“ฟาร์มเฮ้าส์” เพิ่มกำลังผลิต ส่งเวนดิ้งแมชีนเจาะรพ.รับดีมานด์พุ่ง

“ฟาร์มเฮ้าส์” ปรับแผนระยะสั้น รับมือโควิด-19 เพิ่มกำลังผลิตรับความต้องการเพิ่ม พร้อมปูพรมสินค้าเข้าร้านสะดวกซื้อ จับมือไลน์แมนเพิ่มน้ำหนักบุกดีลิเวอรี่ ส่งขนมปังถึงหัวบันไดบ้าน เปิดแผนลอนช์โปรดักต์ใหม่ขยายฐานเจาะกลุ่มคนรักสุขภาพ ส่งขนมปังตระกูลรอยัลเป็นหัวหอก ชูจุดขายความสดใหม่-ราคาเข้าถึงง่าย ตอบโจทย์ ซุ่มเงียบเพิ่มช่องทางขาย ทยอยปูพรมเวนดิ้งแมชีน เจาะโรงพยาบาล-โรงงาน เพิ่มโอกาสการขาย เล็งส่งออกขนมปังบุกเมียนมารับโอกาสโต

นายพัน ใจบุญ ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายขาย บริษัท เพรสซิเดนท์ เบเกอรี่ จำกัด (มหาชน) หรือผู้ผลิตและจัดหน่ายเบเกอรี่ ภายใต้แบรนด์ “ฟาร์มเฮ้าส์” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้ภาพรวมตลาดเบเกอรี่ค้าส่งที่มีมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตชะลอตัวลง นอกจากปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจชะลอตัวและกำลังซื้อผู้บริโภคโดยรวมที่ลดลง บวกกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับอุตสาหกรรมทุกภาคส่วน ส่งผลให้ตลาดมีการแข่งขันสูงขึ้น จากช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่ตลาดเบเกอรี่มีการขยายตัวและเติบโตมากขึ้น จากพฤติกรรมผู้บริโภค โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่ใช้ชีวิตเร่งรีบ และหันมาบริโภคเบเกอรี่เป็นอาหารว่างระหว่างมื้อมากขึ้น โดยมีร้านเบเกอรี่ รวมถึงร้านกาแฟที่มีเบเกอรี่วางจำหน่ายเปิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

เพิ่มกำลังผลิตรับดีมานด์

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในขณะนี้ทำให้ฟาร์มเฮ้าส์ต้องปรับแผนธุรกิจในระยะสั้นเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์และความต้องการสินค้าในปัจจุบัน เริ่มจากการเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าให้ได้ 2 ล้านชิ้นต่อวัน จากเดิมผลิตได้ 1.8 ล้านชิ้นต่อวัน โดยจะเน้นผลิตภัณฑ์ขนมปังพร้อมทาน ขนมปังชนิดแผ่น และแซนด์วิชเค้ก เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกในการรับประทาน โดยจะเน้นกระจายสินค้าผ่านช่องทางร้านสะดวกซื้อเป็นหลักเพื่อให้เข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น พร้อมทั้งขยายการช่องทางจำหน่ายไปยังร้าน

ค้าปลีกดั้งเดิมกว่า 4 หมื่นร้านค้า

Advertisment

นายพันกล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ฟาร์มเฮ้าส์ยังเพิ่มน้ำหนักกับการขายผ่านช่องทางดีลิเวอรี่ เพื่อให้บริการส่งขนมปังถึงบ้าน ด้วยการร่วมกับไลน์แอด ผ่าน “Farmhouseorder” และแอปพลิเคชั่นไลน์แมน โดยมีช่วงเวลาบริการตั้งเเต่ 08.00-15.00 น. ด้วยเมนูที่หลากหลาย อาทิ ขนมปังพร้อมทาน ขนมปังแผ่น ขนมปังรอยัลโฮลวีต ฯลฯ โดยบริการนี้ลูกค้าจะต้องสั่งล่วงหน้า 2 วัน และกำหนดการสั่งขั้นต่ำที่ 150 บาทขึ้นไป เป็นบริการเก็บเงินปลายทางเพื่อสอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกและรวดเร็ว คาดว่าในไตรมาส 2-3 สัดส่วนรายได้จะมาจากช่องทางดีลิเวอรี่มากขึ้น

“ปัจจุบันเรามีหน่วยรถกว่า 1,000 คัน เพื่อจัดส่งและกระจายสินค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคอย่างครอบคลุม ซึ่งในช่วงนี้บริษัทก็ให้ความสำคัญกับในเรื่องของการป้องกันการเฝ้าระวังการแพร่ระบาดตามมาตรฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด ทั้งการตรวจวัดอุณหภูมิพนักงาน และการใช้อุปกรณ์ป้องกันในการขนส่งสินค้า ฯลฯ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับร้านค้าและผู้บริโภค”

ขยายฐานเจาะกลุ่มรักสุขภาพ

นายพันกล่าวต่อว่า สำหรับแผนการดำเนินงานในปีนี้ หลัก ๆ บริษัทยังคงเน้นไปที่เรื่องของพัฒนาผลิตภัณฑ์ และนวัตกรรมใหม่ รวมถึงจุดแข็งที่เป็นเอกลักษณ์ของฟาร์มเฮ้าส์ ได้แก่ ความสดใหม่ ราคาเข้าถึงง่าย เจาะผู้บริโภคทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยช่วงครึ่งปีแรกมีแผนจะลอนช์สินค้าใหม่ออกมาวางตลาดอีก 2-3 รายการ โดยจะเน้นการเพิ่มความหลากหลายและรสชาติที่แปลกใหม่ พร้อมเพิ่มน้ำหนักสินค้าเพื่อสุขภาพมากขึ้น จากเดิมที่ในแต่ละปีจะมีสินค้าใหม่ประมาณ 20 รายการ เหตุผลที่ต้องชะลอไว้ก่อน เนื่องจากปัจจัยในเรื่องของเศรษฐกิจที่อาจจะไม่เอื้ออำนวยนัก และที่ผ่านมาได้ลอนช์ขนมปังตระกูลรอยัล ที่เน้นประโยชน์จากธัญพืช และผลิตภัณฑ์แซนด์วิชโฮลวีต เพื่อขยายฐานลูกค้าที่ใส่ใจสุขภาพ ซึ่งตลาดนี้ยังเป็นตลาดที่เล็กและมีศักยภาพที่จะเติบโตได้อีกมาก จึงมีแผนจะมีสินค้าตระกูลรอยัลเข้ามาทำตลาดเป็นระยะ ๆ รวมทั้งจะมีการปรับเปลี่ยนแพ็กเกจจิ้งให้ดูทันสมัย และเพิ่มป้ายราคาลงบนบรรจุภัณฑ์ให้ชัดเจน

Advertisment

“ขณะเดียวกันก็มีการทำคอนเทนต์การตลาด ที่จะสื่อสารผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่มเป้าหมาย ตลอดจนการจัดแคมเปญส่งเสริมการขาย นำสินค้าที่หลากหลายมาหมุนเวียนจัดโปรโมชั่นลดราคาในช่องทางต่าง ๆ ทุก ๆ เดือน”

รุกขายผ่านเวนดิ้งแมชีน

นายพันยังระบุด้วยว่า จากสภาพตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป บริษัทยังมีนโยบายจะเพิ่มช่องทางจำหน่ายใหม่ ๆ เข้ามาเพื่อเสริมกับช่องทางที่เป็นโมเดิร์นเทรด และเทรดิชั่นนอลเทรดที่มีอยู่เดิม โดยที่ผ่านมาได้เริ่มทดลองนำตู้จำหน่ายขนมปังอัตโนมัติ (Farmhouse Vending Machine) กระจายไปตามจุดต่าง ๆ เน้นวางในพื้นที่ที่มีทราฟฟิกสูง เช่น โรงพยาบาล สถานที่ทำงาน และโรงงาน เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคได้อย่างครอบคลุม โดยหลัก ๆ จะคัดเลือกเฉพาะเมนูขนมปังพร้อมทาน เบอร์เกอร์บัน ฮอตดอกบัน ฯลฯ ราคาเริ่มต้น 10 บาท และได้นำสินค้ารสชาติใหม่ ๆ เข้าไปเติมทุก ๆ วัน เพื่อคงความสดใหม่ และอร่อย โดยปัจจุบันมีประมาณ 40 ตู้ และมีแผนจะทยอยเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา บริษัทได้เพิ่มน้ำหนักในตลาดต่างประเทศ เริ่มจากนำผลิตภัณฑ์เบเกอรี่ ภายใต้แบรนด์ฟาร์มเฮ้าส์ เข้าไปเปิดตลาดที่ประเทศลาว และกัมพูชา ในรูปแบบการส่งออกผ่านตัวแทนจำหน่าย โดยมีไลน์โปรดักต์หลากหลายเหมือนกับในไทย อาทิ ขนมปัง เบเกอรี่ต่าง ๆ โดยปกติแล้วขนมปังฟาร์มเฮ้าส์จะมีอายุในการทาน 4-5 วัน แต่ไม่มีปัญหาในการส่งออก เนื่องจากเรามีจุดแข็ง คือ ความสด ใหม่ ส่งออกวันต่อวัน และมีความพร้อมด้านระบบโลจิสติกส์และศูนย์กระจายสินค้ากว่า 40 แห่ง เพื่อกระจายผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน

“ตลาดเบเกอรี่ในประเทศเพื่อนบ้านยังมีแนวโน้มเติบโตมากขึ้น และเป็นตลาดคู่แข่งยังน้อย และจากนี้มีแผนจะขยายตลาดไปในเมียนมา ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภค” นายพันกล่าว

ปัจจุบันฟาร์มเฮ้าส์แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย ธุรกิจเบเกอรี่ค้าส่ง ซึ่งมีสัดส่วนเป็นรายได้หลัก 90% ตามด้วย เบเกอรี่ค้าปลีก ภายใต้แบรนด์เดลิย่า มาดามมาร์โก้ และกู๊ดมอร์นิ่งฟาร์มเฮ้าส์ ธุรกิจฟาสต์ฟู้ดและร้านอาหาร และธุรกิจส่งออก สำหรับประกอบการในปี 2562 ที่ผ่านมา มีรายได้จากการขาย 7,743 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ที่มีรายได้ 7,495 ล้านบาท โดยปัจจัยหลักเป็นผลมาจากการบริหารการขาย ประกอบกับการทำโฆษณาและรายการส่งเสริมการขาย และผลักดันสินค้าให้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น