ช้างชนช้าง เซ็นทรัล VS ทอท. สุดท้ายต้องจบที่ศาล?

เป็นประเด็นที่ร้อนแรงอย่างต่อเนื่องตลอด 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับข้อพิพาทระหว่างโครงการลักเซอรี่เอาต์เล็ตแห่งใหม่ใกล้สนามบินสุวรรณภูมิอย่าง “เซ็นทรัล วิลเลจ” กับ “ทอท.” ในเรื่องของการถือครองกรรมสิทธิ์บนที่ดินด้านหน้าทางเข้า-ออกโครงการ จนกลายเป็นความขัดแย้งที่ลุกลามไปถึงขั้นการนำเต็นท์และแบริเออร์เข้ามาตั้งกีดขวาง ไม่ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ใช้ทางดังกล่าวสู่เรื่องราวการฟ้องร้องต่อศาลปกครองกลางในเวลาต่อมา เดือดร้อน

ถึงนายกรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จนต้องสั่งการให้กระทรวงคมนาคมและกระทรวงมหาดไทยไปตรวจสอบข้อเท็จจริงในการประชุม ครม.เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา โดยยืนยันว่าจะให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย

เรื่องนี้จึงมีทีท่าว่าจะไม่จบลงง่าย ๆ และจะกลายเป็นปัญหาที่คาราคาซังอีกสักระยะ แม้เซ็นทรัล วิลเลจจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 31 สิงหาคมนี้ก็ตาม

ย้อนไทม์ไลน์ข้อพิพาท

หากไล่เรียงไทม์ไลน์ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นระหว่าง “เซ็นทรัล วิลเลจ” โครงการลักเซอรี่เอาต์เลตของบริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอ็น กับทางบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “ทอท.” นั้น มีสัญญาณความไม่ลงรอยมาสักพักใหญ่ ๆ แล้ว

ตั้งแต่ในช่วงเดือนมิถุนายนโดยมีกระแสร้องเรียนการก่อสร้างห้างสรรพสินค้าแห่งนี้ขึ้น โดยอ้างว่าเป็นการสร้างในพื้นที่สีเขียวและรุกล้ำทางน้ำสาธารณะต่อองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) บางโฉลง ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในพื้นที่ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา อบต.บางโฉลงก็ได้ออกมาชี้แจงว่า ห้างดังกล่าวอยู่ในพื้นที่สีเขียวจริง แต่มีข้อยกเว้นให้ก่อสร้างอาคารในพื้นที่แต่ละหลังได้ไม่เกิน 2,000 ตร.ม. ซึ่งโครงการ

ดังกล่าวก็ไม่มีการสร้างเกินจากที่กฎหมายผังเมืองกำหนด รวมถึงไม่ได้รุกล้ำรางสาธารณะแต่อย่างใด และโครงการดังกล่าว อบต.ก็เป็นผู้อนุญาตให้ก่อสร้างจริง

หลังจากนั้น ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ทอท.ได้ทำหนังสือด่วนถึง อบต.บางโฉลงให้ตรวจสอบการก่อสร้างโครงการนี้ ซึ่งทางเข้า-ออกด้านทิศใต้ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่อยู่ใกล้เคียงกับพื้นที่ของราชพัสดุ ซึ่ง ทอท.ได้รับอนุญาตจากกรมธนารักษ์ให้ก่อสร้างและบริหารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และยังได้ขอให้สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เข้าไปตรวจสอบด้วย โดยให้เหตุผลด้านความปลอดภัยทางการบิน อย่างไรก็ตาม ในเวลาต่อมา นายจุฬา สุขมานพ ผอ.กพท. ได้ออกมาชี้แจงว่า ทางผู้รับเหมาของโครงการดังกล่าวได้ยื่นแบบเพื่อขออนุญาตอย่างถูกต้องตั้งแต่ปี 2560 และมีการปรับแบบความสูงของตัวอาคารให้เป็นไปตามมาตรฐานความปลอดภัยแล้ว จึงได้อนุมัติให้ก่อสร้างได้ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ระหว่างนั้นโครงการเซ็นทรัล วิลเลจก็ยังดำเนินการก่อสร้างอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทันกำหนดการที่จะเปิดในปลายเดือนสิงหาคมนี้

ไม่ให้เข้า-ออกพื้นที่

จนกระทั่งเมื่อวันที่ 22 สิงหาคมที่ผ่านมา ความขัดแย้งของทั้งคู่ได้ปะทุขึ้นมาอย่างดุเดือดอีกครั้ง เมื่อทาง ทอท.ได้เข้าไปตั้งเต็นท์และปิดทางเข้า-ออกบริเวณหน้าโครงการ และได้ส่งหนังสือถึงสำนักงานประปาสาขาสุวรรณภูมิ และอธิบดีกรมธนารักษ์ ว่าไม่อนุญาตให้วางท่อประปาผ่านที่ดินราชพัสดุของ ทอท.เข้าไปในโครงการ เนื่องจาก ทอท.ยังไม่อนุญาตให้ใช้พื้นที่ดังกล่าว

หลังจากนั้นสหภาพแรงงาน ทอท.ก็ออกมาเรียกร้องให้ “เซ็นทรัล วิลเลจ” เร่งชี้แจงในหลายประเด็น โดยเฉพาะการตั้งข้อสังเกตว่า การก่อสร้างเอาต์เลตดังกล่าวอาจจะกระทบต่อข้อบังคับต่าง ๆ เช่น พ.ร.บ.การเดินอากาศ พ.ศ. 2497 (ฉบับแก้ไข พ.ศ. 2558) ข้อบังคับคณะกรรมการการบินพลเรือน รวมถึง Standards and Recommended Practices ขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

อีกทั้งยังเข้าข่ายความผิด พ.ร.บ.ผังเมืองในหลาย ๆ ส่วน ทั้งการปลูกสร้างอาคารในพื้นที่สีเขียวที่มีพื้นที่ใช้สอยมากกว่ากฎหมายกำหนด ซึ่งสหภาพแรงงาน ทอท.มีการประชุมวาระพิเศษเร่งด่วนเกี่ยวกับประเด็นนี้ในวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา

ซีพีเอ็นแจงทุกประเด็น

ขณะที่เซ็นทรัล วิลเลจ โดยซีพีเอ็นก็ตั้งโต๊ะชี้แจงความโปร่งใสของโครงการนี้แบบทันควัน (วันที่ 28 ส.ค.) โดย “ปรีชา เอกคุณากูล” กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า พื้นที่โครงการมีการเชื่อมทางเข้า-ออกอย่างถูกต้อง ไม่มีการรุกล้ำที่ดินภาครัฐและพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้เป็นพื้นที่ตาบอด โดยที่ดินนี้ตั้งอยู่บนทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 370 และมีป้ายเริ่มต้นและสิ้นสุดอย่างชัดเจน ซึ่งกรมทางหลวงมีสิทธิครอบครองและมีสิทธิอนุญาตในการให้ใช้ประโยชน์จากทางหลวงแผ่นดิน 370

นอกจากนี้ บริษัทได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมืองอย่างเคร่งครัด ซึ่งโครงการนี้ได้ปฏิบัติตามกฎหมายผังเมือง และได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องในการก่อสร้างในพื้นที่สีเขียวบริเวณ ก.1-10 ไม่เกิน 10% ของที่ดินพื้นที่สีเขียวบริเวณดังกล่าว และไม่ได้มีการขอปรับผังเมืองแต่อย่างใด และบริษัทได้ขออนุญาตก่อสร้างในบริเวณพื้นที่เขตปลอดภัยในการเดินอากาศ จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทยอย่างถูกต้อง

“ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา และช่วง 2 ปีที่มีการก่อสร้างโครงการนี้ก็ไม่ได้ถูกท้วงติงเกี่ยวกับการใช้พื้นที่ดังกล่าวจากหน่วยงานต่าง ๆ แต่อย่างใด จนมาวันที่ 22 ส.ค.ที่ผ่านมาจึงเกิดขึ้นก่อนที่ครงการจะเปิดวันที่ 31 ส.ค.นี้ หลังจากนั้น เวลา 18.40 น.ของวันเดียวกัน กลุ่มซีพีเอ็นก็ได้ส่งจดหมายถึงสื่อมวลชนโดยระบุใจความสำคัญว่ายังเดินหน้าเปิดให้บริการตามแผนเดิม

ซึ่งสอดรับกับ “ปรีชา” ที่กล่าวระหว่างการแถลงข่าววันที่ 28 ส.ค. ว่า แม้ไม่มีคำสั่งศาลออกมา บริษัทก็เตรียมแผนสำรองไว้แล้ว โดยแบ่งเป็น 3 แนวทางหลัก ๆ คือ เดินหน้าฟ้องร้องตามกฎหมาย ตามด้วยการแจ้งความร้องทุกข์กรณีถูกปิดกั้นทางเข้า-ออก และหาช่องทางการเจรจาเพื่อเปิดทางเชื่อมให้บริษัทสามารถเปิดดำเนินการได้ตามกำหนดเดิม (31 ส.ค. 62)

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่านักลงทุนจะไม่ได้ช็อกกับเหตุการณ์นี้มากนัก เพราะราคาหุ้นของ CPN เจ้าของโครงการที่มีปัญหา ยังคงขึ้น-ลงในระดับที่ไม่ผันผวนมากนัก หลังจากเกิดเรื่องขึ้นในวันที่ 22 สิงหาคม ราคาปิดตลาดอยู่ที่ 67.50 บาท จนกระทั่งวันที่ 29 สิงหาคม ราคาปิดอยู่ที่ 65.75 บาท

ขณะที่ฟากฝั่งของ ทอท.ก็ส่งจดหมายเชิญสื่อมวลชนเพื่อชี้แจงสิ่งที่เกิดขึ้นในวันรุ่งขึ้น (29 ส.ค.) ทันทีเช่นกัน

ขนทัพ 150 แบรนด์ดัง

สำหรับโครงการ “เซ็นทรัล วิลเลจ” สร้างขึ้นภายใต้แนวคิด “Bangkok Luxury Outlet” มีพื้นที่รวม 100 ไร่ รวม 40,000 ตร.ม. ด้วยมูลค่าการลงทุนทั้งโครงการรวม 5,000 ล้านบาท และมีร้านค้ากว่า 150 ร้าน พนักงานมากกว่า 1,000 คน โดยจะมีแบรนด์หลากหลาย ทั้งกลุ่มลักเซอรี่แบรนด์ เช่น Club21, Coach, Ermenegildo Zegna, Etro, Kate spade, kenzo, Michael Kors เป็นต้น

และกลุ่มไลฟ์สไตล์แบรนด์ เช่น adidas factory outlet, Aldo, Banana outlet, Calvin Klein, Cath Kidston, Crocs, Max&Co เป็นต้น คาดว่าจะมีผู้เข้ามาใช้บริการเฉลี่ย 20,000 คนต่อวัน สร้างเม็ดเงินสะพัดกว่า 30,000 ล้านบาทต่อปี

และไม่ว่าเหตุการณ์นี้จะจบลงแบบไหน ยืดเยื้อหรือไม่ เพราะนอกจากทางซีพีเอ็นจะขอให้ศาลมีคำสั่งชั่วคราวให้ ทอท.เปิดทางเข้า-ออกโครงการให้ ยังมีเรื่องของการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย ซึ่งไม่น่าจะจบกันง่าย ๆ

สุดท้ายคงต้องรอให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดต่อไป