่า 2 แสนราย

ด้าน “เคเอฟซี” เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างพัฒนาสูตรไก่ทอดมังสวิรัติและเมนูไร้เนื้ออื่น ๆ มีทดลองขายในตลาดสหราชอาณาจักรภายในปี 2562 นี้ โดยเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายลดแคลอรีในเมนูต่าง ๆ ลงให้ได้อย่างน้อย 20%

สำหรับ “เนสท์เล่” เริ่มขาย “อินเครดิเบิล เบอร์เกอร์” เบอร์เกอร์เนื้อเทียมในซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในยุโรป อาทิ เยอรมนี เนเธอร์แลน สวีเดน และอื่น ๆ ตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ก่อนจะปรับสูตรและข้ามมหาสมุทรไปวางขายในตลาดสหรัฐในช่วงปลายปีนี้

อย่างไรก็ตาม ความนิยมที่พุ่งสูงนี้กำลังทำให้เกิดปัญหาด้านกำลังผลิต โดย “อิมพอสซิเบิล ฟู้ดส์” ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงบรรดาคู่ค้าและลูกค้าว่า ช่วง 1-2 เดือนนี้ สินค้าอาจขาดแคลน เนื่องจากกำลังผลิตที่มีอยู่ไม่สามารถรองรับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นได้ และกำลังเร่งรับมือด้วยการเพิ่มชั่วโมงการทำงาน และหาพนักงานกะที่ 3 รวมถึงเพิ่มสายการผลิตใหม่อีก 1 ไลน์ เพื่อให้กำลังผลิตเพิ่มเป็น 2 เท่า

ความเคลื่อนไหวเหล่านี้น่าจะช่วยยืนยันว่า เนื้อเทียมเป็นเทรนด์ใหม่มาแรงในวงการอาหาร ซึ่งต้องรอดูว่าเทรนด์นี้จะขยายตัวไปยังตลาดอื่น ๆ อีกหรือไม่