ผลไม้อิมพอร์ตต้นทุนขยับ ซิตี้เฟรชฟรุ๊ตปรับเป้าสู้โควิด

ต้นทุนพุ่ง - การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ผู้นำเข้าต้องหันไปส่งสินค้าทางเรือแทน จึงมีต้นทุนเพิ่มขึ้น และผลไม้บางชนิด อาจไม่สามารถนำเข้ามาได้

ตลาดผลไม้อิมพอร์ตโล่ง เผยโควิด-19 กระทบไม่มาก ผลพวงช่องทางจำหน่ายหลัก “ซูเปอร์มาร์เก็ต” ยังเปิดบริการตามปกติ แต่ต้นทุนค่าระวางขนส่งสินค้าเพิ่มเท่าตัว “ซิตี้เท็กซ์ กรุ๊ป” ชี้ 3 เดือนแรกตัวเลขยังดี แต่ไม่มั่นใจสถานการณ์และผลกระทบ เล็งปรับเป้ายอดขายสิ้นปีขอโตแค่ 1,500 ล้าน พร้อมเดินหน้าเพิ่มความหลากหลาย-ช่องทางจำหน่าย ทยอยบุกค้าส่ง-ออนไลน์ เสริมโมเดิร์นเทรด

นายสิทธิศักดิ์ ฉัตรอมรวงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซิตี้ เฟรช ฟรุ๊ต จำกัด บริษัทในเครือซิตี้เท็กซ์ กรุ๊ป ผู้นำเข้าและจำหน่ายผลไม้จากต่างประเทศ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย และมีหลายประเทศที่ประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อลดและป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ช่วงประมาณเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ส่งผลกระทบกับตลาดนำเข้าผลไม้จากต่างประเทศค่อนข้างมาก เนื่องจากสายการบินหลายแห่งได้ลดจำนวนเที่ยวบินลง หรือบางแห่งก็ยกเลิกเที่ยวบินและเหลือไว้เฉพาะการบินขนส่งสินค้า และผู้นำเข้าผลไม้หลาย ๆ รายก็ต้องหันไปใช้การขนส่งสินค้าทางเรือแทน ซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนการดำเนินการที่เพิ่มขึ้น

นอกจากนี้ ผลไม้บางชนิดจากแหล่งผลิตในหลาย ๆ ประเทศ อาจจะไม่สามารถนำเข้ามาจำหน่ายได้ เช่น ผลไม้จากนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ที่ไม่มีไฟลต์ขนส่งสินค้าเข้ามา ผลไม้บางอย่างจึงน้อยลงหรือหายไปจากเชลฟ์ เช่น เชอรี่ สตรอว์เบอรี่ เป็นต้น ต่างจากผลไม้จากสหรัฐอเมริกาไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากยังมีไฟลต์อยู่ และที่เป็นปัญหาคือ ค่าระวางการขนส่งสินค้า (freight) ขึ้นเยอะมาก เช่น การนำเข้าอโวคาโดจากเปรูที่ค่าระวางเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว ทำให้ราคาขายต้องเพิ่มขึ้นจากกล่อง (5-6 กิโลกรัม) ประมาณ 1,500 บาท เป็น 2,000 บาท

“จริง ๆ แล้วแม้จะมีโควิด-19 เกิดขึ้น การนำเข้าผลไม้จากบางประเทศบางแหล่งอาจจะมีอุปสรรคบ้าง แต่เนื่องจากช่องทางจำหน่ายหลักโดยเฉพาะซูเปอร์มาร์เก็ตที่ยังเปิดให้บริการได้ ในแง่ของยอดขายก็จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่ที่อาจจะกระทบบ้างหลัก ๆ จะเป็นการส่งผลไม้จากไทยไปขายในประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากมีการปิดด่านชายแดน”

นายสิทธิศักดิ์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับผลการดำเนินงานของซิตี้ เฟรช ฟรุ๊ต ใน 3 เดือนแรกที่ผ่านมา โดยภาพรวมตัวเลขยังดีและเพิ่งเริ่มเห็นผลกระทบในช่วงเดือนเมษายนนี้ และหลังจากที่รัฐบาล และ (ศบค.) ประกาศมาตรการคลายล็อกเฟส 2 แล้ว ห้างสรรพสินค้ากลับมาเปิดได้ตามปกติ บริษัทมีแผนจะเร่งทำตลาดมากขึ้น ซึ่งปีที่ผ่านมาบริษัทมียอดขายเติบโตมาก คือ 1,500 บาท จากในปี 2561 ที่มียอดเพียง 700 ล้านบาท ส่วนปี 2563 นี้ตอนแรกตั้งเป้าการเติบโตไว้ประมาณ 20% หรือประมาณ 1,800 ล้าน แต่ตอนนี้หลังจากที่มีสถานการณ์โควิด-19 มากระทบ บริษัทอาจจะต้องปรับลดการเติบโตลงเล็กน้อย โดยอาจจะอยู่ที่ระดับ 1,500 ล้าน หรือโตมากกว่านี้เล็กน้อย

นายสิทธิศักดิ์กล่าวต่อไปว่า จากนี้ไปบริษัทจะยังเน้นการเพิ่มความหลากหลายของผลไม้ที่มากขึ้น ปัจจุบันมีผลไม้หลัก ๆ คือ แอปเปิล องุ่น สาลี่ กีวี สตรอว์เบอรี่ อโวคาโด โดยนำเข้าจากกว่า 10 ประเทศ ไม่ว่าจะเป็นจีน เปรู สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แอฟริกาใต้ เวียดนาม อินเดีย เป็นต้น ควบคู่กับการขยายช่องทางจำหน่ายที่จะมุ่งไปที่ค้าส่งหรือโฮลเซลให้มากขึ้น รวมถึงช่องทางออนไลน์หรืออีคอมเมิร์ซที่เป็นช่องทางที่มีศักยภาพและมีโอกาสจะเติบโตได้อีกมาก นอกเหนือจากโมเดิร์นเทรดที่เป็นรายได้หลัก ทั้งเทสโก้ โลตัส เดอะมอลล์ ฟู้ดแลนด์ เป็นต้น

“ยุทธศาสตร์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งที่บริษัทให้ความสำคัญเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ๆ คือ การสร้างแบรนด์ผลไม้ต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยจะมีกิจกรรมการจัดชิม โปรโมชั่นร่วมกับช่องทางขาย รวมถึงการให้ความรู้เรื่องผลไม้เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการขายให้มากขึ้น” นายสิทธิศักดิ์กล่าว