“บิ๊กซี” ปรับแผนสู้โควิด เบรกลงทุนสาขาใหญ่-ลุยไซซ์เล็ก

“บีเจซี” ปรับแผนครึ่งปีหลังสู้พิษโควิค-19 เบรกลงทุน-ลดค่าใช้จ่าย เร่งขยาย “มินิบิ๊กซี” ชิงพื้นที่ค้าปลีกต่างจังหวัด ลุยเพิ่มน้ำหนักช่องทางขายออนไลน์ ชูจุดแข็งเลือกรับสินค้า สะดวกรวดเร็วรับพฤติกรรมคนรุ่นใหม่ พร้อมปรับไลน์ผลิตเครื่องจักร รองรับการผลิต แก้ว กระป๋อง คาดความต้องการโตต่อเนื่อง ตั้งเป้าขยายฐานผลิตครอบคลุมทั่วอาเซียน เชื่อครึ่งปีหลังเห็นสัญญาณบวกเศรษฐกิจ-กำลังซื้อเริ่มฟื้น

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือบีเจซี เปิดเผยว่า จากวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ถือเป็นปีที่ยากลำบากและส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมและธุรกิจโดยรวมค่อนข้างมาก อีกทั้งยังมีปัจจัยลบจากภาวะเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศที่ยังไม่แน่นอน ตลอดจนต้องเผชิญกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ทำให้บริษัทต้องเร่งปรับแผนการดำเนินงานในครึ่งปีหลังนี้

โดยหลัก ๆ จะมีการชะลอการลงทุน และลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในทุกกลุ่มธุรกิจ เพื่อประคับประคองให้บริษัทมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีการบริหารจัดการต้นทุนของระบบโลจิสติกส์ ให้เชื่อมโยงกันกับศูนย์กระจายสินค้าให้มีระบบการจัดการที่มีประสิทธิภาพ จากปัจจุบันบริษัทมีธุรกิจหลากหลาย ประกอบด้วย กลุ่มค้าปลีกสมัยใหม่ บรรจุภัณฑ์ สินค้าอุปโภคบริโภค และกลุ่มเวชภัณฑ์

เดินหน้าขยายสาขามินิบิ๊กซี

ซีอีโอบริษัทบีเจซี ยังกล่าวด้วยว่า พร้อมกันนี้ สิ่งที่ต้องทำต่อจากนี้ไป คือ การเน้นโฟกัสไปที่ธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ มีแผนขยายสาขามินิบิ๊กซี โดยจะเปิดเพิ่มอีก 200-300 สาขา เน้นเปิดในพื้นที่ต่างจังหวัดเพื่อให้เข้าถึงความต้องการของผู้บริโภคได้ทุกพื้นที่ขาย จากปัจจุบันมินิบิ๊กซีมีมากกว่า 1,000 สาขา ส่วนบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ที่เป็นสาขาขนาดใหญ่ ต้องเบรกการลงทุนไว้ก่อน เนื่องจากการเปิดแต่ละครั้งจะต้องใช้งบฯลงทุนสูง ส่วนปัจจัยที่ทำให้เน้นเปิดสาขาไซซ์เล็ก มองว่าในครึ่งปีหลัง มองเห็นสัญญาณบวกจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อจะค่อย ๆ กลับมาฟื้นตัวดีขึ้น

“ในปีนี้ หลังจากผู้บริโภคระมัดระวังในการจับจ่ายมากขึ้น บริษัทจึงต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้บริการของบิ๊กซี ในด้านสินค้าราคาประหยัด การบริการต่าง ๆ และการปรับรูปแบบร้านให้ทันสมัยและมีสินค้าครบทุกรายการ และต่อไปการทำตลาดของบิ๊กซีจะเชื่อมโยงการขายทั้งหมด เช่น การสะสมคะแนนผ่านบัตรสมาชิกบิ๊กการ์ดและบิ๊กวอลเลต ที่สามารถนำมาใช้ในพื้นที่ของบิ๊กซีทุกสาขา และยังใช้เป็นส่วนลดเงินสดในร้านขายยาเพรียว ฟู้ดพาร์ค และร้านกาแฟวาวีได้” นายอัศวินกล่าวและว่า

เช่นเดียวกับกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค แม้ตลาดนี้จะมีการแข่งขันสูง แต่บริษัทยังสามารถสร้างการเติบโตได้ จากกลยุทธ์เพิ่มไลน์สินค้า นวัตกรรมใหม่ ๆ ทั้งด้านของรสชาติและคุณค่าการใช้งานให้หลากหลาย เพื่อกระจายไปยังช่องทางขายให้ครอบคลุม และในส่วนของธุรกิจบรรจุภัณฑ์แก้วและกระป๋อง ปัจจุบันบริษัทมีลูกค้าประจำและในแถบประเทศอาเซียน โดยความต้องการของตลาดนี้มีแนวโน้มเติบโตขึ้นจากยอดขายของผู้ประกอบการกลุ่มเครื่องดื่มรายใหญ่ จึงเตรียมปรับปรุงเครื่องจักรและไลน์การผลิตให้มีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ควบคู่กับการพัฒนาสินค้ารูปแบบใหม่ ๆ

โดยปัจจุบันบริษัทเป็นผู้นำด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์กระป๋องด้วยกำลังการผลิต 5,200 ล้านกระป๋องต่อปี รวมถึงกลุ่มธุรกิจเวชภัณฑ์ ต้องจัดหาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการในตลาด พร้อมการบริการหลังการขาย โดยปัจจุบันบริษัทจำหน่ายสินค้าให้กับโรงพยาบาลรัฐและเอกชน แต่จากนี้นอกจากการเน้นการรักษาฐานลูกค้าเก่าแล้ว อีกด้านหนึ่งก็จะมุ่งหาลูกค้ารายใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น

เข้มขายออนไลน์-ส่งถึงบ้าน

นายอัศวินยังกล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มน้ำหนักช่องทางขายออนไลน์ ที่ผ่านมาบริษัทได้พัฒนาแพลตฟอร์มช็อปปิ้งออนไลน์มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการพัฒนาเว็บไซต์ การเพิ่มบริการออปชั่นใหม่ ๆ ได้แก่ การบริการ Call for Shop, Line for Shop ควบคู่กับนำสินค้าออกมาจำหน่ายด้วยวิธีการไลฟ์สด ผ่านแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก และแอปพลิเคชั่นไลน์ ชูจุดขายการให้บริการเลือกวิธีรับสินค้า ส่งสินค้าถึงบ้าน หรือจะขับรถไปรับที่สาขาใกล้บ้าน ที่เกิดจากการร่วมมือกับแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลซต่าง ๆ รวมถึงบิ๊กซี เฟรช เอ็กซ์เพรส ให้บริการส่งสินค้าอาหารสดกว่า 4,000 รายการ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และการันตีส่งสินค้าภายใน 2 ชั่วโมง

ด้านตลาดต่างประเทศ ปัจจุบันบริษัทได้เข้าไปลงทุนในประเทศเวียดนาม ลาว มาเลเซีย และกัมพูชา และในอนาคตมีแผนจะขยายฐานการผลิตและช่องทางจัดจำหน่ายให้ครอบคลุมในภูมิภาคอาเซียน โดยจะช่วยสร้างการเติบโตและช่วยกระจายความเสี่ยงของการดำเนินงานได้ ตามนโยบายของบริษัทที่ต้องการขยายธุรกิจให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ไปยังปลายน้ำ ให้เชื่อมโยงกันทั้งในและต่างประเทศ และเพื่อรองรับการขยายตัวทางธุรกิจในอนาคต

สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 1/63 มีรายได้ 42,328 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มสินค้าบรรจุภัณฑ์มีรายได้ 5,038 ล้านบาท เติบโตขึ้น 2.9% ซึ่งยังไม่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เนื่องจากบริษัทมีการทำสัญญาสั่งซื้อกับคู่ค้าเป็นรายปี ตามด้วยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค มีรายได้ 5,580 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% โดยสินค้าที่มียอดขายเติบโตขึ้น ได้แก่ กลุ่มสินค้าอุปโภค อาทิ ทิสชู เครื่องใช้ส่วนตัว และผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ที่มีความต้องการมากขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่วนกลุ่มอาหารและขนม มียอดขายลดลงจากการระมัดระวังการจับจ่ายของผู้บริโภค ส่วนกลุ่มสินค้าบริการเวชภัณฑ์และเทคนิค มีรายได้ 1,881 ล้านบาท ลดลง 5.9% สาเหตุหลักมาจากยอดขายที่ลดลงของกลุ่มสินค้าและบริการทางเทคนิค โดยเฉพาะธุรกิจโครงสร้างเหล็กที่ได้รับผลกระทบจากจำนวนโครงการต่าง ๆ ลดลง

ขณะที่กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่มีรายได้ 30,564 ล้านบาท ลดลง 5.9% เนื่องจากธุรกิจค้าปลีกได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ และกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ชะลอตัว จากวิกฤตไวรัสโควิด-19 ทำให้ภาครัฐต้องออกมาตรการล็อกดาวน์เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ส่งผลให้ห้างค้าปลีกต้องจำกัดเวลาเปิดให้บริการ แม้ว่าสามารถเปิดให้บริการได้ แต่ต้องปิดพื้นที่เช่ากลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็น ซึ่งกระทบต่อยอดขายของสินค้า โดยเฉพาะสาขาในไฮเปอร์มาร์เก็ต