“ซิซซ์เล่อร์”ชะลอลงทุน หันโฟกัสทูโก-ดีลิเวอรี่

ปรับแผน - การลงทุนขยายสาขาต้องชะลอไว้ก่อน จากเดิมที่ตั้งเป้าเปิด 10 แห่ง โดยจะขยายโมเดลรูปแบบคีย์ออสก์ 5-10 แห่งแทน เน้นทำเลรถไฟฟ้าและขนส่งมวลชน

โควิด-19 ทุบตลาดร้านอาหารติดลบลากยาวถึงไตรมาส 3 บวกการแข่งขันสูง เชนเล็ก-ใหญ่กระหน่ำโปรโมชั่นดึงลูกค้า “ซิซซ์เล่อร์” เปิดเกมรุก หันโฟกัสช่องทางขายหน้าร้าน-ดีลิเวอรี่ เพิ่มความถี่ลอนช์เมนูชุดประหยัด ก่อนผุด “ซิซซ์เล่อร์ ทูโก” ปูพรม 10 สาขา โมเดลคีออสก์เจาะทำเลรถไฟฟ้า ชิงลูกค้า พร้อมรัดเข็มขัดค่าใช้จ่าย ชะลอแผนขยายสาขาใหญ่ หันตั้ง “คลาวด์คิทเช่น” หนุนดีลิเวอรี่ตามเป้าเพิ่มสัดส่วน 30% ภายใน 2 ปี

นายกรีฑากร ศิริอัฐ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอส แอล อาร์ ที จำกัด ผู้บริหารเชนร้านอาหารแบรนด์ “ซิซซ์เล่อร์” เปิดเผยว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจร้านอาหารและอาจทำให้ตัวเลขติดลบ ตั้งแต่ไตรมาส 2 และคาดว่าจะลากยาวไปจนถึงไตรมาส 3 โดยปัจจัยหลักมาจากการแบกรับต้นทุนมากขึ้น จากมาตรการความปลอดภัยที่ต้องเข้มงวด เช่น การวัดอุณหภูมิ หน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ ที่ใช้ทำความสะอาด ตลอดจนการจำกัดจำนวนลูกค้าเข้าใช้บริการ ทำให้พื้นที่ขายลดลงกว่า 50% ตามมาตรการการเว้นระยะห่าง (social distancing) ส่งผลให้เชนร้านอาหารทั้งรายเล็กและรายใหญ่ต้องปรับตัวขยายช่องทางขายดีลิเวอรี่ และบริหารจัดการต้นทุน เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นของระบบในร้าน รวมถึงยกระดับความสะอาดของร้านอาหารเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค

ขณะเดียวกัน หลังจากรัฐบาลได้ประกาศคลายล็อกดาวน์เฟส 3 ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคมที่ผ่านมา ธุรกิจร้านอาหารแบรนด์ต่าง ๆ เริ่มทยอยกลับมาเปิดให้บริการ ทำให้เกิดการแข่งขันอย่างดุเดือด โดยหลัก ๆ จะแข่งขันในแง่ของโมเดลร้านใหม่ และการบริการเมนูอาหารที่หลากหลาย ตลอดจนแคมเปญและโปรโมชั่นลดราคา ก็เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกและเพิ่มการตัดสินใจของผู้บริโภค

เช่นเดียวกับซิซซ์เล่อร์ แม้ได้รับผลกระทบจากการปิดสาขาในช่วงโควิด-19 ทำให้หันมาโฟกัสช่องทางขายดีลิเวอรี่ ตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นมา ทำให้มีสัดส่วนยอดขายดีลิเวอรี่เพิ่มขึ้น 10% ของยอดขายทั้งหมด จากเดิมมีสัดส่วนเพียง 5% และจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น มองว่าแนวโน้มการสั่งดีลิเวอรี่ จากนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคยังคุ้นเคยกับการสั่งอาหารตามร้านอาหารผ่านช่องทางดีลิเวอรี่ ที่ตอบโจทย์ความสะดวกและรวดเร็ว โดยบริษัทตั้งเป้ายอดขายดีลิเวอรี่ หรือการทานนอกร้านเพิ่มขึ้น 30% ภายใน 2 ปี

อีกทั้งช่วงสัปดาห์แรกที่กลับมาเปิดให้บริการ ยอดขายไดน์อินเพิ่มขึ้น จากยอดซื้อต่อบิลเพิ่ม 10% ซึ่งเราไม่ได้ขึ้นราคาเมนูอาหาร แต่ยังเพิ่มโปรโมชั่นชุดเมนูราคาประหยัด ทั้งเมนูสเต๊กเนื้อ และสลัดบาร์ราคา 299 บาท รวมถึงสิทธิประโยชน์สำหรับสมาชิก สะสมยอดแลกรับส่วนลด 10% ตั้งแต่วันนี้ยิงยาวไปถึง 30 มิ.ย. และเพิ่มความถี่ในการหมุนเวียนเมนูใหม่ ๆ จากทุก 3 เดือน เป็นทุก 2 เดือน เพื่อเพิ่มทางเลือกและสร้างความจำเจให้กับผู้บริโภค

Advertisment

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าจากพื้นที่ขายที่หายไปกว่า 50% ขณะที่ต้นทุนยังอยู่ในเกณฑ์ที่สูงขึ้นทั้งต้นทุนวัตถุดิบ ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าพื้นที่ ฯลฯ จะส่งผลต่อรายได้ ดังนั้น บริษัทจะต้องบริหารจัดการต้นทุนอย่างรัดกุม และปัจจุบันซิซซ์เล่อร์มีทั้งหมด 57 สาขา ซึ่งกลับมาเปิดให้บริการได้เพียง 40 สาขา หลักจะอยู่ในพื้นที่ห้างสรรพสินค้า ทั้งในกรุงเทพฯ และหัวเมืองหลักในต่างจังหวัด ส่วนอีก 17 สาขายังไม่เปิดให้บริการ เนื่องจากสาขาดังกล่าวอยู่ในย่านที่ทราฟฟิกน้อย ถือว่าไม่อยู่ในจุดที่คุ้มทุน และจากนี้จะเริ่มทยอยเปิดสาขาที่เหลือตามลำดับ

ด้านนางนงชนก สถานานนท์ ผู้ช่วยรองประธานบริหาร กลุ่มการตลาด บริษัท เอส แอล อาร์ ที จำกัด ผู้บริหารเชนร้านอาหารแบรนด์ “ซิซซ์เล่อร์” กล่าวว่า สำหรับแผนการลงทุนขยายสาขาต้องชะลอไว้ก่อนจากเดิมที่ตั้งเป้าจะเปิดสาขาใหม่ 10 แห่ง และจากนี้จะลุยขยายร้านในโมเดล “ซิซซ์เล่อร์ ทูโก” รูปแบบคีออสก์ ขนาด 3 ตารางเมตร โดยจะเน้นขายเมนูสุขภาพเป็นหลัก เช่น แซนด์วิช สลัด ซุปเห็ด และนำผลไม้สกัดเย็น ปัจจุบันเปิดไปแล้ว 3 สาขา ในย่านที่มีทราฟฟิกสูง อาทิ สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอชศาลาแดง สถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ทีอโศก และพระรามเก้า โดยจากนี้มีแผนเปิดเพิ่มอีก 5-10 สาขา จะเน้นเปิดในทำเลรถไฟฟ้าและขนส่งมวลชน เพื่อรับเทรนด์สุขภาพที่กำลังมาแรง และเพิ่มความคล่องตัวในการขยายฐานลูกค้า

นอกจากนี้ยังมีแผนเตรียมเปิดตัว “ซิซซ์เล่อร์ คลาวด์คิทเช่น” โมเดลครัวกลางรูปแบบใหม่ ให้บริการยกครัวของซิซซ์เล่อร์มาไว้ในร้านดีลิเวอรี่ของบริษัทในเครือ รวมกับร้านพิซซ่าคอมปะนีและร้านบอนชอนที่เปิดให้สั่งอาหารในเบอร์เดียว 1112 ซึ่งให้บริการทั้งรูปแบบการสั่งกลับบ้านและดีลิเวอรี่ โดยปัจจัยหลักที่เปิดคลาวด์คิทเช่น เพื่อต้องการรองรับออร์เดอร์ดีลิเวอรี่ ภายในระยะ 3 กิโลเมตร เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคอย่างครอบคลุม

อย่างไรก็ตาม คาดว่าในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ลูกค้าจะค่อย ๆ ทยอยกลับมา เพราะนอกจากความตื่นกลัว ยังมีเรื่องกำลังซื้อที่เป็นปัจจัยหลักในการจับจ่ายอีกด้วย ทำให้บริษัทต้องวางแผนกลยุทธ์ทุกสัปดาห์ เพื่อให้ทันต่อพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของลูกค้าในยุคนิวนอร์มอล

Advertisment