ยุทธศาสตร์ “ไทยเบฟ” 2025 ทุ่ม 7 พันล้าน เดินหน้าบุกอาเซียน+6 เต็มสูบ

ผ่ายุทธศาสตร์ “ไทยเบฟ 2025” ครองเจ้าตลาด อาเซียน+6 ประกาศเดินหน้าลงทุนอีก 7,000 ล้าน เติมเทคโนโลยี เครื่องจักร บุคลากร เสริมทัพ ก่อนยึดบัลลังก์ผู้นำเบียร์อาเซียนร่วมซาเบคโก้

หลังคว้ามาร์เก็ตแชร์ไว้กว่า 26% พร้อมต่อยอดรุกตลาดเมียนมา หลังเดินเครื่องกำลังผลิตโรงเบียร์ในต่างประเทศแห่งแรก ด้านธุรกิจสุราบุกหนักเหล้าขาว เหล้าสี วอดก้า ส่วนอาหาร-น็อนแอลกอฮอล์ เร่งขยายสาขาเคเอฟซี สตาร์บัคส์ โออิชิ พัฒนาเซ็กเมนต์เพื่อสุขภาพเพิ่ม

ผ่านมาแล้ว 5 ปี หลังจากที่ไทยเบฟเคยวางวิสัยทัศน์ในปี 2020 หรือเป้าหมายในปี 2563 สู่การเป็นผู้นำเครื่องดื่มครบวงจรในอาเซียน ทั้งการเติมรายได้จากแบรนด์พอร์ตโฟลิโอที่มากขึ้น โดยเฉพาะการเติมเต็มจากฝั่งน็อนแอลกอฮอล์ ซึ่งรวมไปถึงเครื่องดื่ม และร้านอาหาร ตลอดจนการขยายตัวไปยังต่างประเทศ โดยเฉพาะอาเซียนที่มีการเติบโตของเศรษฐกิจเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก เช่น เวียดนาม เมียนมา ฯลฯ เพื่อรับโอกาสใหม่ ๆ ที่จะมาสร้างการเติบโตที่ยั่งยืนและแข็งแกร่งกับบริษัทต่อไป

วันนี้จึงถือว่าไทยเบฟกำลังเข้าสู่ปีสุดท้าย หรืออีกเพียง 4 ไตรมาส ของแผนที่ได้วางเอาไว้ ซึ่งเป้าหมายหลายอย่างก็สามารถบรรลุตามทิศทางที่กำหนด แต่ทว่า นี่ยังคงเป็นเพียงก้าวแรก ๆ ในอีกหลาย ๆ ก้าว ที่จะพาไปสู่การเติบโตแบบก้าวกระโดดในเวทีโลกต่อไป

ลุย ASEAN+6

นายฐาปน สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) และผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจเบียร์ระบุว่า ที่ผ่านมาบริษัทได้ดำเนินการตามวิสัยทัศน์ 2020 ที่วางเอาไว้ โดยเฉพาะการก้าวขึ้นเป็นผู้นำเครื่องดื่มครบวงจรในอาเซียน ซึ่งบรรจุเป้าหมายดังกล่าวตั้งแต่ปี 2017 ที่ผ่านมา และเพื่อรักษาการเป็นผู้นำดังกล่าว บริษัทจำเป็นต้องมีแผนธุรกิจในระยะต่อไป ซึ่งเรียกว่า วิสัยทัศน์ 2025 ที่จะช่วยต่อยอดความสำเร็จในช่วงที่ผ่านมา พร้อมกับสร้างการเติบโตทางธุรกิจใหม่ ๆ และการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคดิจิทัล ตลอดจนการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร

สำหรับโอกาสด้านการตลาดที่เกิดขึ้นมองว่า ไม่เพียงแต่อาเซียน ซึ่งมีประชากรรวมกันกว่า 700 ล้านคน ที่จะเป็นคีย์ไดรฟ์ของเศรษฐกิจในภูมิภาค และยอดขายของบริษัทเท่านั้น แต่ยังมองไปถึงโอกาสจากกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย เช่น ASEAN+6 หรืออาเซียน 10 ประเทศ +จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์ และอินเดีย ที่รวมกันแล้วมีประชากรกว่าครึ่งหนึ่งของโลก

โดยที่กลุ่มประเทศที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก ได้แก่ เมียนมา ที่จีดีพีเติบโต 7.4% กัมพูชา 7.2% ลาว 7.1% และเวียดนาม 6.2% รวมแล้วทำให้จีพีดีในอาเซียนมีมูลค่ากว่า 3,094 พันล้านเหรียญสหรัฐ นอกจากนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) คาดการณ์ว่า จีดีพีในประเทศกลุ่มนี้จะเติบโตถึง 54% เป็น 4,579 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2025

อัดฉีดเพิ่มอีก 7 พันล้าน

นายฐาปนระบุต่อไปอีกว่า สำหรับการลงทุนในภาพรวม (CAPEX) ในปีงบประมาณหน้า บริษัทเตรียมไว้ทั้งสิ้นประมาณ 7,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน อัพเกรด ปรับปรุงเครื่องจักร กระบวนการผลิตต่าง ๆ โดยในช่วง 4 ไตรมาสที่เหลือของวิสัยทัศน์ 2020 จะให้ความสำคัญกับการผลักดันเป้าหมายให้เป็นไปตามที่วางเอาไว้ ไม่ว่า

จะเป็น การขึ้นเป็นผู้นำตลาดเบียร์ในประเทศ และการรักษาความเป็นผู้นำในตลาดเบียร์อาเซียน การเพิ่มสัดส่วนรายได้จากต่างประเทศ และน็อนแอลกอฮอล์ ให้เป็น 50% จากปัจจุบันที่มีรายได้จากต่างประเทศประมาณ 30% และน็อนแอลกอฮอล์ประมาณ 20%

อย่างไรก็ตาม สำหรับผลประกอบการของบริษัทในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา (ตุลาคม 2018-มิถุนายน 2019) บริษัทยอดขายรวมอยู่ที่ 205,277 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 18.2% EBITDA เพิ่มขึ้น 21.0% เป็น 36,265 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 21,894 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.1%

เล็งตั้งโรงเบียร์เวียดนาม

นายเอ็ดมอนด์ เนียว รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่, ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มบริหารการลงทุนตราสินค้า บริษัทมี ไทยเบฟฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า เพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การเติบโตในต่างประเทศ ล่าสุดบริษัทได้เดินเครื่องโรงงานผลิตเบียร์ช้าง Emerald Brewery ในสหภาพเมียนมา ผ่านการลงทุนของบริษัทในเครืออย่าง บริษัท เฟรเซอร์และนีฟ จำกัด หรือ F&N โดยมีกำลังการผลิตปีละประมาณ 50 ล้านลิตร เพื่อจัดจำหน่ายทั่วประเทศ นอกจากนี้อยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อจะนำเบียร์ช้างไปผลิตที่เวียดนาม เป็นสเต็ปต่อไป

จากการเข้าไปเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในซาเบคโก้ ผู้ผลิตเบียร์อันดับหนึ่งในเวียดนาม เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา ซึ่งซาเบคโก้มีโรงเบียร์อยู่ทั่วประเทศ 26 แห่ง มีมาร์เก็ตแชร์ 40% เมื่อรวมกับพอร์ตเบียร์ของไทยเบฟ ทำให้บริษัทถือเป็นผู้นำตลาดเบียร์ในภูมิภาค ด้วยมาร์เก็ตแชร์ 26-27%

สำหรับธุรกิจเบียร์ในประเทศไทยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา บริษัทมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราซิงเกิลดิจิต เช่นเดียวกับภาพรวมของตลาด จากปัจจัยบวกอย่างการเลือกตั้ง นโยบายของภาครัฐที่อัดฉีดเงินเข้ารากหญ้า ฯลฯ และในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งเป็นหน้าขายของธุรกิจเบียร์ ได้เปิดตัวเบียร์ “ช้าง 25 ปี โคลด์ บริว ลาเกอร์” จะยังคงเดินหน้าลุยธุรกิจเบียร์และสานต่อกิจกรรมการตลาดและกิจกรรมด้านอื่น ๆ อย่างต่อเนื่อง

ปูพรมวอดก้าคูลอฟ

นายประภากร ทองเทพไพโรจน์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่, ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มธุรกิจสุรา และผู้บริหารสูงสุดกลุ่มบริหารช่องทางการจำหน่าย บริษัท ไทยเบฟฯ เผยว่า สำหรับธุรกิจในประเทศไทย ได้ปรับขวดสุราขาวรวงข้าวในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเปลี่ยนมาใช้ขวดใหม่ที่มีการพิมพ์นูนคำว่า “รวงข้าว” ลงไปบนขวด เพื่อสร้างความเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่นเพิ่มขึ้น ในส่วนของสุราสีหงส์ทอง เตรียมจะเปิดตัวผลิตภัณฑ์ขนาดใหม่ 1 ลิตร ในเดือนตุลาคมนี้

นอกจากนี้ หลังจากบริษัทได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่ภายใต้แบรนด์ KULOV หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบอาร์ทีดี ได้แก่ KULOV Red Blast RTD และ KULOV Vodka ขนาด 700 ml เมื่อปีที่ผ่านมา และพบว่ามีการตอบรับที่ดี จึงเตรียมส่งผลิตภัณฑ์ใหม่ทั้งกลุ่มอาร์ทีดี และวอดก้า ในช่วงปลายปีนี้ ได้แก่ ได้แก่ KULOV Lemon Pop RTD และ KULOV Vodka ขนาด 1 ลิตร

ส่วนตลาดเมียนมา ผลการดำเนินงานของแกรนด์รอยัลกรุ๊ป มียอดขายทะลุ 10 ล้านลัง จากการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการกระจายสินค้าอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันสำหรับตลาดสุราพรีเมี่ยมจากสกอตแลนด์ บริษัท Inver House ได้ทำการปรับโฉมสุราซิงเกิลมอลต์ Balblair ให้มีความทันสมัยและพรีเมี่ยมมากขึ้น

น็อนแอลฯรุกเครื่องดื่มสุขภาพ

นายลี เม็ง ตัท กรรมการผู้อำนวยการ กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ บริษัท ไทยเบฟฯ กล่าวว่า ภาพรวมของธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอลล์มีสัดส่วนอยู่ที่ 20% ของธุรกิจทั้งหมดของไทยเบฟ มีการเติบโตเฉลี่ยอยู่ที่ 42.6% ต่อปี สำหรับแผนของธุรกิจน็อนแอลกอฮอล์จากนี้ไป จะเน้นกลยุทธ์หลัก คือ องค์กรจะเน้นการขายสินค้าเอสเคยูที่มีราคาสูง จำหน่ายผ่านช่องทางที่มีกำไรมากขึ้น ควบคู่ไปกับการออกสินค้าใหม่ ๆ พร้อมเน้นพัฒนาสินค้ากลุ่มสุขภาพ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบัน พร้อมขยายช่องทางการดำเนินธุรกิจ และผลักดันสินค้าออกสู่ตลาดต่างประเทศ

ปัจจุบันการเติบโตของตลาดในไทยเริ่มคงตัว จึงจำเป็นจะต้องหาตลาดใหม่ ๆ โดยรอบแถบอาเซียน ในการลงทุน อีกทั้งเทรนด์ที่กำลังมาแรง คือ ผลิตภัณฑ์สูตรน้ำตาลน้อย หรือไม่มีน้ำตาล เทรนด์เหล่านี้มีการเติบโตมากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงเทรนด์การรักษาสุขภาพของผู้บริโภค ดังนั้นการหาตลาดใหม่ในประเทศเวียดนาม เมียนมา อินโดนีเซีย และลาว จะเป็นตัวช่วยสร้างการเติบโตให้กับธุรกิจ

ธุรกิจร้านอาหารโตไม่หยุด

นางนงนุช บูรณะเศรษฐกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดสายธุรกิจอาหาร บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดร้านอาหารมีแนวโน้มเติบโตขึ้น พร้อมกับต้องเผชิญกับการแข่งขันสูง จากการเข้ามาของผู้ประกอบการรายเล็ก และรายใหญ่ ดังนั้น บริษัทต้องปรับตัวพัฒนาเมนูด้วยนวัตกรรมใหม่ เพื่อตอบรับเทรนด์ความต้องการผู้บริโภครุ่นใหม่

ขณะที่ผลประกอบการ 9 เดือนที่ผ่านมา (ต.ค.-มิ.ย. 2562) กลุ่มธุรกิจอาหารในเครือไทยเบฟมียอดขายเติบโต 24% โดยการเติบโตส่วนใหญ่มาจากการขยายสาขาเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าเป้าหมายอย่างครอบคลุม รวมถึงการพัฒนาเมนู นวัตกรรม และแคมเปญใหม่ ๆ ให้ทันกับพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ซึ่งปีนี้กลุ่มธุรกิจอาหารเปิดสาขาใหม่ไปทั้งหมด 59 สาขา

สำหรับแผนการดำเนินงานในปี 2562 ยังคงเน้นสร้างการเติบโตด้วยกลยุทธ์หลัก ได้แก่ เน้นการทำตลาดด้วยนวัตกรรมความแปลกใหม่ สร้างความน่าสนใจให้กับเมนูอาหาร ควบคู่กับการให้บริการลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัล ชูความสะดวกและรวดเร็ว เพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดดีลิเวอรี่

นอกจากนี้ยังได้เตรียมงบประมาณ 1,100 ล้านบาท เพื่อใช้ขยายสาขาร้านอาหารทั้งเคเอฟซี และร้านอาหารในเครือโออิชิ กรุ๊ป ในหลากหลายโมเดล ทั้งการสร้างแบรนด์ใหม่ การร่วมทุน และการลงทุนในธุรกิจแฟรนไชส์แบรนด์ร้านอาหารชั้นนำทั้งจากในและต่างประเทศ

โดยในปี 2563 ตั้งเป้าขยายสาขาเพิ่มประมาณ 59 สาขา เทียบเท่ากับปี 2562 พร้อมเตรียมรีโนเวตปรับปรุงสาขาร้านอาหารในเครือให้ทันสมัย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของคนรุ่นใหม่ และกลุ่มธุรกิจร้านอาหารของฟู้ดออฟเอเชีย แบ่งเป็น ร้านภายใต้แบรนด์ของตัวเอง อาทิ ฟู้ด สตรีท, โซ อาเซียน คาเฟ่ แอนด์ เรสเตอร์รองท์, ไฮด์ แอนด์ ซีค, หม่านฟู่ หยวน, บ้านสุริยาศัย ร้านที่เป็นการร่วมทุนกับพาร์ตเนอร์ อาทิ เอ็มเอ็กซ์ เค้ก แอนด์ เบเกอรี่, คาเฟ่ ชิลลี่, พอท มินิสทรี, เสื้อใต้ และอีท พอท และร้านที่เป็นแฟรนไชซี ได้แก่ เคเอฟซี อย่างไรก็ตาม บริษัทยังตั้งเป้าการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารให้เติบโต เพื่อก้าวขึ้นสู่ความเป็นผู้นำธุรกิจอาหารอย่างครบวงจรในอาเซียน