ส่องพฤติกรรมนักช็อปสายเหนือถึงใต้ กล้าจ่าย พร้อมเพย์…โอกาสใหญ่ธุรกิจ

ท่ามกลางเศรษฐกิจที่เติบโตลดลงต่อเนื่อง ทำให้ภาพรวมสินค้าอุปโภคบริโภคตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เติบโตเฉลี่ยเพียง 1.4% เท่านั้น ขณะที่ปีนี้คาดการณ์ว่าภาพรวมตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคจะโต 4-6% จากการเปิดตัวสินค้าใหม่และค้าปลีกเมืองรองที่เข้ามามีบทบาทต่อธุรกิจนี้มากขึ้น

ความน่าสนใจจังหวัดรองอยู่ที่ฐานประชากรหลัก คือ คนที่มีอายุ 12-39 ปี ซึ่งกล้าลองอะไรใหม่ ๆ พร้อมจ่าย กลายเป็นอีกโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการ

“สมวลี ลิมป์รัชตามร” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า จากรายงาน “เปิดประตูสู่เมืองรอง” โดยศึกษาเฉพาะจังหวัดที่มีประชากร 1-5 ล้านคน และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมจังหวัด คิดเป็น 35% พบว่าไทยมีเมืองรอง 18 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งเมืองรอง จะมีการขยายตัวของสังคมเมืองเพิ่มเป็น 62% เมื่อเทียบกับกรุงเทพฯที่มี 18% ขณะเดียวกัน ประชากรส่วนใหญ่ของเมืองรอง คือ กลุ่มอายุ 12-39 ปี และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็น 77% ของประชากร โดยคนกลุ่มนี้กล้าใช้จ่าย กล้าลองอะไรใหม่ ๆ แม้การเข้าถึงอินเทอร์เน็ตจะเฉลี่ยอยู่ที่ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน ซึ่งน้อยกว่ากรุงเทพฯที่ใช้เวลามากกว่า 7 ชั่วโมงต่อวัน

อีกศักยภาพน่าสนใจ คือ ความสามารถในการดึงเม็ดเงินจากการท่องเที่ยว ซึ่งจากการศึกษาพบว่ารายจ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศที่ใช้จ่ายในเมืองรองสูงถึง 30% ของรายได้นักท่องเที่ยวทั้งหมดที่มีมูลค่าประมาณ 3 ล้านล้านบาท

นั่นหมายถึง เมืองรองกำลังกลายเป็นแรงขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจสำคัญของไทยในอนาคต ประกอบกับอีก 5-10 ปีข้างหน้ารัฐบาลจะมีโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่าง ๆ กระจายเข้าไปในแต่ละจังหวัดรวมไม่ต่ำกว่า 44 โปรเจ็กต์ ทำให้อัตราการจ้างงานก็จะเพิ่มขึ้น เศรษฐกิจในจังหวัดนั้น ๆ ก็จะโตขึ้น

ด้วยแนวโน้มที่เกิดขึ้น กลายเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการค้าปลีกและสินค้าอุปโภคบริโภคที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ขณะที่โจทย์ใหญ่คือจะเจาะเข้าหาผู้บริโภคกลุ่มนี้ได้อย่างไร

“สมวลี” บอกว่า ปัจจุบันนี้ผู้ผลิตสินค้าและค้าปลีกหลายรายให้ความสนใจในการบริหารประเภทสินค้าและความหลากหลายของสินค้ามากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ยอดขายโตได้กว่า 20% ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคแต่ละภาคให้ชัดเจน

“การทำโฆษณา โปรโมชั่น ต้องพิจารณาถึงความแตกต่างของผู้บริโภคแต่ละภาคด้วย เนื่องจากผู้บริโภคต่างกันชัดเจน ดังนั้น การทำกลยุทธ์เดียวแล้วเจาะทุกตลาด คงไม่ได้ผลแล้ว”

ยกตัวอย่างเช่น ภาคเหนือ ชอบซื้อสินค้าที่ออกใหม่ ซื้อไซซ์เล็ก เพราะมีกำลังซื้อน้อย ส่วนภาคใต้ชอบสินค้าพรีเมี่ยม เพราะเป็นเมืองท่องเที่ยว ประชากรมีรายได้สูง หรือภาคกลางที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมเพราะมีคนย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงาน ทำให้สินค้าที่มีนวัตกรรมขายดี เป็นต้น ดังนั้น สิ่งที่ผู้ผลิตต้องทำมากขึ้น คือ การสร้างความแตกต่างทางกลยุทธ์และออกแบบให้เหมาะสมกับภูมิภาคนั้น ๆ เช่น กลุ่มสินค้าพรีเมี่ยมโตได้ดีในภาคใต้ เพราะมีกำลังซื้อสูง ดังนั้น สิ่งที่ผู้ผลิตต้องทำ คือ การตอกย้ำสินค้ากลุ่มนี้ เพียงแต่ต้องใส่ฟังก์ชั่นให้โดดเด่นและชูจุดขายให้ชัดเจนว่า ต่างจากแมสโปรดักต์เพื่อสร้างความแตกต่างให้ผู้บริโภค

สุดท้ายในแง่การเข้าถึงสื่อต่าง ๆ ของผู้บริโภคเมืองรองในแต่ละภูมิภาค พบว่าการเข้าถึงสื่อประเภทต่าง ๆ ที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดยจากข้อมูลแสดงให้เห็นว่า การเข้าถึงสื่อนอกบ้านของผู้บริโภคเมืองรองต่างกัน โดยภาคกลางและภาคเหนือมีการเข้าถึงสื่อนอกบ้านอยู่ที่ 47% ซึ่งน้อยกว่าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมีอัตราการเข้าถึงสูงสุดที่ 68% ขณะเดียวกัน แนวโน้มเวลาอยู่นอกบ้านของคนเมืองรองก็เพิ่มขึ้น ดังนั้น สื่อนอกบ้านต้องพัฒนารูปแบบของสื่อให้สอดรับคนในแต่ละพื้นที่มากขึ้น เพื่อดึงความสนใจ เช่น การทำสื่อนอกบ้านเป็นภาษาท้องถิ่น เป็นต้น


แม้เป็นจังหวัดรอง แต่ในแง่ของยอดขายสินค้ากลับไม่ได้เป็นรองจังหวัดหลัก ๆ เนื่องจากพฤติกรรมเมืองรองเปลี่ยนไป โดยมีไลฟ์สไตล์ใกล้เคียงกับคนจังหวัดหลัก ๆ มากขึ้น กล้าลอง พร้อมจ่าย เพียงแต่สินค้าและธุรกิจค้าปลีกต้องจับพฤติกรรมคนกลุ่มนี้และตอบโจทย์ให้ได้