“สมาร์ทโฟน” ป่วนตลาด FMCG สินค้าเร่งปรับตัวรับแข่งขันเดือด

“กันตาร์” คาดกระแสสมาร์ทโฟนทำพฤติกรรมลูกค้าเอฟเอ็มซีจีเปลี่ยน-แข่งขันเดือด แนะแบรนด์ไทย-อาเซียนรื้อกลยุทธ์รับมือ หันเน้นเสิร์ชเอ็นจิ้น-โซเชียล-แอปพลิเคชั่น พร้อมชูประเด็นสุขภาพสร้างความเชื่อมั่น ชิงฐานลูกค้ารับมือการแข่งขัน

นายอิษณาติ วุฒิธนากุล ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท กันตาร์ เวิร์ลดพาแนล (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวว่า สมาร์ทโฟนจะเป็นเครื่องมือที่มีอิทธิพลสูงต่อวงการสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วโลก เนื่องจากทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นการเปรียบเทียบสินค้า-โปรโมชั่นขณะซื้อ เม็ดเงินในการจับจ่ายและความคาดหวังต่อคุณภาพสินค้า รวมถึงบริการของแบรนด์ที่สูงขึ้น เช่นเดียวกับวิธีที่แบรนด์และช่องทางขายจะสื่อสารไปยังลูกค้า

เรื่องนี้เป็นผลจากการที่สมาร์ทโฟนทำให้ผู้บริโภคเข้าถึงข้อมูลสินค้าได้ง่าย พร้อมกับรับสื่อโฆษณาต่าง ๆ ได้มากขึ้น ทั้งผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์ก แอปพลิเคชั่น อีเมล์และอื่น ๆ โดยจากการวิจัยในประเทศจีน พบว่าเม็ดเงินที่ผู้บริโภคกลุ่มนี้ใช้กับสินค้าอุปโภคบริโภคสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ใช้สมาร์ทโฟนถึง 39% สะท้อนถึงศักยภาพ

ในขณะเดียวกันถือเป็นความท้าทาย เนื่องจากผู้บริโภคเอเชียถึง 38% เปรียบเทียบราคา-ข้อมูลสินค้าผ่านสมาร์ทโฟนก่อนซื้อทุกครั้ง โดยโซเชียลเน็ตเวิร์กเป็นสื่อที่มีอิทธิพลสูง เช่นเดียวกับความนิยมช็อปผ่านอีคอมเมิร์ซซึ่งกระทบกับยอดขายของซูเปอร์มาร์เก็ตและไฮเปอร์มาร์เก็ต เนื่องจากสะดวกรวดเร็วและเปรียบเทียบราคาได้ง่ายกว่า ทำให้การแข่งขันราคาและโปรโมชั่นสูงและเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้นทั้งระหว่างแบรนด์และช่องทางขายเพื่อชิงฐานลูกค้า

โดยเทรนด์นี้เริ่มเกิดขึ้นในประเทศที่จำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนสูงอย่าง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ รวมถึงจีน และคาดว่าจะแพร่ขยายมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และไปทั่วโลกตลอดช่วง 2-3 ปีข้างหน้านี้ เช่นเดียวกับเทรนด์อื่น ๆ ก่อนหน้า

“การใช้สมาร์ทโฟนเปรียบเทียบราคาสินค้ามีมานานแล้ว แต่ถือว่าใหม่มากสำหรับเซ็กเมนต์อุปโภคบริโภค แบรนด์และนักการตลาดจึงต้องปรับกลยุทธ์เพื่อรับมือ”

ดังนั้นเพื่อสร้างความได้เปรียบแบรนด์จะต้องหันไปสื่อสารผ่านช่องทางที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจ อาทิ เสิร์ชเอ็นจิ้น, โซเชียลเน็ตเวิร์ก และแอปพลิเคชั่นให้มากขึ้น รวมถึงนำเทคโนโลยี อาทิ ระบบตอบรับข้อความอัตโนมัติ หรือแชตบอต มาใช้ตอบคำถามพื้นฐาน เพื่อเพิ่มความรวดเร็วในการบริการ พร้อมปรับรูปแบบการนำเสนอและเนื้อหา โดยเน้นความใกล้ชิดและเป็นมิตรกับผู้บริโภค เช่น การตอบสนองปัญหาต่าง ๆ อย่างรวดเร็ว-จริงใจ และการสื่อสารที่ชูประเด็นเรื่องสุขภาพและสังคม ตามเทรนด์ที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพและคุณภาพชีวิตเป็นหลัก เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคพร้อมสร้างความเชื่อมั่น