เกรียงไกร กาญจนะโภคิน “อีเวนต์กลับมาแล้ว…แต่ไม่เหมือนเดิม”

สัมภาษณ์

ธุรกิจอีเวนต์ที่มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท เป็นหนึ่งในหลาย ๆ ธุรกิจที่ตกอยู่ในสถานการณ์ “ซึมยาว” มาตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 งานใหญ่หลายงานถูกยกเลิก และหลายงานถูกเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด ถึงวันนี้แม้ว่าธุรกิจอีเวนต์จะได้รับการปลดล็อกแล้ว และการจัดงานจะต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์การเว้นระยะห่างทางสังคม และทำให้จำนวนคนที่จะเข้างานถูกจำกัดไปโดยปริยาย

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ “เกรียงไกร กาญจนะโภคิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) บริษัทอีเวนต์รายใหญ่ที่ฉายภาพรวมของธุรกิจอีเวนต์จากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น และทิศทางของธุรกิจต่อจากนี้ไป

Q : อัพเดตสถานการณ์อีเวนต์ล่าสุดเป็นอย่างไร

ตั้งแต่มีการล็อกดาวน์เมื่อช่วงปลายเดือนมีนาคม เรื่อยเลยมาเดือนเมษายน พฤษภาคม ประมาณ 3 เดือนเต็ม ๆ ที่ธุรกิจอีเวนต์ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ หลังจากที่เริ่มคลายล็อกเมื่อกลางเดือนพฤษภาคม จากนั้นผู้ประกอบการก็เริ่มกลับมาเคลื่อนไหว เริ่มมีภาพของการจัดงานที่อยู่ภายใต้มาตรการ new normal

ตอนนี้ในภาพรวมจะเห็นว่า อีเวนต์ต่าง ๆ เริ่มกลับมาแล้ว อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่เริ่มกลับมาไม่ได้ช่วยให้การกลับมาแบบ 100% แต่การจัดงานทำได้เพียง 1 ใน 3 บ้าง 50% บ้าง ขึ้นอยู่กับสเกลของงาน

Q : การปรับตัวของอินเด็กซ์ในช่วงที่ผ่านมา

ช่วงตั้งแต่ล็อกดาวน์ สิ่งที่บริษัทปรับตัวได้ คือ การเริ่มสร้างธุรกิจใหม่ เป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับ hygienic ซึ่งถือว่าประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ภายในแค่ 2-3 เดือนหลังจากเปิดตัวเมื่อ 21 เมษายน ถึงวันนี้เรามีแฟรนไชส์ 25 แฟรนไชส์ ใน 27 เมือง และขยายไปใน 5 ประเทศ ไทย พม่า กัมพูชา ยูเออี ลาว ในนามบริษัท คิวแอนด์คลีน จำกัด ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว และบริษัทยังมีแผนจะขยายธุรกิจนี้ออกไปให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

แน่นอนว่ารายได้จากธุรกิจใหม่ที่มีเข้ามาอาจจะทดแทนกับรายได้หลักจากธุรกิจอีเวนต์ไม่ได้ แต่ก็ดีกว่าไม่ได้ทำอะไรเลย

อย่างไรก็ตาม ทันทีที่รัฐบาลอนุญาตให้ทำคอนเสิร์ตได้ อินเด็กซ์ฯเป็นรายแรกที่ทำไฮบริดคอนเสิร์ต “คืนรอยยิ้ม” (18 กรกฎาคม) โดยใช้โมเดล friendship economy เป็นการเวิร์กกับไอคอนสยาม ศิลปิน ค่ายเพลงต่าง ๆ เพื่อทำคอนเสิร์ตภายใต้มาตรการ new mormal ให้เกิดได้จริง ๆ

ขณะที่คนอื่นทำเป็นแค่ออนไลน์คอนเสิร์ต แต่เราเนี่ยเป็นเจ้าแรกที่ทำไฮบริดคอนเสิร์ต คือมีทั้ง online และ offline และมีคนเข้ามาชมจริง ๆ ด้วย เป็นการสร้างมิติใหม่ของคอนเสิร์ต

จากนั้นก็มีงานในลักษณะนี้เป็นระยะ ๆ ล่าสุดเมื่อวันที่ 21 สิงหาคมที่ผ่านมา เพิ่งมีงาน WAY-T คอนเสิร์ต ครั้งแรกเป็นเจกับติ๊นา ตามด้วย บุรินทร์กับ crescendo และถัดไปจะมีศิลปินวงอื่น ๆ ตามมา

สิ่งที่ต้องการอย่างหนึ่งสำหรับการจัดงานก็คือ การปลุกกระแสให้อุตสาหกรรมอีเวนต์ตื่น เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับทั้งผู้คน สร้างความมั่นใจให้กับศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ซึ่งปกติฮอลล์จัดงานจะจุได้ประมาณ 3,000 คน เราก็ใช้อยู่ได้แค่ประมาณ 700-800 คน เต็มที่

ตอนนี้ยังมีคอนเสิร์ตอีก 2-3 งานที่กำลังคุยกันอยู่ แต่ยังไม่ได้กำหนดวัน

Q :จากฮอลล์ที่จุได้ 3,000 ที่นั่ง แต่ต้องทำภายใต้เงื่อนไขของ ศบค. ที่จัดได้เพียง 700-800 ที่นั่ง ทำได้อย่างไร

ต้องบอกเลยว่า ต้นทุนแพงมาก

Q : ต้องบริหารจัดการยังไงบ้าง

ที่เราทำเป็นโมเดลที่เรียกว่า friendship economy คือ ทุกคนมาเป็นพาร์ตเนอร์กันหมด แล้วกำไรแบ่งกัน ไม่ได้มีค่าตัวอะไร เป็นการปรับตัวของทุกคนใน industry เพื่อให้มันเกิด ที่สำคัญคือ อินเด็กซ์ฯกล้าที่จัดเป็นคนแรก เป็นผู้บุกเบิก

เชื่อว่าครึ่งปีหลังนี้ ใน 4-5 เดือนสุดท้ายของปีนี้ที่เหลืออยู่ ตั้งแต่กันยายน ตุลาคม พฤศจิกายน ธันวาคม น่าจะทำให้ตัวเลขอีเวนต์กลับมาบ้าง หลาย ๆ คนอาจยังไม่เชื่อมั่นเท่าไหร่ แต่เราต้องทำ จริง ๆ ทำคอนเสิร์ตไม่ได้มองผลกำไรเป็นตัวตั้ง แต่มองในแง่ของการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ชม ลูกค้าต่าง ๆ ว่าทุกอย่างมันเกิดขึ้นได้

Q : งานของอินเด็กซ์ฯมีการเลื่อนหรือมีการยกเลิก

มีทั้งเลื่อน มีทั้งยกเลิก อย่างงานที่เป็น international ถูกเลื่อนออกไปทั้งหมด จากข้อจำกัดในเรื่องของสถานที่ เรื่องของการเดินทาง เพราะไม่สามารถที่จะบินเข้ามาได้ หรือแม้กระทั่งงานแฟร์ที่มีแพลนจะจัดตั้งแต่เดือนมิถุนายน-กรกฎาคม ก็ต้องเลื่อนออกไปพฤศจิกายน หรือธันวาคม บางงานก็เลื่อนไปเป็นปีหน้า รวมถึง World Expo ต้องเลื่อนไปเป็น 1 ตุลาคม ปีหน้า

ตอนนี้ก็มีการพูดคุยกับลูกค้าเป็นระยะ ๆ ทุกคนก็ wait & see เพราะการจะบินข้ามประเทศยังไม่เกิดขึ้น รวมทั้งเงื่อนไขที่จะต้องมีการกักกันตัว 14 วัน

Q : จากนี้ไปมีอีเวนต์ที่จะจัดเหลืออยู่มากน้อยแค่ไหนในปีนี้

ตอนนี้มีอีเวนต์ที่จะจัดเริ่มกลับมา แต่อย่างที่เรียนว่า สเกลจะลดลง 50% 60% จากเดิมที่เคยมี และก็มีอยู่ใน back log อีกจำนวนหนึ่งซึ่งไม่มากนัก จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เราต้อง diversify ไปทำอย่างอื่นเพิ่มขึ้น

นอกจากธุรกิจ คิว&คลีน ที่เป็นธุรกิจใหม่แล้ว ไฮบริดคอนเสิร์ต ก็จะเป็นแอเรียใหม่ของอินเด็กซ์ฯ

นอกจากนี้ยังจะมีการไลฟ์สดประมูลสินค้าออนไลน์ “คืนปล่อยของ” ซึ่งเพิ่งเริ่มมาได้ประมาณ 1 เดือน และกำลังปรับรูปแบบและจะขยายฐานให้ว้างขึ้น

สินค้าก็มาจากพาร์ตเนอร์ต่าง ๆ ที่ทุกคนก็มีปัญหาเหมือนกันหมด ก็คือขายของไม่ได้ ของอยู่ในสต๊อกหรืออะไรต่าง ๆ เอามา แล้วอินเด็กซ์ฯเป็นสื่อกลางให้

Q : การจัดงานต่าง ๆ ที่เริ่มกลับมาจะช่วยให้ในแง่ของรายได้ดีขึ้นมากน้อยเพียงใด

เอาเข้าจริง ๆ หากเทียบกับปีที่แล้ว ต้องบอกว่าตัวเลขขยับเพียงนิดหน่อยเท่านั้น เพราะอีเวนต์เพิ่งเริ่มกลับมา และยังมีเวลาอีก 5 เดือน แต่บริษัทจะต้องปรับตัว อย่าลืมว่าตอนนี้อีเวนต์ใหญ่ ๆ เช่น งานมอเตอร์โชว์ งานบ้านและสวนแฟร์ อะไรพวกนี้กลับมาหมดแล้ว จากนั้นก็จะมีอีเวนต์อื่น ๆ ทยอยตามมา บริษัทยังมองบวก ทุกอย่างจนถึงสิ้นปีจะดีขึ้น

รวม ๆ แล้วที่ผ่านมา อินเด็กซ์ฯตัวเลขหายไปสักประมาณ 50% แต่ก็น่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะตัวเลขจาก own project ที่เป็นไดเร็กชั่นของบริษัท

นอกจากนี้ แนวทางที่บริษัทวางไว้อีกอย่างหนึ่งก็คือ จะขยายธุรกิจ own project เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะคิวแอนด์คลีน ที่ปีนี้คาดว่าจะได้เห็นสัดส่วนมากเรื่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ และยังเป็นธุรกิจที่มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี

หรือในส่วนของการจัดงานวิ่ง KILORUN ที่หยุดไป ญี่ปุ่นเค้าก็อยากให้กลับไป หรือที่สิงคโปร์ก็ยังอยู่ในแพลนของปีนี้ ก็คงต้องหยุดไปก่อน แต่อาจจะจัดในประเทศและกำลังคุยกันและอยู่ในช่วงที่วางแผน รวมทั้งงานไฮบริดคอนเสิร์ตและการประมูลสินค้าออนไลน์

Q : ในแง่ของมูลค่าตลาดรวมตลาดอีเวนต์น่าจะหายไปจำนวนหนึ่งเลยทีเดียว

ปีที่แล้วตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 13,000 ล้านบาท เฉพาะอีเวนต์ ไม่รวมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ ไม่รวมคอนเสิร์ต แต่ถ้ารวมทุกอย่างทั้งคอนเสิร์ต แฟร์ งาน exhibition ตัวเลขน่าจะประมาณ 3 แสนกว่าล้าน

ปีนี้น่าจะออกมาติดลบ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ไป 5 เดือนสุดท้าย คงจะค่อย ๆ ขยับตัวดีขึ้น แต่ก็คงไม่กลับมาเหมือนเดิม เพราะว่าช่วงเวลาที่หายไป 3-4 เดือน หลายงานถูกเลื่อนออกไปแบบไม่มีกำหนด

โดยส่วนตัวประเมินว่า กลับมาได้เต็มที่สัก 40-50% ของปีที่แล้วก็แจ๋วแล้ว

อีเวนต์จะไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิม อย่างน้อย ๆ อีก 1 ปี จากนี้ไปเราจะไม่มีงานคอนเสิร์ต EDM ที่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาร่วมงานเป็นจำนวนมาก เป็นต้น ทุกอย่างจะหายไปหมด

เพราะฉะนั้น การที่ยังคิดว่ามันจะกลับมา อาจจะไม่มีลมหายใจอยู่แล้ว ทุกคนพูดเหมือนกันหมดว่าปีหน้าอีก 1 ปี ยิ่งอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เขาคุยกัน 3 ปี สายการบิน 3 ปีกว่าจะกลับมา การที่เรายังมีความหวังในธุรกิจเดิม ๆ ผมว่ามันจะอยู่ไม่รอด

และสิ่งที่ต้องปรับตัว คือ ปรับเข้าไปสู่ธุรกิจที่เข้าถึงโลกปัจจุบัน สิ่งที่อยากฝากคือ การปรับ พูดง่าย ๆ ถ้าคิดอยากจะ survive ใช้คำว่า ปรับตัวเอง ไม่น่าจะพอ ต้องเปลี่ยนตัวเอง